xs
xsm
sm
md
lg

Abdus Salam นักวิทยาศาสตร์มุสลิมผู้พิชิตโนเบลคนแรก

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Abdus Salam
Abdus Salam คือนักฟิสิกส์ทฤษฎีควอนตัมชั้นนำคนหนึ่งของโลกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1979 ร่วมกับ Steven Weinberg และ Sheldon Glashow ด้วยการสร้างทฤษฎี Electroweak Theory ที่ได้จากการสังเคราะห์อันตรกริยา 2 ชนิดจาก 4 ชนิดที่มีในธรรมชาติ คือ อันตรกริยาแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic interaction) และอันตรกริยาอ่อน (weak interaction)

นอกจากจะมีผลงานฟิสิกส์ระดับสุดยอดแล้ว Salam ยังเป็นนักเคลื่อนไหวเชิงวิชาการที่ได้พยายามทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลกเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วย จึงได้รณรงค์ให้มีการจัดตั้งสถาบัน International Center for Theoretical Physics (ICTP) ขึ้นที่เมือง Trieste ในอิตาลี และ Salam ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันนี้จนเกษียณ

ความโดดเด่นของ Salam อยู่ที่เขาเป็นนักฟิสิกส์ชาวปากีสถานแห่งโลกที่สาม ผู้มีความสามารถทางสติปัญญาทัดเทียมกับนักฟิสิกส์ชาวยุโรปและอเมริกาแห่งโลกที่หนึ่งจนอาจถือได้ว่า ในช่วง หนึ่งสหัสวรรษที่ผ่านมานี้ Salam เป็นนักวิทยาศาสตร์มุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่ปราชญ์ Ibn al-Haytham ได้ตายจากไป

Abdus Salam (ชื่อนี้แปลว่า ทาสของสันติภาพ) เกิดที่เมือง Jhang ในปากีสถานเมื่อวันที่ ค.ศ.1926 เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจาก Islamabad ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 300 กิโลเมตร บ้านที่ Salam เกิดมี 2 ห้อง และไม่มีไฟฟ้าใช้ที่บ้าน จึงต้องใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดในการให้แสงสว่าง บิดาของ Salam เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในกระทรวงศึกษาธิการที่เคร่งศาสนามาก แต่ก็สนับสนุนให้ลูกชายเรียนหนังสือ Abdus Salam เป็นชื่อที่มีเพียง 2 คำ คือชื่อต้นกับชื่อสกุล จึงแตกต่างจากชื่อชาวมุสลิมทั่วไปที่มีตั้งแต่ 3 คำขึ้นไป การมีชื่อสั้นเช่นนี้ คงเพราะ Salam ได้รับอิทธิพลมากจากโลกตะวันตก

หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในวัย 14 ปี Salam ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ Government College แห่งเมือง Lahore โดยทำคะแนนได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ของการสอบเข้า ความเก่งของ Salam ในครั้งนั้นทำให้ชาวเมืองพากันออกมาแสดงความยินดี และชื่นชม
อีก 3 ปีต่อมา Salam ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นแรก ซึ่งเป็นผลงานคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวกับการหาคำตอบของชุดสมการพีชคณิตที่ไม่เป็นเชิงเส้น ซึ่ง Srinivasa Ramanujan ได้เคยทำมาก่อน แต่เทคนิคของ Salam เป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่ายกว่า อีกทั้งกระชับกว่าด้วย

จากนั้นอีกไม่นาน Salam ก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่ St.John’s College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge เพื่อเรียนฟิสิกส์ และจบปริญญาตรีใน 2 สาขาวิชาคือฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งทั้ง 2 วิชา และสำเร็จปริญญาเอกในปี 1952 เมื่ออายุ 26 ปี

เมื่อประจักษ์ชัดว่า เป็นคนไม่ชอบและไม่มีความสามารถด้านการทดลองฟิสิกส์เลย Salam จึงไปหาอาจารย์ชื่อ Nicholas Kemmer เพื่อขอทำวิจัยด้านทฤษฎี และ Kemmer ได้แนะให้ไปสนทนากับ Paul Matthews ซึ่งเพิ่งสำเร็จปริญญาเอกใหม่ๆ ว่ามีประเด็นใดที่ Matthews ยังไม่ได้ทำบ้าง
นักวิทยาศาสตร์มุสลิมผู้พิชิตโนเบลคนแร
ในช่วงเวลานั้นนักฟิสิกส์ทฤษฎีกำลังสนใจเทคนิค renormalization ในทฤษฎี Quantum Electrodynamics (QED) ของ Julian Schwinger, Sin-Itino Tomonaga, Richard Feynman และ Freeman Dyson โดย Matthews ได้ใช้ทฤษฎี QED นี้ศึกษาสมบัติของอนุภาค meson ในอันตรกริยารุนแรง (strong interaction) และพบว่าผลงานที่ทำยังไม่สมบูรณ์ จึงขอให้ Salam ช่วย และ Salam ก็ทำได้สำเร็จภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งทำให้ Matthews รู้สึกประทับใจมาก

