xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยผู้รักธรรมชาติทั้งหลาย อย่าเอาแต่ปลูกต้นไม้แล้วปล่อยให้รัฐบาลทำลายป่าแม่วงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยในยุคปัจจุบันตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องการรักษาธรรมชาติ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า เสาร์อาทิตย์มีเวลาว่างก็ชวนกันไปปลูกต้นไม้ หนึงในกิจกรรมซีเอสอาร์ยอดฮิตขององค์กรธุรกิจคือการปลูกป่า ในกรุงเทพฯ มีกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุยืนยาว ใครไปตัดทิ้ง ถ้ากลุ่มนี้รู้เข้า เป็นเรื่อง

แปลกแต่จริง รัฐบาลนี้กำลังจะทำลายผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย คือพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดกำแพงเพชร โดยฉวยโอกาสที่เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยปลายปี 2554 ผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท อ้างว่าเพื่อแก้น้ำท่วมทีราบลุ่มภาคกลาง

พื้นที่ป่าไม้น้อยกว่า 13,000 ไร่ ต้นไม้ใหญ่กว่า 5 แสนต้น ซึ่งเป็นไม้สักประมาณ 50,000 ต้นจะหายไปทันทีถ้ามีการก่อสร้างเขื่อน ด้วยคำสั่งของคนคนเดียว คือนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการบริหารจัดการน้ำ

คนไทยทีแสดงตัวว่ารักธรรมชาติ มีเวลาว่างเมื่อไรต้องชวนกันไปปลูกต้นไม้ รักษาป่า เที่ยวป่า กลับเฉยเมยไม่ใยดีต่อชะตากรรมของผืนป่าแม่วงก์ ก้มหน้าก้มตาปลูกต้นไม้กันต่อไป เพราะมองเห็นแต่ต้นไม้เป็นต้นๆ ไม่เคยมองเห็นป่าทั้งป่าเลย สื่อสารมวลชน ที่เต็มไปด้วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรักสิ่งแวดล้อมก็ไม่สนใจที่จะสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามานี


เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นายศศิน เฉลิมลาภ ต้องใช้วิธีเคลื่อนไหวอย่างอหิงสาด้วยการเดินเท้าจากอุทยานห่งชาติแม่วงก์มากรุงเทพฯ ระยะทาง 388 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน กำหนดถึงกรุงเทพฯ วันที่ 22 กันยายนนี้ เพื่อรณรงค์ให้คนไทยรู้ว่าเมืองไทยยังมีป่าที่อุดมสมบุรณ์ และป่านี้กำลังจะถูกทำลายด้วยน้ำมือของรัฐบาลนี้

ความพยายามในการผลักดันโครงการเขื่อนแม่วงก์มีมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2530 โดยผู้รับผิดชอบโครงการคือกรมชลประทาน แต่รายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีการทำทั้งหมด 4 ครั้ง คือ ในปี 2538 , 2541,2545 และ 2547 ไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเลย เพราะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเห็นว่า กรมชลประทานควรหาวิธีจัดการน้ำแบบบูรณาการมากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

สำหรับรายงานการศึกษาฉบับที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้ก็มีแนวโน้มไม่โปร่งใส เพราะมีการลัดขั้นตอน ลดจำนวนพื้นที่ที่ลงสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ มีการกำหนดตัวผู้ที่จะให้ความเห็นต่อรายงานไว้ล่วงหน้าแล้ว

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ได้เขียนบทความเรื่อง 9 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.siamensis.org กล่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งเป็นเหตุผลหลักของรัฐบาลว่า เขื่อนแม่วงก์เก็บน้ำได้มากที่สุด 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ท่วมภาคกลางเมื่อปลายปี 2554 มีมากถึง 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำที่เขื่อนแม่วงก์เก็บกักไว้ได้มีแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่ท่วมภาคกลาง เขื่อนแม่วงก์จึงช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางได้น้อยมาก แม้แต่น้ำท่วมที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เขื่อนแม่วงกืก็ช่วยได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะน้ำไม่ได้มาจากแม่น้ำวงก์สายเดียว แต่มาจากแม่น่ำหลายสายและเป็นน้ำไหลบ่าจากทุ่ง

ในขณะที่พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมแม้จะเป็นแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือ 0.12 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผืนป่าตะวันตก แต่พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ราบต่ำริมน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ในการหากินและขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าในฤดูแล้ง สัตว์ป่าบางชนิด เช่น นกยูง ไม่สามารถหนีน้ำท่วมบินขึ้นไปอยู่บนเขาได้อย่างที่นักการเมืองเข้าใจ แต่นกยูงต้องการลานหิน ลานทรายริมน้ำเพื่อป้อตัวเมีย และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานพบว่า ป่าที่นักการเมืองกล่าวอ้างว่าเป็นป่าใหม่ มีอายุไม่ถึง 30 ปีมีอยู่เพียงไม่กี่พันไร่ แต่ป่าด้านในเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์มาก ในการสร้างเขื่อนต้องตัดไม้ออกจากพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย น่าสงสัยว่าไม้ขนาดใหญ่ซึ่งรวมทั้งต้นสักด้วยจะตกเป็นผลประโยชน์ของใคร

รัฐบาลนี้กำลังเหิมเกริมใช้อำนาจบาตรใหญ่ไม่ฟังความเห็นที่แตกต่าง มองเห็นแต่งบประมาณ 13,000 ล้านที่ใช้ก่อสร้างเขื่อน และผลประโยชน์แอบแฝงจากการตัดไม้ทำลายป่า หนทางเดียวที่จะช่วยชีวิตผืนป่าแม่วงก์ รักษาต้นไม้ใหญ่กว่า 5 แสนต้น สัตว์ป่าอีก 500 กว่าชนิด ปลาในลำน้ำอีก 60 กว่าประเภท ซึ่งธรรมชาติสร้างและดูแลรักษามานานนับร้อยๆ ปีไม่ให้ถูกทำลายไปในชั่วข้ามคืน ก็คือคนไทยที่รักธรรมชาติรักสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ต้องอย่าเอาแต่ก้มหน้าก้มตาปลูกต้นไม้ทีละต้นสองต้น แต่ต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน คัดค้านรัฐบาลที่กำลังจะทำลายผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น