จุดประสงค์ของการพัฒนาเทคโนโลยี ก็เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาและเพิ่มความสะดวกให้แก่มนุษย์ แต่กับปากท้อง โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร ที่เราพยายามหาวิธีเพิ่มผลิตอย่างในยุคก่อนที่ใช้ “เคมี” เป็นตัวเร่ง และมาในยุคนี้ที่เน้นปรับแต่งพันธุกรรมให้ต่างไปจากธรรมชาติสร้าง อย่าง “จีเอ็มโอ” ก็ยังเป็นที่ถกเถียงและกังขากันถึงพิษภัยที่จะตามมานับทศวรรษ
กรณีล่าสุด มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และบริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด ได้ทดลองปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) สายพันธุ์ NK603 ในแปลงทดลองแบบเปิดขนาด 5 ไร่ ที่สถานีวิจัยและอบรมบึงราชนก ของคณะเกษตรศาสตร์ มน.ในจังหวัดพิษณุโลก การทดลองครั้งนี้ ทางคณะเกษตรฯ มน.ระบุว่า เพื่อพัฒนาด้านความปลอดภัยทางชีวิภาพ ต่อเนื่องจากการทดสอบในระดับโรงเรือน โดยข้าวโพดสายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติเด่น คือ ต้านทานต่อการทำลายของสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเสต จะทำให้การกำจัดวัชพืชมีประสิทธิภาพ และลดการปนเปื้อนสารเคมีสู่สิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การทดลองเพาะปลูกข้าวโพด NK603 ในระดับโรงเรือน ได้รับการเห็นชอบจากกรมวิชาการเกษตรไปแล้ว เมื่อเดือน มี.ค.54 และจากนี้ มน.มีแผนจะทดลองในแปลงเปิด ระหว่าง เม.ย.-ต.ค.56 ซึ่งได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในท้องถิ่น เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
แค่เพียงได้ยินว่าจะมีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย นั่นก็เพราะหวั่นเกรงเรื่องความปลอดภัย ทั้งในแง่การบริโภค และการปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอสู่ธรรมชาติ รวมถึงประเด็นสำคัญคือกรรมสิทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ที่นำมาใช้ในการทดลอง
- “จีเอ็มโอ” จัด “ยีน” ตามใจ ออกแบบได้ตามต้องการ
พืชจีเอ็มโอชนิดแรกของโลกที่ได้วางขายคือ มะเขือเทศเฟลเวอร์ เซเวอร์ (Flav Savr) ของแคลเจน (Calgen) โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) รับรองในปี 1994 ให้จำหน่ายได้ทั้งในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เฟลเวอร์ เซเวอร์ เป็นมะเขือเทศสุกช้า เพื่อแก้ปัญหาการขนส่งไปจำหน่ายระยะไกล แต่เมื่อนำมาขายจริงกลับไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะนอกจากจะไม่ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งลงแล้ว รสชาติก็ไม่ดี แถมยังมีราคาสูงกว่ามะเขือเทศที่ไม่เป็นจีเอ็มโออีกด้วย
จากนั้นพืชจีเอ็มโอชนิดต่างๆ จึงทยอยเข้าสู่ท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ข้าวโพด คาโนลา และน้ำมันเมล็ดฝ้าย ขณะเดียวกันก็มีการทดลองในพืชอาหารและพืชพลังงานอีกหลายชนิด และหลังจากมอนซาโต้ซื้อกิจการของแคลเจนไป มะเขือเทศพันธุ์ดังกล่าวก็ไม่ปรากฏวางจำหน่ายอีกเลย
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมนั้นคือ ถ้าถ่ายสารพันธุกรรมจากจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อสาเหตุโรคเข้าไป ก็จะเกิดความเสี่ยงสูง อีกทั้งในในขั้นตอนของการถ่ายดีเอ็นเอนั้นก็จะต้องถ่ายผู้ช่วย (promotor) แม้ดีเอ็นเอเป้าหมายจะไม่ใช่ไวรัส แต่ดีเอ็นผู้ช่วยก็อาจก่อปัญหากับดีเอ็นเอบางตัวอีกด้วย
- เทคโนโลยีตัดและต่อได้ตามใจ สุดท้ายร้ายหรือดี?
