xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองคนวิทย์: จริงไหม? ชุด นศ.ติดกรอบ-ริดรอนเสรีภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุดนักศึกษาติดกรอบ, ริดรอนเสรีภาพ? (ภาพประกอบจากละครออนไลน์)
คนนอกวงการวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยมองว่า นักวิทยาศาสตร์นั้น “ติดกรอบ” และไร้จินตนาการ ยิ่งเกิดกรณีข้อถกเถียงเรื่องระเบียบการแต่งชุดนักศึกษาที่กำหนดออกมาโดยคณะวิทย์ภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพทางความคิดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ภาพนักวิชาการคร่ำครึจึงยิ่งดูเด่นชัดขึ้นในสายตาคนรุ่นใหม่ (กลุ่มหนึ่ง)

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงลองสำรวจความเห็นคนในแวดวงวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ต่อประเด็นร้อนฉ่านี้ เพื่อถอดมุมมองของพวกเขาต่อการสวมใส่ “เครื่องแบบ” และความสำคัญของจินตนาการกับกฎระเบียบที่มีต่องานของพวกเขา
เกศทิพย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
เกศทิพย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นิสิตปริญญาโททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเครื่องแบบไม่มีผลต่อการจำกัดเสรีภาพหรือความคิดสร้างสรรค์ เพราะไม่ว่าจะใส่อะไรก็เหมือนกัน แต่มีมุมมองว่าหากแต่งเครื่องแบบจะช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาคิดในตอนเช้าว่าจะแต่งตัวอย่างไร ลดความแตกต่างทางสังคมในการทำงานร่วมกัน และยังประหยัดได้ระยะยาว แม้จะต้องลงทุนในช่วงแรก แต่ระเบียบที่เธอไม่เห็นด้วยคือเรื่องการบังคับตัดผมทรงกะลาครอบ

“มองว่าเครื่องแบบทำให้ดูเรียบร้อยในภาพรวมก็พอ แต่ไม่ควรทำให้ใครน่าเกลียดและขาดความมั่นใจในตัวเองค่ะ สำหรับสายวิทย์การจินตนาการมาจากการอ่านผลงานวิจัยตีพิมพ์เยอะๆ อาจไม่เหมือนทางสายศิลป์ที่อาจจะปิ๊งความคิดขึ้นมาเมื่อเห็นเพื่อนร่วมงานแต่งชุดหลุดโลก แต่ถ้ามีไม่ฟอร์ม สีสันในที่ทำงานทางสายวิทย์คงสดใสขึ้น ถึงอย่างนั้น ป.โทสายวิทย์แต่งก็เรียบๆ กันอยู่ดีค่ะ” เกศทิพย์ให้ความเห็น พร้อมเสริมว่า หากไม่มีเครื่องแบบ คนเราก็ควรมีวินัยในตัวเองมากกว่านี้ด้วย ซึ่งในภาพรวมยังขาดจุดสำนึกเรื่องการแต่งกายที่เหมาะสมอยู่ จึงคิดว่าควรมีเครื่องแบบ
อภิมุข วัชรางกูร
ทางด้าน อภิมุข วัชรางกูร นักศึกษาปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน (King's College London ) อังกฤษ ซึ่งไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบไปเรียน ให้ความเห็นว่า เขาไม่เห็นว่าเครื่องแบบนักศึกษาจะทำลายจินตนาการหรือริดรอนเสรีภาพตรงไหน แต่จะสวมหรือไม่สวมก็ได้ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เขาก็ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องของนักศึกษาเท่าไหร่ที่จะเอาเวลามารณรงค์ในเรื่องนี้ เพราะยังมีเรื่องมีประโยชน์อีกมากให้ทำ

ในเรื่องการแต่งกายของนักศึกษานี้อภิมุขมองว่าเป็นประเด็นไม่ต่างจากเรื่องทรงผม เขายังยกตัวอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ที่เคยประท้วงการบังคับสวมชุดนักศึกษาของมหาวิทยาลัยด้วยการสวมชุดนักศึกษาตลอดเวลา จนปัจจุบันแม้จะเลิกประท้วงไปแล้วก็ยังสวมชุดคล้ายชุดนักศึกษาอยู่ ด้วยเหตุผลว่าใส่แล้วสบายดี

