xs
xsm
sm
md
lg

นักกฎหมายยัน เพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ไม่ขัดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ออสเตรเลียยันเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ไม่ขัดกฎหมายเครื่องหมายการค้า หลังศาลสูงตัดสินรัฐบาลชนะบริษัทยาสูบ ระบุไทยอาจใช้เวลาสู้คดีนาน เพราะมีศาลหลายชั้น ด้านนักกฎหมายไทยร่วมยันไม่ขัดกฎหมายแน่นอน เหตุบริษัทบุหรี่ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า และยังสามารถโฆษณาบนพื้นที่ซองได้ ขณะที่นักวิชาการด้านการสื่อสารชี้พื้นที่ซองเป็นทำเลทอง ใครยึดพื้นที่ได้มากกว่ามีผลต่อการโฆษณามากกว่า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (16 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.45 น.ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายโจนาธาน ลิเบอร์แมน อาจารย์กฎหมาย มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนากฎหมาย McCabe Centre For Law And Cancer กล่าวในการประชุมวิชาการเรื่อง “เมื่อเจ้าของเครื่องหมายการค้าสินค้าบุหรี่ฟ้องรัฐบาล : บทเรียนจากประเทศออสเตรเลีย” ว่า การควบคุมบริโภคยาสูบของออสเตรเลียมีการดำเนินการหลายมาตรการด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการออกกฎหมายขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียมีการเดินหน้ามาโดยตลอด ซึ่งเมื่อ เม.ย.2010 รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศเตรียมกำหนดให้บริษัทบุหรี่ทั้งหมดต้องใช้ซองบุหรี่มาตรฐานแบบเดียวกันทั้งหมดคือ ซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งบนซองจะไม่มีเครื่องหมาย สัญลักษณ์ และสีเพื่อส่งเสริมการขาย แต่อนุญาตให้มีชื่อยี่ห้อบนซองได้ แต่จะต้องอยู่ในรูปแบบอักษรและขนาดที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยตัวซองบุหรี่จะมีสีน้ำตาลเข้ม และมีการขยายภาพคำเตือนด้านหน้าเป็น 75% ด้านหลังขยายภาพคำเตือนเป็น 90% ซึ่งจะมีทั้งหมด 7 ภาพสลับหมุนเวียนกันไปในท้องตลาด ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ถือว่าเป็นไปตามพันธกรณี ซึ่งออสเตรเลียมีในฐานะภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบองค์การอนามัยโลก คือลดความเย้ายวนของบุหรี่ เพิ่มประสิทธิภาพคำเตือนผลิตภัณฑ์ และลดความสามารถผลิตภัณฑ์ยาสูบที่จะล่อลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับผลกระทบหรือผลเสียของยาสูบ

นายโจนาธาน กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะออกประกาศดังกล่าว ออสเตรเลียมีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างชัดเจนว่า มาตรการนี้สามารถช่วยลดแรงจูงใจในการสูบบุหรี่ได้ โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ อย่างไรก็ตาม ทันทีที่รัฐบาลประกาศเตรียมออกกฎหมายควบคุมซองบุหรี่ ปรากฏว่าบริษัทบุหรี่ได้ทำการฟ้องทันที โดยอ้างว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการพรากทรัพย์สินทางปัญญา รัฐจะต้องจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการก่อกวนการทำงานของภาครัฐ ด้วยการส่งคนจำนวนมากใช้เสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลราชการ เพื่อขอเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายบุหรี่จากภาครัฐ พยายามหาข้อมูลบางอย่างเพื่อชี้ช่องให้หน่วยงานรัฐด้วยกันเองมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนี้ รวมไปถึงบริษัทบุหรี่รวมตัวกันเป็นพันธมิตรในการรณรงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยระบุว่า มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบของรัฐบาลไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ไม่สามารถใช้งาน หรือลดจำนวนผู้สูบได้จริง เป็นการทำลายธุรกิจยาสูบ ทำให้ใช้เวลาในการค้นหาบุหรี่เพื่อบริการลูกค้านานขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางให้เกิดการทำบุหรี่ปลอม และอ้างว่าหากสามารถควบคุมซองบุหรี่สำเร็จ ธุรกิจต่อไปที่อาจถูกควบคุมคือน้ำอัดลมและเบียร์ ที่ห้ามแสดงสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เป็นต้น

