xs
xsm
sm
md
lg

อึลดอ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การทดลองนำแบคทีเรียจากแฝดอ้วนผอมมาใส่ในท้องหนู ทำให้รู้ว่าแบคทีเรียในท้องแฝดผอมมีผลทำให้หนูที่ได้รับการปลูกถ่ายย่อยกรดไชมันสายสั้นๆ และป้องกันการสะสมของไขมันใรเนื้อเยื่อได้ดีกว่า แต่เมื่อทดลองแล้วด้วยอาหารที่มีไขมันสูงก็ทำให้หนูผอมกลับอ้วนขึ้นได้ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าแม้จะมีแบคทีเรียช่วยได้ แต่พฤติกรรมและอาหารที่เลือกกินนั้นมีผลมากที่สุด (sciencemag.org)
เรื่องที่นายปรี๊ดจะเล่าวันนี้อาจจะหยึยๆ แหวะๆ ไปเสียหน่อย แต่ก็เป็นความจริงที่ถูกพิสูจน์แล้ว หรือไม่แน่มันอาจจะเคยเกิดในยุคที่เรายังไม่ถูกดัดพฤติกรรมให้สร้างจริตแบบผู้มีอารยธรรม นั่นคือการ “หม่ำอึ (ทางอ้อม)” เพื่อรักษาโรคและความอ้วน !

พูดไปก็จะหาว่าเกินจริง แต่แนวคิดนี้ได้มีการพูดถึงมาอย่างต่อเนื่องในวงการแพทย์และชีววิทยา และแน่นอนว่าหลายเรื่องได้มีการพิสูจน์แล้วอาจมีประโยชน์จริงในด้านการสาธารณสุข จะว่าไปแล้วการหม่ำอึไม่ใช่เรื่องแปลกในโลกของสรรพสัตว์ (ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น) เพราะในลำไส้ของสัตว์ทุกชนิดมีแบคทีเรียอาศัยอยู่มากมาย และหลายชนิดมีหน้าที่ช่วยทำให้ทางเดินอาหารเกิดการทำงานที่เหมาะสม สัตว์บางอย่างจึงต้องหม่ำอึเพิ่มพลังการย่อย!

หากนั่งสังเกตสัตว์เลี้ยงใกล้ๆ ตัวอย่างเช่น กระต่าย แฮมเตอร์ หนูถีบจักร หรือหนูตะเภา สัตว์พวกนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของ “การหม่ำอึ” หรือ “Coprophagia” เพื่อสุขภาพ ซึ่งเสมือนกับการนำแบคทีเรียที่หลุดออกจากทางเดินอาหารกลับเข้ามาสู่ร่างกายใหม่ เช่น ลูกสัตว์ที่เกิดใหม่ยังไม่มีแบคทีเรียในลำไส้เมื่อได้หม่ำอึของแม่เข้าไปก็สามารถนำไปต่อเชื้อเปิดฟาร์มแบคทีเรียในท้องได้ หรือกระต่ายและหนูที่ป่วยจากอาการท้องเสีย สัตวแพทย์ก้มักจะแนะนำให้ผู้เลี้ยงเก็บอึสดๆ ของสัตว์ที่แข็งแรงนำไปผสมน้ำป้อนเพื่อบำบัดอาการป่วยเช่นกัน

ล่าสุดในวารสารชื่อดังอย่าง Science ได้ตีพิมพ์ผลงานของนักวิจัยจาก Washington University ซึ่งได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องแบคทีเรียในท้องว่าอาจจะเป็นแนวทางสร้างอาวุธชีวภาพใช้รบรากับความอ้วนอย่างได้ผล โดยเริ่มต้นที่ฝาแฝดแท้ 4 คู่เป็นตัวแทนของคนที่มีพันธุกรรมเหมือนกันแต่ต่างกันที่ฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคอ้วน แต่อีกคนหนึ่งมีรูปร่างปกติ จากนั้นก็นำ “แบคทีเรียจากอึ (uncultured fecal microbiota)” มาส่งต่อให้หนูทดลองที่ถูกเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ เพื่อให้แน่ในว่าในท้องของหนูทดลองจะมีแต่เชื้อที่สนใจเกิดขึ้นมาใหม่เท่านั้น

