“ออร์ฟิช” หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “ปลาพญานาค” เป็นปลาทะเลน้ำลึกที่ห่างไกลชายฝั่ง ทำให้เรารู้จักปลาชนิดนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่มักเจอเมื่อเกยฝั่งหรือไม่ก็ลอยขึ้นผิวน้ำ แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีคลิปที่บันทึกภาพของปลาลึกลับนี้ออกมาให้เห็น และเผยด้านที่เราไม่เคยเห็นของปลาชนอดนี้ขณะมีชีวิตอยู่
หนึ่งในคลิปที่ว่าเป็นคลิปที่บันทึกโดยยานควบคุมระยะไกลอาร์โอวี (remotely operated vehicle: ROV) ตั้งแต่ ส.ค.2011 ซึ่งไลฟ์ไซน์รายงานว่าทีมวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้เพิ่งเผยแพร่รายละเอียดที่ได้จากการศึกษาคลิปลงวารสารฟิช ไบโอโลจี (Fish Biology) ฉบับเดือน มิ.ย.2013 นี้
มาร์ค เบนฟิล์ด (Mark Benfield) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหลุยเซียนาสเตท (Louisiana State University) สหรัฐฯ และเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยที่บันทึกวิดีโอปลาออร์ฟิชไว้ได้ กล่าวว่า คลิปดังกล่าวเป็นวิดีโอที่ยาวที่สุด และมีคุณภาพดีสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ซึ่งคลิปนี้พร้อมด้วยคลิปอื่นของปลาออร์ฟิช (oarfish) อีก 4 คลิปได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับปลาทะเลชนิดนี้
เชื่อกันว่าปลาออร์ฟิชเป็นปลาที่มีกระดูกยาวที่สุดในโลก โดยเบนฟิล์ดให้ข้อมูลว่า จากการวัดเชื่อถือได้ ออร์ฟิชยาวถึง 8 เมตร แต่อาจเจริญเติบโตจนมีลำตัวยาวได้ถึง 15 เมตร ส่วนข้อมูลจากคลิปเผยให้เห็นว่าปลาออร์ฟิชว่ายน้ำลึกลงไปจากผิวน้ำประมาณ 111 เมตร ซึ่งครีบหลังที่ดูอ่อนช้อยเป็นลูกระนาดนั้นทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนที่ให้แม่นยำ
“ปลาออร์ฟิชว่ายโดยเชิดหัวขึ้นส่วนหางห้อยลงด้านล่าง สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า-ถอยหลัง ขึ้น-ลงได้อย่างรวดเร็ว” เบนฟิล์ดบอกข้อมูลเว็บไซต์อาวเออร์อะเมซิงแพลเนตในเครือไลฟ์ไซน์
ช่วงปลายเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างยานอาร์โอวีกับปลาออร์ฟิช คลิปเผยให้เห็นว่าออร์ฟิชแสดงอาการเหนื่อยหน่ายจากการถูกตาม และเริ่มเคลื่อนตัวเป็นลูกคลื่นไปทั้งตัว จากนั้นก็เร่งความเร็วออกห่างยานอาร์โอวี ซึ่งพฤติกรรมนี้เผยออกมาไม่นานก่อนที่ปลาออร์ฟิชจะหายไปในความมืดมิดของมหาสมุทร
ความจริงแล้วยานอาร์อาร์โอวีไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อศึกษาปลาออร์ฟิชโดยตรง เพราะเบนฟิล์ดและคณะใช้ยานควบคุมระยะไกลเพื่อประเมินความเสียหายจากเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันดีพวอเตอร์ฮอไรซอน (Deepwater Horizon) ของบีพี (BP) ระเบิด
ระหว่างที่ทีมวิจัยสังเกตเห็นสิ่งที่น่าจะเป็นปลาออร์ฟิช ก็ปรากฏว่ามีตัวปรสิตไอโซพอด (isopod) ซึ่งเป็นสัตว์เป็นสัตว์น้ำเปลือกแข็งประเภทหนึ่งเกาะอยู่ที่สันหลัง และอ้างตามการศึกษาของทีมวิจัยไลฟ์ไซน์ระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้
ปลาออร์ฟิชที่มีความหมายว่า “ไม้พาย” ได้ชื่อเช่นนี้ด้วยลักษณะรยางค์บริเวณสันหลังที่คล้ายไม้พาย ซึ่งเบนฟิล์ดอธิบายว่าเป็นลักษณะที่ใช้เพื่อช่วยสร้างสมดุลและว่ายน้ำให้ตัวตั้งตรง
นอกจากนี้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิรุนแรงที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 มีปลาออร์ฟิชประมาณ 20 ตัวขึ้นมาเกยฝั่งที่ญี่ปุ่น ซึ่งเบนฟิล์ดกล่าวว่า เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าปลาออร์ฟิชอาจจะรู้เหตุการณ์รุนแรงที่จะเกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ว่าเป็นไปได้อย่างไร แต่ก็อาจจะเป็นเพียงเรื่องบังเอิญก็ได้