บทความโดย ดร.นณณ์ ผานิตวงศ์ จากกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ตัวเลขปริมาณน้ำที่ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” ให้ข่าว
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้ฟังอภิปราย จึงขออ้างอิงจากแหล่งข่าวที่คิดว่าน่าเชื่อถือได้ คือ หน้าเว็บข่าวของ โพสต์ทูเดย์ ซึ่งปรากฏในวันที่ 24 กันยายน 2556 เวลา 19.16 น. ตามลิงค์นี้ครับ
ส่วนหนึ่งของท่อนข่าว คือที่ผมตัดมาตรงนี้
“นายปลอดประสพกล่าวต่อว่า เหตุที่ต้องป้องกันน้ำท่วม เพราะแม่น้ำสะแกกรังที่ออกมาจากแม่วงก์ ไม่มีส่วนควบคุม ในรอบปีจะมีน้ำหลากอยู่เต็มที่ประมาณ 3 เดือน จุดพีคอยู่ที่ 800 คิวเสก โดยช่วงที่ 800 คิวเสกจะเป็นช่วงที่น้ำหลากมาที่ จ.นครสวรรค์ ปี 2554 ที่ผ่านมามีน้ำประมาณ 4 พันคิวเสก เมื่อบวกกับ 800 คิวเสก ทำให้เขื่อนชัยนาทไม่สามารถบริหารจัดการได้ จึงจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือต้นน้ำ เพื่อระงับน้ำ 800 คิวเสกดังกล่าว เพื่อป้องกันการสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทางชีวิตและทรัพย์สิน”
ซึ่งจะเห็นว่านายปลอดประสพ ได้อ้างถึงปริมาณน้ำหลากสูงสุดของลุ่มน้ำแม่วงก์ที่ 800 คิวเสก (ลูกบาศก์เมตร ต่อ วินาที) ด้วยความสงสัย ก็เลยลองไล่ดูว่าตัวเลข 800 คิวเสก ที่อ้างถึงมาจากไหน ก็พบตัวเลขที่ใกล้เคียงที่สุด เป็นอัตราการไหลของลำน้ำแม่วงก์ที่บริเวณสถานีวัดที่บ้านปางมะค่า (ดูภาพประกอบ สีเขียวขวาสุด) ซึ่งมีปริมาณน้ำหลากสูงสุดอยู่ที่ 787 คิวเสก ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่มีการอ้างถึง จะเห็นว่าสถานีนี้ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเขาชนกัน (เขาชนกัน ก็คือที่เห็นเป็นแนวสีเขียวๆวิ่งตามแนวเหนือใต้นะครับ มันจะมีช่องตรงกลางให้น้ำแม่วงก์ไหลผ่าน) ซึ่งน้ำในบริเวณนี้จะไหลจากเหนือเฉียงลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ตามแนวลูกศรชี้จึงจะเห็นได้ว่าน้ำในบริเวณสถานีบ้านปางมะค่า นั้นได้รับน้ำมาจากทุ่งน้ำหลากทั้งทางด้านตะวันตกและออกของเขาชนกันด้วย
ทีนี้ถ้าลองมาดูสถานีก่อนหน้านั้น คือสถานีบ้านหินดาด (หมุดสีเหลืองตรงกลาง) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเขาชนกัน สถานีนี้ได้รับน้ำหลากจากทุ่งฝั่งตะวันตกของเขาชนกันเพียงฝั่งเดียว จึงจะเห็นว่ามีอัตราการไหลสูงสุดแค่ 400 คิวเสก ซึ่งหายไปเกือบเท่าตัวจากสถานีบ้านปางมะค่า
ส่วนเขื่อนแม่วงก์อยู่ ที่หมุดสีเหลืองด้านซ้ายสุดของภาพที่นำมาประกอบ รับน้ำจากป่าฝั่งตะวันตก (ทางซ้ายของภาพหลุดกรอบไปแล้ว) ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีปริมาณน้ำน้อยกว่า สถานีบ้านหินดาด
การที่นายปลอดประสพบอกว่าเขื่อนแม่วงก์จะสามารถใช้ ระงับน้ำจำนวน 800 คิวเสก (ซึ่งน่าจะใช้ตัวเลขตรงสถานีบ้านปางมะค่า) จึงเป็นไปไม่ได้
อ้างอิง
ข้อมูลน้ำจากเว็บไซท์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เข้าเมื่อ วันที่ 24 กันยายน 2556 เวลา 11.40 น.
https://www.haii.or.th/wiki2/index.php/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:SGImage016.png