จากนั้นก็เกิดผลทดลองที่น่าสนใจ คือ หนูชุดที่ได้รับแบคทีเรียจากแฝดอ้วนกลับกลายเป็นหนูอ้วนตามเจ้าของแบคทีเรีย ส่วนหนูอีกชุดที่ได้รับแบคทีเรียจากแฝดผอมมีรูปร่างปกติ หลังจากนั้นทีมวิจัยก็ได้ทดลองต่อไป คือ นำหนูทั้งสองชุดมาขังไว้รวมกัน เพื่อมีจุดประสงค์ให้หนูทดลอง “หม่ำอึ” กันเอง ซึ่งสุดท้ายพบว่าหนูทดลองที่เคยอ้วนเมื่อได้หม่ำอึของหนูชุดที่ผอมก็กลับชลอน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้จริงๆ ตรงข้ามกับหนูผอมที่หม่ำอึหนูอ้วนกลับไม่อวบอั๋นขึ้นแต่อย่างใด ที่สำคัญการทดลองโยกย้ายแบคทีเรียจากอึของฝาแฝดสู่ท้องของหนูอ้วนผอมนี้ อาจสนับสนุนแนวคิดที่มาขอความอ้วนว่าอาจจะไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุกรรม แต่อาจจะเกิดจากจากแบคทีเรียในลำไส้มากกว่า
แบคทีเรียที่ใช้หมักนมเปรี้ยวในโยเกิร์ตพร้อมดื่มยี่ห้อหนึ่ง ใช้เชื้อ Lactobacillus casei สายพันธุ์ Shirota ซึ่งค้นพบโดย Minoru Shirota ในปี 2473 เป็นแบคทีเรียกลุ่มโปรไบโอติก ที่มักพบในระบบทางเดินอาหารของทารกและสัตว์แรกเกิด เป็นตัวอย่างใกล้ตัวของการใช้ประโยชน์จากแบคทีเรียจากลำไส้สู่การบริโภคจริง เพราะมีจุดขายที่ทนสภาพกรดได้มากที่สุดในแบคทีเรียกลุ่มเดียวกัน จึงเชื่อว่าเมื่อกินกลับลงท้องไปจะทำให้เหลือรอดจากกระเพาะไปสู่ลำไส้ได้ดีที่สุด (journals.prous.com)
เรื่องแบคทีเรียในลำไส้ที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนนี้ไม่ใช้เรื่องใหม่ เพราะมีการศึกษาบทบาทของเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อาศัยอยู่กับเราแบบไม่รู้ตัวนี้มามากทีเดียว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ในวารสาร Nature ก็เคยมีการตีพิมพ์เรื่องแนวคิดการใช้ยาต้านแบคทีเรียซึ่งเลียนแบบโปรตีนในลำไส้หรือ “อินฟลามมาโซมส์ (inflammasomes)” ซึ่งมีหน้าที่ตรวจจับปริมาณแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งเมื่อขาดสมดุลอาจจะทำให้เกิดอาการไขมันพอกตับไปจนถึงโรคอ้วนได้

