xs
xsm
sm
md
lg

น่าห่วง! เสือหายากถูกเชื้อไวรัสหัดสุนัขคุกคาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสือในป่ากำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากอีกปัจจัยอย่างโรคไข้หัดสัตว์สุนัข ที่เดิมติดเชื้อเฉพาะในเจ้าตูบเท่านั้น (บีบีซีนิวส์)
ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ป่าเตือนเสืออินโดนีเซียซึ่งเป็นสัตว์หายากของโลก กำลังถูกคุกคามถึงชีวิตจากไวรัสที่มีสุนัขบ้านเป็นพาหะ ซึ่งปกติโรคไข้หัดสุนัขจะก่อโรคในเจ้าตูบเท่านั้น แต่ไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาโรคได้วิวัฒนาการจนก่อโรคในสัตว์อื่นได้

ดร.จอห์น ลูอิส (John Lewis) ผู้อำนวยการสัตวแพทย์สัตว์ป่านานาชาติ (Wildlife Vets International) เผยว่า มีหลักฐาน  ชี้ว่าเสืออินโดนีเซียกำลังเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หัดสุนัข (Canine distemper virus) หรือ ไวรัสซีดีวี (CDV) ซึ่งปกติโรคดังกล่าวจะติดเฉพาะในสุนัข แต่ไม่ช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ไวรัสก่อโรคดังกล่าวได้วิวัฒนาการจนทำให้สัตว์กลุ่มอื่นติดเชื้อได้

จากรายงานของบีบีซีนิวส์ ดร.ลูอิส วางแผนที่จะทำงานร่วมกับสัตวแพทย์อินโดนีเซีย เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ในการปกป้องเสือประจำชาติของอินโดนีเซียจากเชื้อไวรัสดังกล่าว ซึ่งเป็นเชื้อที่ใกล้เคียงกับโรคหัด และมีการระบุถึงไวรัสซีดีวีเมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 รวมถึงมีการอ้างถึงว่าไวรัสดังกล่าวเป็นสาเหตุการตายของไธลาซีน (thylacine) หรือเสือทัสมาเนีย (Tasmanian tiger)
 
“ถ้าย้อนเวลากลับไป 30 หรือ 40 ปีก่อน มันคือโรคของสุนัข มันคือไวรัสของสัตว์ฟันเขี้ยว และติดเชื้อเฉพาะในสัตว์จำพวกสุนัขเท่านั้น แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาไวรัสได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบสัตว์ที่มันสามารถทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งรวมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอย่างแมวน้ำ และสัตว์จำพวกเสือได้” ดร.ลูอิสอธิบาย

ดร.ลูอิส ยังอธิบายแก่บีบีซีนิวส์อีกว่า ไวรัสซีดีวีต้องการ “แหล่งรังโรค” เช่นเดียวกับกรณีของประชากรสุนัข เพื่อคงประสิทธิผลในการก่อโรค ซึ่งสภาพดังกล่าวปรากฏขึ้นเมื่อมีเสือตัวแรกได้รับการบันทึกว่าติดโรคดังกล่าว โดยเมื่อกลางทศวรรษที่ 1990 นั้นประชากรสิงโตในเซเรนเกติ แอฟริกาได้ตายลง 30% เนื่องจากติดเชื้อไวรัสซีดีวีไวรัสจากสุนัขในหมู่บ้านที่อยู่รอบๆ ป่า

นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดเชื้อไวรัสในประชากรเสือเอเชียด้วยเช่นกัน โดยนับแต่ปี 2000 ในรัสเซียตะวันออกไกล (Russian Far East) มีรายงานว่าเสือจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมแปลกๆ และเข้าไปยังหมู่บ้านคนโดยไม่แสดงอาการหวาดหลัวคนในหมู่บ้าน และผลจากการตรวจเนื้อเยื่อของเสือเหล่านั้นอย่างน้อย 1 คู่ ยืนยันว่ามีการติดเชื้อไวรัสซีดีวี แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่มีกรณีการติดเชื้อไวรัสนี้มากนัก โดยคาดว่าน่าจะมีเสือติดเชื้ออยู่ 3-4 ตัว แต่ก็เป็นไปได้ว่ายังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อโดยไม่ได้รับการวินิจฉัย

