สกว.- สกว.ระดมสมองเกจิทำแผนยุทธศาสตร์วิจัย เตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ของโลก โดยวิเคราะห์แนวโน้มระบบวิจัยประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พร้อมๆ กับสร้าง “สิ่งแวดล้อมสีเขียว”
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมระดมสมองบรรดาเกจิจากทุกภาคส่วนในเครือข่าย สกว. ร่วมทำแผนยุทธศาสตร์สนับสนุนการวิจัยของ สกว. พ.ศ. 2557-2560 รับมือความท้าทายใหม่ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มระบบวิจัยประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พร้อมๆ กับสร้าง “สิ่งแวดล้อมสีเขียว” บนประเด็นโจทย์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาและสนองต่อความต้องการของประเทศในสิบปีข้างหน้า โจทย์วิจัยของประเทศและโปรแกรมวิจัยที่ควรพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การสร้างนักวิจัยคุณภาพดีที่สามารถทำวิจัยได้อย่างต่อเนื่องโดยการบูรณาการทรัพยากรประเทศ ซึ่งการระดมความเห็นครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะทางและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเกือบร้อยคน
ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า กรอบยุทธศาสตร์การวิจัยของ สกว. มีทั้งส่วนที่สอดคล้องกับการวิจัยของประเทศและการบริหารจัดการงานวิจัยของ สกว.เอง ซึ่งจะต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและการบริหารงานของรัฐ รวมถึงโจทย์ของ สกว. เองด้วย ทั้งนี้ความท้าทายใหม่และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลกล้วนส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้ง New Growth Model และการเปลี่ยนแปลงของ สกว. จะต้องพัฒนารูปแบบใหม่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของประเทศมหาอำนาจและประเทศที่ถูกจัดเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ล้วนทำให้ประเทศไทยต้องพัฒนาตนเองด้วยฐานความรู้ที่จะต้องเข้มข้นขึ้น
"การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับสองของโลก ให้ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างไทยและจีน จากผลการวิจัย “มังกรหลากสี” ที่ สกว. ให้การสนับสนุนก็พบว่าไทยคือประตูค้าขายชายแดนของจีน ส่วนประเทศเกาหลีใต้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดด้านเทคโนโลยีจนทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก รวมถึงด้านอื่น ๆ อาทิ รากฟันเทียม เครื่องมือทางการแพทย์ หรือเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ ฯลฯ ปัจจุบันได้ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ไปอย่างกว้างขวางนอกเหนือจากกระแสวัฒนธรรมที่เกาหลีใต้ได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ทำแผนส่งเสริมการลงทุนงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร้อยละ 3 ของจีดีพีมาระยะหนึ่งแล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจตามที่ ศ.นพ.สุทธิพันธ์คือ จีนมองอาเซียนเป็นหนึ่งหน่วย และเพิ่มความสัมพันธ์ด้านธุรกิจกับภูมิภาคนี้มากขึ้น ดังนั้นเราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตั้งแต่ระดับผู้บริหารประเทศจนถึงประชาชนระดับรากหญ้า สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและรุนแรงมากขึ้นจะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนโฉมและไม่เหมือนเดิม สิ่งที่นักวิจัยต้องคิดกันคือ จะเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมกับการรับมือครั้งนี้ ทั้งกระแสเทคโนโลยีตะวันตกที่กำลังถาโถมเข้ามามากมาย โครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น ซึ่ง70% เป็นการลงทุนในระบบราง เราจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีอะไรบ้างที่พร้อมสนับสนุน รวมถึงการลดลงของคนจนทั่วโลกจากระบบเสรีนิยม เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายทั้งเก่าและใหม่ที่จะต้องขบคิดกันว่าเหตุใดประเทศไทยจึงยังไม่ก้าวหน้าในขณะที่เพื่อนบ้านต่างก็แซงและกำลังแซงไปเกือบหมดแล้ว
"ปัญหาใหญ่ของประเทศอันดับแรกคือ ความยากจน ที่จะต้องช่วยกันลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาคอร์รัปชั่น การกระจายรายได้ การปฏิรูปการศึกษา สิ่งแวดล้อม นโยบายของรัฐบาล ยาเสพติด ความเข้มแข็งของชุมชน และอื่น ๆ สกว.จึงต้องพัฒนาโจทย์วิจัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารงานวิจัยที่จะต้องเป็นผู้นำต่อไปในอนาคต ในทศวรรษที่ 3 สกว.ต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแทนการเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง โดยทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น เลือกประเด็นการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อช่วยเหลือสังคมและตรงประเด็นสำคัญของการพัฒนาประเทศให้ได้ จึงต้องช่วยกันคิดที่จะนำประโยชน์จากผลการวิจัยไปใช้พัฒนาประเทศจริงๆ" ศ.นพ.สุทธิพันธ์กล่าว