ดังนั้น เมื่อ Matthews ได้ทุนไปวิจัยที่ Institute for Advanced Study ที่ Princeton ในอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี Salam จึงได้ติดตามไปด้วย และทั้งสองได้ผลิตผลงานวิจัยเรื่องแรกชื่อ การทำ renormalization ในทฤษฎี meson ซึ่งได้ทำให้วงการฟิสิกส์ตื่นเต้นในความสามารถของหนุ่มปากีสถานวัย 26 ปีคนนี้มาก

ในปี 1953 Salam เดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่ง Punjab University และ Government College ด้วยความหวังที่เปี่ยมล้นว่าจะพัฒนาวิทยาศาสตร์ในประเทศปากีสถานให้ทัดเทียมประเทศในโลกตะวันตก แต่ได้พบว่าความฝันนี้เป็นไปแทบไม่ได้ นอกจากนี้ Salam ยังพบอีกว่า ตนเองก็กำลังสูญเสียความสามารถทางวิชาการอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ได้ติดต่อหรืออ่านวารสารวิจัยฟิสิกส์เลย และไม่มีใครในมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยมาก Salam จึงไม่มีเพื่อนที่มีความสนใจใกล้เคียงมาสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันเลย ในที่สุด Salam ได้ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย แล้วเดินทางกลับไปใช้ชีวิตเป็นนักฟิสิกส์เต็มตัวที่อังกฤษ โดยเข้ารับตำแหน่งอาจารย์ที่ St.John’s College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในปี 1956

เมื่อนักฟิสิกส์พบอนุภาค neutrino และ T.D.Lee กับ C.N.Yang ได้เสนอทฤษฎี Parity Violation ในอันตรกริยาอ่อน Salam ได้พยายามอธิบายที่มาของทฤษฎี Non-Conservation of Parity นี้ โดยใช้สมการ Dirac ในกรณีที่มวล m ของอนุภาคเท่ากับศูนย์ และได้ผลว่า neutrino จะมี spin ทิศเดียว และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าแสง ดังนั้นเวลานักทดลองสังเกตดูอนุภาคนี้ในกระจก ทิศของ spin จะย้อนกลับ ทำให้เห็นเป็น antineutrino

ผลงานนี้ทำให้ Patrick Blackett (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1948) ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ที่ Imperial College เชื้อเชิญ Salam วัย 31 ปี ไปครองตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์ทฤษฎีผู้มีอายุน้อยที่สุดแห่ง Imperial College ของมหาวิทยาลัยลอนดอน และ Salam ได้ขอให้ทางมหาวิทยาลัยรับโอน Matthews เข้าเป็นอาจารย์ด้วย

คนทั้งสองได้ร่วมกันผลักดัน และสร้างกลุ่มวิจัยด้านฟิสิกส์ทฤษฎีของอนุภาคมูลฐานที่ใช้ Group Theory เสาะหาอนุภาคใหม่ๆ จนภาควิชาฟิสิกส์ของ Imperial College มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะศิษย์ของ Salam ที่ชื่อ Yuval Ne’eman นั้นได้เสนอทฤษฎี “Eight-Fold Way” ซึ่งนำไปสู่การพบอนุภาคตัวใหม่ คือ omega minus

นอกจากนี้ Salam กับลูกศิษย์ชื่อ Ronald Shaw ก็ยังได้พิสูจน์อีกว่าทฤษฎี Non-Abelian Gauge Theory ของ Yang และ Mills ที่ใช้ใน strong interaction สามารถนำไปใช้ใน weak interaction ได้ด้วย ผลงานเหล่านี้ทำให้ Salam ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ Royal Society ในปี 1959