แม้ว่ามีเสือบางตัวที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อกรกับไวรัสไข้หัดสุนัขได้ แต่เสือจำนวนมากก็พ่ายแพ้ต่อโรคหากได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าว โดย ดร.ลูอิสได้อธิบายว่า อาการของโรคแสดงออกหลายอย่าง เสือบางตัวตายจากปัญหาในระบบหายใจ เช่น เป็นโรคปอดบวม เป็นต้น บางตัวก็มีอาการทางระบบประสาท เช่น สูญเสียอาการหวาดกลัวคน หรือ มีอาการชักอย่างปัจจุบันทันด่วน เป็นต้น

“อย่างไรก็ดี เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสซีดีวีในเสือมากพอที่จะรู้ได้ว่า เปอร์เซ็นต์ที่เสือจะตายเป็นเท่าไหร่ เรามีข้อมูลจากสวนสัตว์และป่าอย่างละนิดละหน่อย แต่ก็มีข้อมูลมากเกี่ยวกับโรคไข้หัดในพื้นที่ และข้อมูลเสือกินสุนัข แต่การที่เสือออกมากินสุนัขรอบๆ หมู่บ้านก็ไม่ใช่เรื่องปกติแน่ๆ ดังนั้น น่าจะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เสือสัมผัสกับไวรัสซีดีวี” ดร.ลูอิส กล่าว

แม้จะสันนิษฐานว่าสาเหตุการติดเชื้อไวรัสซีดีวีในเสือนั้นเกิดจากการสัมผัสกับสุนัขที่เป็นพาหะของโรค แต่ ดร.ลูอิส กล่าวว่า โครงการวิจัยเพื่อหาแหล่งเชื้อโรคซีดีวีในเสืออามัวร์หรือเสือไซบีเรียในรัสเซียตะวันออกไกลนั้น กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเสือก็เป็นเรื่องน่าห่วง โดยเสือเริ่มไม่กลัวคนล่า และเอาตัวเองเข้าไปเผชิญสถานการณ์ขัดแย้ง ทำให้เสือตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น

อีกทั้งในการเยือนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ลูอิส ได้คุยกับสัตวแพทย์สัตว์ป่าของท้องถิ่น ซึ่งทำให้ทราบสถานการณ์ที่น่าห่วงว่า เชื้อไวรัสซีดีวีอาจจะแฝงอยู่ในประชากรของเสือสุมาตราที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤตแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้เห็นพฤติกรรมแปลกๆ ที่เสือแสดงออก ซึ่งคล้ายกรณีเสือในรัสเซียที่เข้าไปในหมู่บ้านโดยไม่กลัวคน

ผู้อำนวยการสัตวแพทย์สัตว์ป่านานาชาติ กล่าวว่า สำหรับเขาแล้วโรคหัดสุนัขได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเสือในสุมาตราแล้ว แต่ก่อนที่จะฟันธงเช่นนั้นจำเป็นต้องวินิจฉัยชิ้นส่วนสมองของเสือเสียก่อน พร้อมทั้งบอกด้วยว่าไวรัสซีดีวี คือภัยคุกคามเสือสุมาตราอันดับ 3 ต่อการจากการสูญเสียถิ่นอาศัยและการถูกล่า

ดร.ลูอิส จะกลับไปเกาะสุมาตราอีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อรวมกลุ่มสัตวแพทย์จากหลายพื้นที่ในการทำงานเกี่ยวกับเสือ โดยเป้าหมายเพื่อถกกันว่าจะหาวิธีตัดสินใจง่ายๆ ว่าตัวอย่างใดบ้างที่ต้องเอามาจากเสือซึ่งอยู่ในการดูแลของคนทั่วเกาะสุมาตรา ทั้งนี้ก็เพื่อการตรวจวินิจฉัย รวมถึงตัวอย่างที่จำเป็นจากสุนัขในท้องถิ่นเพื่อนำไปวินิจฉัยเช่นกัน และหาสถานที่ในการส่งตัวอย่างไปทดสอบ พร้อมทั้งหาวิธีในการเก็บและขนส่งตัวอย่างเหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ทั้งนี้ เสือสุมาตราเป็นเสือที่พบได้เฉพาะบนเกาะสุมาตรา และจากการประเมินประชากรคาดว่าเหลือเสือชนิดนี้ในธรรมชาติเพียง 700 ตัวในป่า แต่มีเพียง 40% เท่านั้นที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์







กำลังโหลดความคิดเห็น