สำหรับอภิมุขแล้วเสรีภาพในการเรียน การตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ส่งเสริมจินตนาการ ขณะคนที่มองว่าการแต่งกายตามระเบียบเป็นสิ่งคร่ำครึนั้นคือคนที่ยึดติด และคิดเอาเองว่าการใส่ชุดจะทำให้จินตนาการไม่ออกหรือไม่มีเสรีภาพ และถึงแม้เขาจะเรียนเมืองนอกที่ไม่มีเครื่องแบบแต่ก็สวมใส่อะไรไม่ได้มากไปกว่าเสื้อผ้าหนาๆ เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างหนาว แต่ก็ให้ความเห็นด้วยว่าชุดนักศึกษาเมืองไทยไม่ค่อยเหมาะกับสภาพอากาศเท่าไหร่ เพราะสวมใส่แล้วทำให้รู้สึกร้อน
ชลเทพ กิจสินธพชัย
ส่วน ชลเทพ กิจสินธพชัย นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริม ผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) กล่าวว่าไม่เคยคิดว่า ชุดนิสิตนักศึกษากับการตีกรอบจินตนาการจะเกี่ยวกันได้ เพราะนิสิตนักศึกษาก็โตแล้ว ไม่ใช่เด็กประถมที่การแต่งกายจะมีผลต่อการคิด พร้อมยกตัวอย่างการแต่งชุดคอเต่าของ สตีฟ จ็อบส์ ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ระบบ iOS กลายเป็นระบบปิด หากจินตนาการกับการแต่งตัวจะเกี่ยวข้องกันก็เป็นเรื่องแฟชั่นในการแต่งกาย

“ชุดนิสิตนักศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือไว้ใช้แต่งกาย ไม่ได้มีอำนาจควบคุมจินตนาการของเราได้เลย แถมมีประโยชน์ตรงที่เราแต่งไปในงานสุภาพได้หลายงาน เราคงไม่คิดว่าคนกินข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวทุกวันไร้จินตนาการหรอกนะครับ ต้องเข้าใจก่อนว่า เสรีภาพเป็นอำนาจในการตัดสินใจได้ของตนเองแต่ก็มีขอบเขต ซึ่งย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสังคม ที่เราต้องมีเกณฑ์มากำหนดเสรีภาพก็เพื่อให้ทุกคนมีเสรีภาพที่เท่ากัน เรามามหาวิทยาลัย มาเรียน มาทำงาน อย่างน้อยเราก็ควรแต่งกายสุภาพ ซึ่งขอบเขตคำว่าสุภาพของแต่ละคนไม่เท่ากัน ชุดนิสิตนักศึกษาจึงเป็นตัวกำหนดคำว่าสุภาพได้ดีสำหรับรั้วมหาวิทยาลัย ผมคิดว่าชุดนักศึกษาไม่ได้ริดรอนเสรีภาพอะไร คิดว่าบังคับให้แต่งได้ตามสมควร ในบางกรณีก็อาจเปลี่ยนเป็นชุดสุภาพแทนได้ เพราะทุกวันนี้หลายคนก็แต่งชุดนิสิตนักศึกษาที่ไม่ค่อยสุภาพอยู่แล้ว" ชลเทพให้ความเห็น

ชลเทพกล่าวอีกว่า จินตนาการมีความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์ตลอดเวลา และวิทยาศาสตร์ไม่เคยตีกรอบจินตนาการ อีกทั้งการเรียนวิทยาศาสตร์ก็ช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้ถูกให้ควร เรียกได้ว่าเป็นสิ่งคู่กัน แต่มักมีคนบอกว่า เรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แล้วไม่ได้ใช้ แต่อยากให้ลองคิดดู หากมีคนเอากล่องติดเสาอากาศมาให้ โดยข้างในมีแค่วงจรที่ใช้เสาสุ่มตามเวลา แล้วบอกว่าเสาจะหมุนเมื่อเจอทองฝังอยู่ใต้ดิน บางคนอาจจินตนาการไปว่าจะรวย แต่วิทยาศาสตร์จะช่วยตัดสินได้ว่าจินตนาการใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
วลีรัตน์ ทองพูล
สำหรับ วลีรัตน์ ทองพูล อดีตลูกแม่โดมจากคณะสถาปัตย์กรรมศาตร์และการผังเมือง และปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจของบริษัทเอกชนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแต่งเครื่องแบบว่า ในความเป็นจริงนักศึกษารู้ว่า อะไรคือกาละเทศะ เวลาสอบ เวลานำเสนองาน เวลามีพิธีการ หรือบางวิชาที่อาจารย์บอกให้สวมเครื่องแบบเข้าเรียนก็สวม และไม่คิดว่าเป็นการริดรอนสิทธิ ซึ่งตอนสมัยเรียนเธอก็แต่งตัวตามสบาย แต่ก็แต่งชุดสุภาพ ไม่ใช่สวมกางเกงเล เสื้อกล้าม รองเท้าแตะ และชุดนักศึกษาก็สามารถสวมใส่ได้ตลอด