ในปี 1967 Salam ได้ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต เมื่อสามารถสร้างทฤษฎีที่รวมอันตรกริยาไฟฟ้ากับอันตรกริยาอ่อนได้เป็นทฤษฎี electroweak แต่ในงานสัมมนา Nobel Symposium ที่ Stockholm Salam ได้แถลงทฤษฎีของเขา ไม่มีใครสนใจ เพราะแม้แต่ Murray Gellmann (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1969) ซึ่งทำหน้าที่สรุปความสำคัญและประเด็นสำคัญของการสัมมนา ก็ไม่ได้เอ่ยพาดพิงถึงผลงานของ Salam เลย แวดวงฟิสิกส์เริ่มให้ความสนใจในผลงานเมื่อ Steven Weinberg กับ Sheldon Glashow ซึ่งทำงานวิจัยอย่างอิสระจาก Salam ได้เสนอผลงานที่มีเนื้อหาและให้ผลลัพธ์เดียวกัน คือทำนายว่า เอกภพมีอนุภาค W และอนุภาค Z ที่ยังไม่มีใครเคยเห็น และทฤษฎียังทำนายว่ามีปรากฏการณ์ neutral current ด้วย ซึ่งคำทำนายเหล่านี้ทุกประเด็นได้รับการยืนยันโดยนักฟิสิกส์ที่ CERN ซึ่งทำงานอยู่ใกล้กรุง Geneva ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผลงานนี้ทำให้นักฟิสิกส์ทั้งสามได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1979 ร่วมกัน

ในด้านความรู้สึกส่วนตัวของ Salam นั้น เขารู้สึกเสียใจที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานวิจัยฟิสิกส์ที่อังกฤษ แต่ก็ตระหนักดีว่า ถ้าไม่ไปตนก็จะกลายเป็นคนไร้สมรรถภาพทางสมอง ครั้นเมื่อประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลกแล้ว Salam ก็ได้พยายามช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ไม่ให้ต้องละทิ้งประเทศของตนไปทำงานในต่างประเทศบ้าง

ดังนั้น จึงได้คิดจัดตั้งสถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีนานาชาติขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมให้นักฟิสิกส์จากประเทศต่างๆ ในโลกที่สามได้มาฟื้นฟูความสนใจและปฏิบัติการวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกเป็นเวลาสั้นๆ ที่สถาบันซึ่งจะมีชื่อว่า International Center for Theoretical Physics (ICTP) ที่เมือง Trieste ในอิตาลี

Salam ได้นำความคิดนี้ไปเจรจาขอความร่วมมือจาก UNESCO และนักการเมืองชั้นนำของโลก เช่น John F. Kennedy, Zhou En-lai, Francois Mitterand และ Margaret Thatcher จนทำให้นักวิชาการทั่วโลกตระหนักว่า นอกจาก Einstein แล้วไม่มีนักฟิสิกส์คนใดมีอิทธิพลบนเวทีวิชาการมากเท่า Salam
Abdus Salam รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จาก  King Carl XVI  แห่งสวีเดน เมื่อปี 1979
ในที่สุดปี 1964 ICTP ก็ถือกำเนิด โดยมี Salam เป็นผู้อำนวยการคนแรก และ Salam ได้อยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม 1993

ตามปกติ Salam เป็นคนทำงานหนักมากถึงวันละ 15 ชั่วโมง โดยแบ่งเวลาไปทำงานบริหารในตอนเช้า และกำหนดให้ช่วงบ่ายเป็นเวลาทำงานวิจัย บรรดาผู้ร่วมวิจัยกับ Salam ทุกคนต่างก็รู้สึกว่า Salam มีบุคลิกที่มีเสน่ห์ มีอารมณ์ขัน จนรู้สึกอบอุ่นและนึกไม่ถึงว่า อัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่และเก่งมากจะวางตัวสบายๆ เช่นนี้

Salam เชื่อมากว่า วิทยาศาสตร์คือกุญแจเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศที่ด้อยพัฒนาสามารถเจริญรุดหน้า เขาจึงสนับสนุนให้บรรดาประเทศมุสลิมส่งเสริมการทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์เหมือนดังที่เคยทำกันในอดีตตั้งแต่ยุคของ Avicenna และ Ibn al-Haytham ในเวลาต่อมา Salam ได้จัดตั้ง Third World Academy of Sciences ขึ้นและตัว Salam เองได้ดำรงตำแหน่งนายกคนแรกของสถาบัน

ในปี 1958 Salam ได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดี Ayub-Khan แห่งปากีสถาน และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหประชาชาติด้วย