นายโจนาธาน กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ศาลสูงได้ยกฟ้องคำร้องดังกล่าวของบริษัทบุหรี่ เมื่อ ส.ค. 2012 และตีพิมพ์เหตุผลในการยกคำร้องเมื่อ 5 ต.ค. 2012 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.โดยผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามในวันที่ 1 ธ.ค. 2012 ซึ่งเหตุผลในการยกคำร้องนั้น เพราะว่ามาตรการดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบของการพรากทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะต้องมีผู้ได้ประโยชน์จากการถือครองทรัพย์สินทางปัญญานั้น แต่กฎหมายดังกล่าวรัฐบาลไม่ได้ประโยชน์ใดๆ แม้ทนายบริษัทบุหรี่จะออกมาชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลได้ประโยชน์ก็ตาม เช่น การโฆษณาสายด่วนเลิกบุหรี่ ซึ่งมีการตีพิมพ์บนซอง การตีพิมพ์ข้อความบนซองบุหรี่โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาให้บริษัทบุหรี่ การบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐคือ ประสิทธิภาพการเตือนมีมากยิ่งขึ้น บรรลุพันธกรณี สามารถควบคุมซองบุหรี่ได้ และหากซองบุหรี่แบบเรียบได้ผลจริง จำนวนสูบก็จะน้อยลง คนป่วยก็น้อยลง รัฐก็เสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยลง เป็นต้น

"สำหรับไทยมีความต่างจากออสเตรเลียตรงที่เป็นเพิ่มขนาดภาพคำเตือนเพียงอย่างเดียว บริษัทบุหรี่ยังมีสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าอยู่ ที่สำคัญไทยมีศาลในการตัดสินคดีหลายชั้น ไม่เหมือนออสเตรเลียที่มีศาลสูงเพียงชั้นเดียว ทำให้ไทยอาจต้องใช้เวลาในการสู้คดีนานกว่า อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่ออสเตรเลียสามารถแนะนำไทยได้ก็คือ ต้องไม่กลัวการฟ้องหรือหวั่นไหวไปกับคำขู่ว่ามาตรการเหล่านี้ขัดต่อกฎหมาย ต้องทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรเอกชน และนักวิชาการ ร่วมกันผลักดันให้เป็นเรื่องสหสาขาวิชา ที่จะต้องมาช่วยระดมสมองทำความเข้าใจในเรื่องนี้” นายโจนาธาน กล่าว

วันเดียวกัน ในเวทีอภิปรายเรื่อง “คำเตือนบนซองบุหรี่กับกฎหมายเครื่องหมายการค้า" โดย ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ช่วยให้สามารถแยกแยะออกจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ หากเจ้าของมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะช่วยให้เจ้าของเป็นผู้เดียวที่มีสิทธิในการใช้เครื่องหมายดังกล่าวได้ ซึ่งประเด็นที่เป็นปัญหาขณะนี้คือ การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องพิจารณาในหลายด้านด้วยกันคือ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ ขัดกับกฎหมายภายในที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ ขัดกับหลักการตลาดเสรีหรือไม่ และผู้ประกอบการต้องสร้างต้นทุนเพิ่มในเครื่องหมายการค้าและต้นทุนในการประกอบกิจการหรือไม่ หากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องการเดินหน้านโยบายดังกล่าวจะต้องตอบประเด็นเหล่านี้ให้ได้

ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า หากพิจารณากฎหมายมาตรา 43 วรรค 1 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการ นั้น สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิแบบไม่เด็ดขาด คือรัฐสามารถจำกัดสิทธิตรงนี้ได้ โดยอาศัยมาตรา 43 วรรค 2 ที่ระบุว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชนเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ซึ่งการออกประกาศของ สธ.ก็เป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายวรรค 2 คือเพื่อสุขภาพของประชาชน จึงเป็นประกาศที่อยู่ในเงื่อนไขข้อยกเว้น เพราะรัฐเพียงแค่ขอขยายพื้นที่ภาพคำเตือนเท่านั้น ไม่ได้กระทบผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด เพราะสัญลักษณ์ ยี่ห้อ สี ทางการค้าทั้งหมดยังคงอยู่เพียงแต่อยู่ในพื้นที่ 15% ของพื้นที่ซอง เจ้าของเครื่องหมายการค้ายังคงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าเหมือนเดิมทุกประการ

“แม้แต่ศาลสูงในออสเตรเลียก็มีแนวทางการวินิจฉัยเช่นนี้ โดยระบุว่าการบังคับให้ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งยอมรับว่าทำให้มูลค่าเครื่องหมายการค้าลดลงบ้างแต่รัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่รับรองสถานะทางเศรษฐกิจว่าจะต้องรวยขึ้นหรือจนลง รัฐธรรมนูญยังคงคุ้มครองสิทธิในการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอยู่ ยังสามารถหวงกันมิให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตนได้ แนวทางนี้ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ไทยจะนำมาช่วยพิจารณาเรื่องนี้ได้” ดร.เอื้ออารีย์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.กิตติ กันภัย นักวิชาการอิสระ สาขานิเทศศาสตร์ กล่าวว่า ในแง่การสื่อสารนั้นพื้นที่บนซองบุหรี่เป็นสมารภูมิสำคัญ เพราะถือเป็นทำเลทองที่จะทำการโฆษณาได้ ซึ่งในสายตาของนักการตลาดแล้ว พื้นที่ซองมีคุณค่าถึง 4 ด้านคือ ด้านเศรษฐศาสตร์ คือยิ่งมีพื้นที่ซองมากก็จะมีโอกาสทำการสื่อสารโฆษณาได้มาก หาก สธ.สามารถเพิ่มขนาดพื้นที่ซองเป็น 85% ก็เท่ากับว่าได้มูลค่าด้านเศรษฐศาสตร์ในการสื่อสารคำเตือนถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ได้มากขึ้น ด้านการตลาด สามารถบอกกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ได้ ด้านการสื่อสาร ที่สามารถระบุสัญลักษณ์ สี โลโก้ ยี่ห้อ เพื่อแสดงแบรนด์อิมเมจ ภาพลักษณ์ และระดับของสินค้า เป็นต้น ว่าอยู่ในระดับใด และด้านอำนาจ ถ้า สธ.สามารถเข้าไปควบคุมซองบุหรี่ได้ก็จะสามารถควบคุมการโฆษณาได้

“ขณะนี้การโฆษณาที่ถูกกฎหมายของบริษัทบุหรี่มีเพียงการโฆษณาผ่านพื้นที่ซอง ซึ่งอำนาจในการสื่อสารถือว่าเทียบเท่ากับการทำโฆษณาทางโทรทัศน์ หาก สธ.สามารถเพิ่มพื้นที่ภาพคำเตือนได้สำเร็จ คุณค่าในด้านต่างๆ ของบริษัทบุหรี่ในการโฆษณาก็จะลดลง จึงเป็นเรื่องปกติที่บริษัทบุหรี่จะออกมาต่อสู้ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยให้ควบคุมการโฆษณาได้คือการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ ให้มีความเท่าทันต่อการสื่อสารการตลาดมากขึ้น เพราะกฎหมายทุกวันนี้ยังไม่ครอบคลุในเรื่องการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต การโฆษณาผ่านแพ็กเกจ การทำซีเอสอาร์ ฯลฯ” ผศ.ดร.กิตติ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น