“การสวมชุดธรรมดาก็สะดวกดี แต่ไม่คิดว่าการสวมชุดธรรมดาไปเรียนแล้วสร้างสรรค์กว่าใส่ชุดนักศึกษา และไม่คิดว่าคนทั่วไปคิดอย่างนั้น เพียงแค่รู้สึกว่าสวมใส่สบาย ไม่ต้องตื่นมารีดชุดนักศึกษาทุกเช้าแค่นั้นเอง แต่วันไหนควรสวมเครื่องแบบนักศึกษาก็ทราบกันอยู่แล้ว อย่างวันสอบ ไม่มีใครมาบอกว่าต้องใส่ชุดนักศึกษา แต่นักศึกษาก็ใส่มากัน วันที่มีพรีเซนต์งาน วันสอบ วันไปดูงานต่างสถานที่ สถานที่ราชการหรือบริษัทต่าง เรื่องนี้เป็นเรื่องของกาละเทศะ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ หรืออิสรภาพ คงไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัวชุดธรรมดามาเรียนหรอกค่ะ” วลีรัตน์ให้ความเห็น
สุรางคนา รักดี
สำหรับ สุรางคนา รักดี ซึ่งกำลังศึกษาทางด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยลุดวิกแมกซิมิเลียนมิวนิกแอสโตรฟิสิกส์ (Ludwig Maximilian University Munich Astrophysics) เยอรมนี ให้ความเห็นว่า การแต่งชุดนักศึกษาไม่ถึงขั้นปิดกั้นจินตนาการหรือริดรอนเสรีภาพ และตั้งแต่เด็กจนโตเราต่างก็ใส่ชุดนักเรียนนักศึกษามาโดยตลอด ซึ่งเป็นการฝึกระเบียบวินัยไปในตัว หรือเหตุผลลึกๆ อาจเป็นกุศโลบายที่ฝึกให้เด็กได้รู้จักเคารพกฎ

“แต่ก็คิดได้หลายแง่มุมนะคะ พอโตขึ้นมาคนเราก็จะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองไม่ต้องเดินตามใคร การต้องแต่งตัวเหมือนเดิมไปเรียนทุกวันอาจจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ หรือสิ้นเปลืองที่ต้องซื้อชุดเพิ่ม โดยส่วนตัวคิดว่าขึ้นอยู่กับสถาบันด้วยว่าจะออกกฏอย่างไร แต่อย่างหนึ่งตัวเองเชื่อคือ อยู่ที่ไหนก็ควรจะต้องเคารพกฏกติกา ของสถานที่นั้นๆ ค่ะ แต่ก็พูดยากนะคะ” สุรางคนาให้ความเห็น
ฐิติกานต์ ฉุยฉาย
ทางด้าน ฐิติกานต์ ฉุยฉาย นิสิตปี 1 จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายเเละเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวคิดว่าชุดนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อยากเข้าไปศึกษาในสถาบันนั้นๆ อยากใส่ชุดของสถาบันไปเรียน และยังแสดงถึงความเป็นระเบียบของสถาบัน ไม่คิดว่าเป็นกฎระเบียบที่คร่ำครึ เราทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือกระทำสิ่งต่างๆ ได้ แต่ต้องอยู่ในกฎระเบียบ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ริดรอนเสรีภาพของผู้อื่น แต่กฎระเบียบต้องทันสมัย เข้ากับสภาพสังคม และต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมยอมรับ

ส่วนเรื่องกฎระเบียบนั้นฐิติกานต์บอกว่ามองได้หลายมุม วิทยาศาสตร์มีระเบียบและกฎข้อบังคับมากมาย เช่น การใช้สารเคมีต่างๆ การทดลอง ก็จะมีข้อบังคับว่าห้ามอะไรบ้าง เพราะข้อบังคับเหล่านั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์มาอย่างดีแล้ว และหากฝ่าฝืนก็ไม่ก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อีกทั้งอาจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้ แต่บางครั้งกฏระเบียบอาจทำให้วิทยาศาสตร์ไม่ก้าวหน้าได้ ซึ่งเห็นได้จากยุคฟื้นฟูวิทยาศาสตร์ ที่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ขัดต่อศาสนา ทำให้นักวิทยาศาสตร์เป็นคนนอกรีต ไม่ได้รับการยอมรับ วิทยาศาสตร์จึงไม่ก้าวหน้า

“คิดว่ากฎระเบียบสำคัญต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ แต่เราควรจะพิจารณาว่ากฎระเบียบนั้นมีเหตุผล หรือไม่ ไม่ใช่ทำตามไปโดยไม่เข้าใจจุดประสงค์ ส่วนเรื่องจินตนาการนั้นสำคัญมากๆ ในการศึกษาวิทยาศาสตร์ ดังที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ซึ่งวิทยาศาสตร์มีหลายแขนง บางศาสตร์เรียนเกี่ยวกับสิ่งที่จับต้องได้ บางศาสตร์ก็ศึกษาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่วิทยาศาสตร์ชั้นสูงก็เป็นแบบนั้น เช่น เราศึกษาอะตอม เราเองก็ไม่ทราบหรอกว่าอะตอมหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เราใช้จินตนาการบนเหตุผล มาสร้างแบบจำลองอะตอม ดังนั้น เรียนวิทยาศาสตร์ก็ต้องมีจินตนาการ แต่จินตนาการนั้นก็ต้องอยู่บนหลักเหตุและผลด้วย” ฐิติกานต์สรุป
เหล่านี้คือเสรีภาพทางความคิดของนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ทั้งที่ยังสวมเครื่องแบบนักศึกษา และไม่จำเป็นต้องสวมชุดนักศึกษาอีกต่อไป ...แล้วคุณคิดว่าเปลือกภายนอกเหล่านี้จำเป็นต้องยึดติดมากน้อยเพียงใด







กำลังโหลดความคิดเห็น