แต่เมื่อรัฐบาลของ Khan ถูกโค่นอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่าง Salam กับรัฐบาลปากีสถานใหม่ก็เริ่มเสื่อมลง จนถึงจุดแตกหักในปี 1974 เมื่อประธานธิบดี Zulfikar Ali Bhutto (บิดาของนาง Benazir Bhutto) ประกาศว่า ชาวปากีสถานนิกาย Ahmadiyya ที่ Salam เป็นสมาชิกมิใช่มุสลิม แต่เป็นพวกนอกรีต ดังนั้น คนนิกายนี้จึงถูกห้ามเดินทางไป Mecca สุเหร่าของคนนิกายนี้ถูกเผา และถูกปาระเบิด ตัว Salam ถูกห้ามเดินทางไป Saudi Arabia และเมื่อ Salam ได้รับรางวัลโนเบล เขาถูกห้ามไม่ให้ไปบรรยายในที่ใดๆ ในปากีสถาน อีกทั้งไม่ให้พบนาง Benazir Bhutto ซึ่งขณะนั้นกำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้เหตุผลว่า นางไม่มีเวลาให้พบ

ดังนั้นถึงแม้ Salam จะได้รับเกียรติยศมากมายจากหลายประเทศ เช่นได้เป็นสมาชิกของสมาคมวิชาการใน 24 ประเทศ ทั้งในอเมริกา สวีเดน รัสเซีย ฯลฯ ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ 45 ปริญญาจาก 28 ประเทศ ได้เหรียญ Atom for Peace และได้รับเหรียญ Copley Medal ซึ่งเป็นเกียรติสูงสุดของ Royal Society รวมถึงได้ยศ KBE (Knight of the British Empire) จากอังกฤษ แต่กลับไม่ได้การยอมรับในบ้านเกิดของตนเอง

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 Salam ได้รับการตรวจพบว่าเป็นโรค supranuclear palsy (อาการคล้าย Parkinson) ที่ร่างกายตัวสั่นตลอดเวลา ทำให้เคลื่อนไหวลำบากต้องนั่งรถเข็น แต่ก็ยังพยายามทำงานวิจัย

ในปี 1993 ทาง ICTP ได้จัดงานที่ระลึกเป็นเกียรติแก่ Salam ซึ่งถือเป็นการอำลาครั้งสุดท้ายแก่ผู้ให้กำเนิดสถาบัน เพราะ Salam กำลังป่วยมากแล้ว และพูดไม่ได้เลย แต่ก็ยังฟังรู้เรื่อง ได้มีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมาร่วมงานสดุดีหลายคน และทุกคนต่างก็ได้กล่าวชื่นชมผลงานของ Salam หลังจากที่แขกผู้มีเกียรติทุกคนได้พูดแล้ว คนพูดคนสุดท้ายเป็นนักศึกษาหนุ่มจากปากีสถานซึ่งได้ทุนมาเรียนต่อที่ ICTP เมื่อเด็กหนุ่มพูดจบ เขาได้เดินเข้าไปโค้งคารวะ Salam อย่างนอบน้อม แล้วบอก Salam ซึ่งนั่งอยู่บนรถเข็นว่า “Sir, I am a student from Pakistan. We are very proud of you”

Salam ตัวสั่นด้วยความตื้นตัน และน้ำตาไหลริน

ในที่สุดนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลจากปากีสถานที่ถูกประเทศตัดขาดก็จบชีวิตอย่างสงบเมื่อเวลาเช้าของวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1996 ศพของเขาถูกนำไปฝังที่เมือง Rabwah ในปากีสถาน และหลังพิธีศพ เจ้าหน้าที่มุสลิมได้ขอให้ครอบครัวลบคำ Muslim ออกจากป้ายหลุมฝังศพ คือจาก “The First Muslim Nobel Laureate ให้เหลือเพียงว่า “The First Nobel Laureate”

แต่ในปี 2000 สถาบัน Government College ที่ Salam เคยเรียนได้จัดตั้งตำแหน่ง Salam Professor of Physics เพื่อเป็นเกียรติแก่ Salam บุคคลผู้ทุ่มเทชีวิตให้ฟิสิกส์ ทุกหนแห่งและตลอดเวลา ทั้งที่ Cambridge, Princeton, London และ Trieste แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในโลกที่สาม

ในปี 2008 Gordon Fraser ได้เขียนหนังสือชื่อ Cosmic Anger: The First Muslim Nobel Scientist ที่จัดพิมพ์โดย Oxford University Press หนังสือได้บรรยายชีวประวัติ การทำงานฟิสิกส์ และบทบาททางการเมืองของ Salam ว่า Salam ต้องการจะเก่งฟิสิกส์ (ทำได้) และนำปากีสถานสู่ความรุ่งเรืองด้านวิทยาศาสตร์ (ทำได้ระดับหนึ่ง)

หนังสือนี้จึงให้คำอธิบายอะไรที่ครอบคลุมมากกว่าประวัติทั่วไปของนักฟิสิกส์ระดับโลกคนหนึ่งซึ่งเป็น icon ผมครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น