บ้างว่าเป็นอาถรรพ์ บ้างว่าด้วยแรงสั่นสะเทือนจากการเดินชมของนักท่องเที่ยวทำให้รูปปั้นอียิปต์โบราณในพิพิธภัณฑ์อังกฤษขยับได้ แต่มีคำอธิบายชัดๆ ทางฟิสิกส์ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว
เป็นที่ฮือฮาไม่น้อยสำหรับคลิปรูปปั้นอียิปต์โบราณของชายชื่อว่า “เนบ-เซนู” (Neb-Sanu) อายุราว 4,000 ปี ที่สูงประมาณ 10 นิ้ว ขยับเองได้อย่างช้าๆ ภายในพิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์ (Manchester Museum) ของอังกฤษ
หากไม่ใช่การโฆษณาแบบบอกต่อ (viral ad) ดิอินเตอร์เนชันนัลบิซิเนสไทม์รายงานว่า การสั่นสะเทือนเป็นอีกคำอธิบายถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยสิ่งที่ผู้ได้เห็นคลิปดังกล่าวน่าจะสังเกตได้คือรูปปั้นจะขยับเฉพาะเมื่อมีคนเดินผ่านเท่านั้น
แรงสั่นสะเทือนเกิดได้เมื่อมีการสัญจรด้วยเท้าผ่านไปมา ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป อ้างตามรายงานดังกล่าวแรงสั่นสะเทือนจะยิ่งมากขึ้นหากพื้นห้องทำด้วยไม้เช่นเดียวกับห้องจัดแสดงรูปปั้นอียิปต์โบราณดังกล่าว และวัตถุที่วางบนหิ้งกระจกอย่างรูปปั้นเนบเซนูก็ขยับได้เป็นระยะทางสั้นๆ
เดวิด ธิคเกตต์ (David Thickett) นักอนุรักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) ได้สืบค้นเรื่องความเสียหายต่อวัตถุในพิพิธภัณฑ์อันเนื่องจากการสั่นสะเทือน จากรายงานทางวิชาการที่นำเสนอเมื่อปี 2002 ภายในการประชุมคณะกรรมการนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ ในกรุงริโอเดอจาเนโร บราซิล
จากการสืบค้นข้อมูลดังกล่าวธิคเกตต์ ระบุว่า หลายห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์บริติชมีข้อมูลบันทึกระดับการสั่นสะเทือนพื้นหลังไม่ว่าตำแหน่งใดก็ตามอยู่ระหว่าง 0.006-0.15 แรงจี (g-force)* ซึ่งการที่วัตถุขยับได้นี้การสั่นสะเทือนต้องเอาชนะความเสียดทานที่อยู่ระหว่างฐานวัตถุกับหิ้งวางวัตถุนั้นได้
“ความเสียดทานขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ น้ำหนักของวัตถุ พื้นที่สัมผัสระหว่างวัตถุหรือตัวพยุงวัตถุนั้นกับหิ้งวางวัตถุนั้น และตัวหิ้งกับวัตถุนั้นหรือวัสดุพยุงวัตถุ” ธิคเกตต์กล่าว
ทั้งนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์บริติชนั้นความสั่นสะเทือนโดยรอบได้คลายกระเบื้องของวัตถุจำลองศิลปะแอซเทค (Aztec) และยังปลิดรูปแกะสลักเสือดาวจากงาช้างแอฟริกันให้หลุดจากผนังที่ยึดวัตถุดังกล่าวไว้
ธิคเกตต์ยังพบตัวอย่างวัตถุบนหิ้งกระจกขยับได้ด้วยความสั่นสะเทือนระดับต่ำกว่า 0.02 แรงจี หรือรูปปั้นทองแดง 1 ปอนด์ ขยับขณะที่รูปแกะสลักหนัก 0.7 ปอนด์ที่อยู่ใกล้เคียง ยังอยู่นิ่งบนชั้นแก้ว
หนึ่งในแนวทางแก้ไขกรณีวัตถุขยับคือใส่ขี้ผึ้งเล็กน้อยที่ฐานของวัตถุ แต่นักอนุรักษ์วัตถุต้องตระหนักด้วยว่าขี้ผึ้งนั้นอาจสร้างความเสียหายแก่วัตถุจำลองที่แตกหักได้
การทดลองของมิค
นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้ชื่อว่า “มิค” (Mick) ได้เผยการทดลองส่วนตัวลงเว็บไซต์ Metabunk.or เพื่อแสดงให้เห็นว่า วัตถุสามารถขยับไปรอบๆ ได้เนื่องจากความสั่นสะเทือน โดยใช้โต๊ะกระจกทดลองแทนหิ้งกระจกของพิพิธภัณฑ์ และใช้ขวดบรรจุเกลือกระเทียมวางบนแท่งไม้เพื่อแทนวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ผลคือการสั่นสะเทือนบนโต๊ะเพียงพอที่จะทำให้วัตถุหมุนไปรอบๆ
อย่างไรก็ดี มีคำถามอีกว่าทำไมรูปปั้นเพิ่งมาขยับในตอนนี้ ทำไมไม่มีใครสังเกตเห็นการขยับดังกล่าวมาก่อน ซึ่งคำอธิบายหนึ่งคือรูปปั้นเนบ-นาซูเพิ่งจะถูกย้านที่ใหม่มาอยู่ที่ส่วนจัดแสดงโลกโบราณที่เพิ่งเปิดเมื่อ ต.ค.ปีที่ผ่านมา
ขณะที่มิคเขียนเสริมอีกว่า การทดลองของเขานั้นแสดงการเคลื่อนไหวที่ขึ้นอยู่สภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นไปได้ว่าที่เพิ่งเห็นการขยับนั้นเพราะบางอย่างน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพียงแค่ความชั้นของหิ้งวางที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย ตำแหน่งของรูปปั้นบนหิ้ง หรือแม้แต่ตำแหน่งของวัตถุอื่นๆ ก็ส่งผลต่อการสั่นสะเทือนได้ หรือแม้แต่โครงสร้างของตึกที่เพี้ยนไปเล็กน้อยก็ส่งผลได้
ส่วนรูปปั้นอื่นๆ ไม่ขยับนั้นได้รับคำอธิบายว่า เป็นเพราะลักษณะเฉพาะตัวของรูปปั้นอื่นๆ ที่สั้นกว่า ทำให้จุดศูนย์ถ่วงอยู่ต่ำกว่า และยังทำจากวัสดุที่แตกต่างจากรูปปั้นเนบ-เซนู ซึ่งมิคเชื่อว่ารูปปั้นอียิปต์โบราณนี้หมุนรอบจุดที่ฐานวาง และหมุนแค่ 180 องศา เพราะหิ้งเอียงลงไปด้านหน้าส่วนจัดแสดง ซึ่งรูปปั้นจะหมุนไปถึงจุดที่จุดศูนย์ถ่วงต่ำสุด จึงหยุดหมุน
หมายเหตุ
* แรงจีเป็นการวัดการรับรู้ถึงอัตราเร่งจากน้ำหนัก ไม่ใช่แรงแต่เป็นแรงต่อหน่วยมวล หรือ น้ำหนักต่อหน่วยมวล เนื่องจากแรงที่รับรู้ได้คือน้ำหนัก