หน้าตาของ "บล็อบฟิช" บ่งบอกความรู้สึกที่ได้เสียงโหวตเป็น "ปลาน่าเกลียดที่สุด" ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเจ้าปลาน้ำลึกชนิดนี้อาจจะไม่ได้รู้สึกหรือรับรู้กิจกรรมที่มนุษย์กำลังทำอยู่
"บล็อบฟิช" (blobfish) ได้รับเสียงโหวตสูงสุดให้เป็นสัญลักษณ์นำโชคหรือมาสคอตอย่างเป็นทางการของสมาคมพิทักษ์สัตว์น่าเกลียด (Ugly Animal Preservation Society) ผลดังกล่าวบีบีซีนิวส์ระบุว่า ทำให้ปลาชนิดนี้กลายเป็นสัตว์น่าเกลียดที่สุดในโลกอย่างไม่เป็นทางการ
สมาคมพิทักษ์สัตว์น่าเกลียดนี้เริ่มกิจกรรมรณรงค์นี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจแก่สิ่งมีชีวิตที่ไม่สวยงามแต่กำลังถูกคุกคามนี้ โดยบีบีซีนิวส์ระบุว่า การประกาศผลเกิดขึ้นในงานเทศกาลวิทยาศาสตร์อังกฤษ (British Science Festival) ในนิวคาสเซิล
บล็อบฟิชได้คะแนนความน่าเกลียดสูงสุดติด "ท็อปไฟว์" พร้อมกับสัตว์อื่นๆ เช่น ลิงจมูกยาว (proboscis monkey) ที่มีจมูกโต รวมถึงเต่าที่มีจมูกคล้ายหมู และกบที่มีผิวหนังเหมือนถุงอัณฑะ
ไซมอน วัตต์ (Simon Watt) นักชีววิทยาและพิธีกรรายการทีวี ประธานสมาคมพิทักษ์สัตว์น่าเกลียด กล่าวว่าเขาหวังว่าการรณรงค์นี้จะดึงความสนใจมายังภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดแต่น่าอัศจรรย์เหล่านี้
วัตต์ให้ความเห็นแก่บีบีซีนิวส์ว่า การอนุรักษ์ในแบบเดิมๆ นั้นมักเอาตัวเราเองเป็นใหญ่ เราปกป้องเพียงสัตว์ที่เราใกล้ชิดด้วยเพราะพวกมันน่ารัก อย่างแพนด้าเป็นตัวอย่าง หากการถูกคุกคามจนสูญพันธุ์เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างที่เห็น การปกป้องเพียงสัตว์ที่มีเสน่ห์ดึงดูดนั้นเป็นสิ่งที่พลาดมหันต์
"ผมไม่ได้ต่อต้านแพนด้า แต่พวกสัตว์เหล่านั้นก็มีคนช่วยเหลืออยู่แล้ว ส่วนสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ต้องได้รับการช่วยเหลือ" วัตต์กล่าว และหวังว่าการโหวตครั้งนี้จะนำแสงสว่างมาสู่การอนุรักษ์ โดยเขาได้ทำงานร่วมกับนักแสดงตลกในการสร้างข้อความรณรงค์บนยูทิวป์เพื่อือกสิ่งมีชีวิตที่น่าเกลียดมาให้ประชาชนช่วยกันลงคะแนนโหวต
สำหรับบล็อบฟิชได้คะแนนโหวตเกือบ 10,000 โหวต โดยสัตว์หน้าตาประหลาดนี้อาศัยอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียและแทสมาเนย ที่ใต้ทะเลลึก 600-1,200 เมตร ซึ่งมีความดันบรรยากาศสูงกว่าที่ระดับน้ำทะเลหลายสิบเท่า ร่างกายที่เป็นวุ้นของปลาชนิดนี้มีความหนาแน่นมากกว่าน้ำเล็กน้อย
บล็อบฟิชใช้ชีวิตอยู่แต่ใต้ทะเลลึก กินปูและกุ้งมังกร แต่ก็เดือดร้อนจากอวนลาก ซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญ แม้ว่าจะเป็นปลาที่เรากินไม่ได้ แต่ก็ถูกจับขึ้นมาพร้อมกับอวนลาก ส่วนสัตว์อื่นๆ ที่ติดโผความน่าเกลียดก็กำลังถูกคุกคามถิ่นอาศัย ซึ่ง วัตต์หวังอีกว่า การรณรงค์ครั้งนี้จะเน้นให้เห็นข้อเท็จจริงว่า การอนุรัักษ์ควรมุ่งไปที่การพิทักษ์ถิ่นอาศัยของสัตว์ มากกว่าจะให้ความสำคัญเฉพาะสปีชีส์ใดเป็นพิเศษ
ด้าน คาร์ลี วอเตอร์แมน (Carly Waterman) จากสมาคมสัตววิทยาลอนดอน (Zoological Society of London) สรรเสริญการรณรงค์นี้ พร้อมกล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะเพิ่มความตระหนักแก่สัตว์ที่มีเสน่ห์ดึงดูดน้อย สัดส่วนส่วนใหญ่ของความหลากหลายในโลกนั้นถูกมองข้าม ดังนั้นการโบกธงรณรงค์เรื่องนี้จะเป็นแง่มุมบวก