xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์เล็งพัฒนา “สูตรนมเทียม” ช่วยลูกแพนด้าที่แม่ไม่เลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากพัฒนานมเทียมสำหรับแพนด้าได้สำเร็จ จะเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการเลี้ยงดูแพนด้าในสถานที่เพาะเลี้ยง
นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ตั้งเป้าพัฒนาสูตรนมเทียมไว้เลี้ยงลูกแพนด้าที่แม่ไม่เลี้ยง หากประสบความสำเร็จจะเป็นก้าวสำคัญสำหรับโครงการเลี้ยงแพนด้าในสถานที่เลี้ยงดู

หากแพนด้าออกลูกแฝดจะมีลูกแพนด้าตัวหนึ่งที่ถูกปฏิเสธการเลี้ยงดูจากแม่ หรือกรณีที่แพนด้าออกลูกในสถานเพาะเลี้ยง แม้จะมีลูกเพียงตัวเดียวแต่แม่แพนด้าอาจไม่เลี้ยงลูกหรือเลวร้ายถึงขั้นฆ่าลูกตัวเองได้

ทั้งนี้ บีบีซีนิวส์ระบุว่าทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (University of Glasgow) ในสก็อตแลนด์ สหราชอาณาจักร เล็งพัฒนาสูตรนมเทียมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แม้ว่ายังต้องใช้เวลาอีกยาวไกลกว่าจะประสบความสำเร็จ แต่นักวิจัยเชื่อว่ามาถูกทางแล้ว

ลูกแพนด้าจำเป็นต้องได้น้ำนมแรกเกิดหรือ “คอลอสตรัม” (colostrum) จากแม่ เพื่อปกป้องตัวเองจากการติดเชื้อ ซึ่งในการดูแลแพนด้าในสถานเลี้ยงดูนั้น ทีมเลี้ยงจะสลับลูกแพนด้าแฝดให้แม่ดูแลในช่วงทีเผลอ หรือไม่ก็ใช้นมวัวที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อเลี้ยงสุนัขวัยอ่อน

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์นี้จะนำเสนอส่วนสำคัญภายในงานประชุมสัมมนาการวิจัยแพนด้ายักษ์ (Giant Panda Research Symposium) ที่สวนสัตว์เอดินบะระ (Edinburgh Zoo) ระหว่าง 10-12 ก.ย.นี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชายของสวนสัตว์เชื่อว่า แพนด้าเพศเมีย ชื่อ เถียน เถียน (Tian Tian) อาจกำลังตั้งท้องอยู่

ด้าน ศ.มัลคอล์ม เคนเนดี (Prof.Malcolm Kennedy) จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ กล่าวถึงงานของเขาว่า สนใจด้านชีววิทยาในการให้น้ำนมของหมี ซึ่งปกติลูกหมีนั้นจะตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดตัวของแม่ และกรณีแพนด้านั้นลูกหมีอาจมีสัดส่วนน้ำหนักตัวเมื่อเทียบกับแม่เป็น 1: 1,000 หรืออาจน้อยกว่านั้นอีก

เป็นไปได้ว่าน้ำนมแพนด้านั้นอาจมีการดัดแปลงเป็นพิเศษเพื่อเลี้ยงลูกแพนด้าแรกเกิดที่มีพัฒนาการต่ำมาก และในความเป็นจริง และเรายังพบอีกว่านมคอลอสตรัมของแพนด้าใช้เวลาเปลี่ยนไปเป็นนมธรรมดานานกว่านมวัว ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เครื่องมือชั้นสูงเพื่อจำแนกคุณลักษณะของโปรตีนและโมเลกุลอื่นที่เป็นองค์ประกอบในนมคอลอสตรัมของแพนด้า และน้ำนมระยะหลังจากนั้น
 
การเข้าใจองค์ประกอบของนมแพนด้าว่าแตกต่างจากน้ำนมวัวและน้ำนมคนอย่างไรนั้น อาจช่วยในการดัดแปลงสูตรนมทดแทนที่ดีกว่าสำหรับลูกแพนด้าได้ โดย ศ.เคนเนดีได้เสริมว่า งานวิจัยของเขาจะช่วยให้เข้าใจชีววิทยาการให้น้ำนม ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในหมี

“เรายังห่างไกลจากการกำหนดส่วนผสมของนมทดแทนสำหรับลูกแพนด้า แต่ชุดข้อมูลที่เราสร้างขึ้นนี้ก็จะช่วยให้เรามาถูกทาง” ศ.เคนเนดีกล่าว

 
แพนด้าแรกเกิดมีขนาดตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดตัวของแม่แพนด้า ในภาพนี้คือภาพแพนด้าแรกเกิดในสวนสัตว์สมิทโซเนียน (Smithsonians National Zoo) ที่สหรัฐฯ ที่เพิ่งเกิดเมื่อเดือน ส.ค.2013 ที่ผ่านมา






กำลังโหลดความคิดเห็น