เมื่อเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านก็มีการทดลองเกี่ยวกับแบคทีเรียในลำไส้ การผ่าตัดบายพาส และปริมาณอาหารเช่นกัน โดยทีมนักวิจัยจาก Harvard และ Washington University ได้ทดลองแบ่งหนูเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นชุดควบคุม กลุ่มที่สอง ทำการผ่าตัดกระเพาะเหมือนที่แพทย์ใช้รักษาคนไข้ที่เป็นโรคอ้วนแต่ให้กินอาหารตามปกติ ส่วนชุดที่สามถูกผ่าตัดกระเพาะและจำกัดอาหาร
ผลการทดลองพบว่าหนูที่ถูกผ่าตัดกระเพาะทั้งที่คุมอาหารและไม่คุมอาหารกลับมีน้ำหนักเท่าๆ กัน แต่เมื่อตรวจสอบภายในกระเพาะกลับพบว่า การผ่าตัดกระเพาะทำให้เกิดแบคทีเรียกลุ่ม Verrucomicrobia และ Gammaproteobacteria มากกว่าปกติ ซึ่งเหตุการณ์นี้พบได้ในคนเช่นกัน จนเป็นคำถามว่า อันที่จริงแล้ว การผ่าตัดกระเพาะอาจไม่ใช่ที่มาของการลดน้ำหนัก แต่เป็นผลจากแบคทีเรียบางกลุ่มที่เจริญมากขึ้นต่างหาก

แล้วการหม่ำอึเพื่อรักษาโรคอื่นๆ เคยเกิดขึ้นจริงไหม? คำตอบคือเคยครับ...เกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาลของเมืองกลาสโกลว์ สกอตแลนด์ นายแพทย์ชื่อ Alisdair MacConnachie ทดลองผสมอึของญาติแบบเจือจางกับน้ำเกลือ แล้วทดลองรักษาคนไข้ที่มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงด้วยสาเหตุจากการเพิ่มปริมาณของเชื้อ Clostridium difficle แบบผิดปกติ เนื่องการยาปฏิชีวนะใช้ไม่ได้ผลและเกิดผลข้างเคียง คุณหมอรายงานว่ามันได้ผลดีถึง 90 % จากการทดลองใช้วิธีนี้มาตั้งแต่ปี 2542 และในปัจจุบันนักวิจัยในฝั่งอังกฤษก็ยังคงสนใจประยุกต์ใช้แบคทีเรียในอึเพื่อทดลองบำบัดโรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

แม้การ “หม่ำอึ” เพื่อรับแบคทีเรียแปลกหน้าเป็นพันๆ ชนิดเข้าท้องโดยตรงเพื่อบำบัดโรคอ้วนหรือโรคอื่นๆ คงเป็นเรื่องวิตถารเกินจะรับ และแน่นอนว่าอาจจะนำเชื้อก่อโรคเข้าตัวได้อีก แต่คำแนะนำของนักชีววิทยาก็คือ “การเลือกกิน” ทั้งนี้ก็มีความหมายอยู่ 2 ประการ คือ เลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์และมีไขมันต่ำ เพื่อป้องกันโรคอ้วนและสารพัดโรคที่จะตามมา หรือเลือกินอาหารเพื่อช่วยเพิ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย เช่น ผักผลไม้สด โยเกิร์ต ชีส และอาหารหมักดองพื้นบ้าน ในบางมื้ออาหาร

เรื่องบางเรื่องแม้จะทำให้คลื่นเหียนอาเจียนได้ แต่มันก็เป็นความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันสาวหนุ่มยุคเมโทรก็สรรหาสารพัดสิ่งมาบำเรอความ “อยากงาม” ตัวเอง ตั้งแต่รกแกะ เมือกหอยทาก ยันสารโบทอกซ์ซึ่งเป็นพิษจากราถั่ว ซึ่งดูแล้วก็ไม่ได้น่าอภิรมย์มากเท่าไหร่ แล้วถ้ามีคนโฆษณา แค่กลั้นใจกินอึกระต่าย อึหนู เพื่อรับแบคทีเรียลดความอ้วนแล้วจะผอมสวย...นายปรี๊ดว่าอาจจะได้เห็นกันอีกไม่นานนี่ละครับ ... คนหม่ำอึ!

อ้างอิง

Ridaura. K et. al. Gut Microbiota from Twins Discordant for Obesity Modulate Metabolism in Mice. Science 6 September 2013: Vol. 341 no. 6150

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น