ส่วนข้อเสียที่ยังอยู่ในประเด็นถกเถียงกันก็คือ พืชตัดต่อพ้นธุกรรมอาจทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้ เกิดการต้านยาปฏิชีวินะ เกิดไวรัส วัชพืช และสารพิษชนิดใหม่ รวมถึงเกิดศัตรูที่มีความต้านทานสูงขึ้น และในแง่เศรษฐกิจการเมืองอาจกลายเป็นทาสความรู้ทางเทคโนโลยี และเกิดการผูกขาดพันธุ์พืช
แม้จะมีการวิเคราะห์ทดสอบความปลอดภัยในการบริโภคเบื้องต้น แต่ก็ยังไม่สามารถระบุผลกระทบโดยตรงในระยะยาวได้ว่าจะปลอดภัยเหมือนที่ธรรมชาติสร้างหรือไม่ ทั้งนี้ ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนรายงานเรื่อง “สินค้า GMOs : ความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหารและการบริโภค” โดยระบุถึงข้อกังวลในการใช้ผลิตภัณฑ์จากจีเอ็มโอมาทำเป็นอาหารไว้ในประเด็นต่างๆ
ทั้งนี้ ในแง่ความเทียบเท่าในแง่คุณค่าอาหาร นั้น หากจะนำพืชจีเอ็มมาใช้แทนอาหารก็สามารถพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม ที่ตัดต่อยีนสร้างโปรตีนที่เป็นพิษต่อแมลง หรือบีที (BT Toxin) แม้จะมีโปรตีนและสารอาหารอื่นๆ เทียบเท่ากับธรรมชาติ แต่ในเมล็ดธัญพืชเหล่านี้ก็จะมีโปรตีนบีที ท็อกซินอยู่ ซึ่งถือว่าต่างไปจากธรรมชาติ โดยยังไม่มีข้อมูลว่าการบริโภคบีที ท็อกซิน ในระยะยาวจะกระทบต่อสุขภาพหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการตัดต่อยีนเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโปรตีนให้ถั่วเหลือง และแม้ถั่วเหลืองจะมีคุณค่าของโปรตีนเพิ่มขึ้นจริง แต่พบฮอร์โมนชนิดหนึ่งเพิ่มสูงขึ้นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งอาจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
ส่วนในแง่ผลกระทบต่อร่างกายที่เป็นกังวล คือ โอกาสเกิดภูมิแพ้ กระทบภูมิคุ้มกัน ในรายงานฉบับเดียวกันยังระบุว่า แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่รู้ชัดถึงสาเหตุของโรคภูมิแพ้ในมนุษย์ แต่กรณีการทดลองย้ายยีนจากถั่วบราซิลนัทมาใส่ในถั่วเหลืองเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโปรตีน พบว่า ถั่วเหลืองดังกล่าวได้รับยีนสร้างสารก่อภูมิแพ้จากบราซิลนัทมาด้วย (ชาวอเมริกันส่วนใหญ่แพ้ถั่วบราซิลนัท) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถทราบได้ว่า การตัดต่อยีนในลักษณะใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้
นอกจากนี้ การบริโภคพืชตัดต่อพันธุกรรมในระยะยาวอาจส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน เช่น การทดลองในหนูให้กินมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรมที่มีการสร้างแลคติน กับมันฝรั่งปกติที่เพิ่มสารแลคติน พบว่า หนูที่กินมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรม มีอาการลำไส้บวมและน้ำหนักตัวลดลง ขณะที่หนูอีกกลุ่มไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการวิจารณ์ว่าไม่มีความสมบูรณ์ แต่ก็ได้จุดประเด็นถึงความเสี่ยงของการบริโภคอาหารจีเอ็ม
ทั้งนี้ ร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น เมื่อได้รับโมเลกุลแปลกปลอม ถ้าหากเราบริโภคพืชตัดต่อพันธุกรรมที่มีการแสดงออกของยีนใหม่ๆ จะทำให้มีโอกาสได้รับโมเลกุลแปลกปลอมที่ต่างจากธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายระยะยาวในรูปแบบของพิษ หรือถ้าโมเลกุลแปลกปลอม คือดีเอ็นเอที่สามารถตัดต่อเข้ากับยีนของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดได้ง่าย ก็จะเกิดความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีก
เพราะการตัดต่อยีน คือการแทรกตัวของยีนเข้าไปต่อเข้ากับพืชอย่างสุ่ม และไม่สามารถระบุตำแหน่งของยีนได้ ผลกระทบอาจเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่อาจคาดเดา
- การพัฒนาเทคโนโลยีคือความท้าทาย
ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพของไทย เปิดเผยว่า ถึงเวลาที่ควรปล่อยให้มีการทดลองปลูกจีเอ็มโออย่างชัดเจน เพราะในหลายประเทศก็ปลูกจีเอ็มโอ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ไม่ต้องการเกษตรเคมี แต่ยอมรับได้กับพืชเหล่านี้ ซึ่งที่จริงแล้วในประเทศไทยมีการทดลองจีเอ็มโอมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ แต่การที่ มน.ร่วมมือกับบริษัท มอนซานโต้ นั้น ก็ต้องระวังให้ดี อย่าให้ถูกเอาเปรียบ
ทั้งนี้ มติ ครม.วันที่ 25 ธันวาคม 2550 ได้กำหนดเงื่อนไขของการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอว่า ถ้าจะทดลองปลูกในพื้นที่เปิด จะต้องทำในพื้นที่ของรัฐ โดยต้องมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนและต้องยื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมอนซานโต้จึงใช้ช่องทางนี้ ผ่านพื้นที่ของ ม.นเรศวร
ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดี มน.ผู้ผลักดันให้เกิดการทดลองกับมอนซานโต้ครั้งนี้ นับเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพด โดยหลายพันธุ์ที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ให้เหตุผลว่า เมล็ดข้าวโพดที่ปลูกในไทยมี 4 สายพันธุ์ และลูกผสมอีก 3 สายพันธุ์ เมื่อทรัพยากรเริ่มหมดไป พร้อมทั้งปัญหาศัตรูพืช จึงต้องหาทางเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ไม่ต้องการซื้อพันธุ์จากต่างประเทศ ซึ่งนักวิชาการต้องคิดถึงข้าวโพดที่ก้าวทันโลก ใช้คุณสมบัติเด่นของสายพันธุ์ต่างๆ มาผสมกันเพื่อต้านทานโรค
ทั้งนี้ ดร.สุจินต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ข้าวโพดจีเอ็มโอประสบความสำเร็จมาแล้วใน 19 ประเทศ หากรัฐบาลสนับสนุนก็จะถือเป็นโครงการนำร่อง เพราะมีประโยชน์ คือ ลดสารเคมี และแข่งขันกับประเทศอื่นได้
- “ปนเปื้อน” คือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
นับตั้งแต่กรณีฝ้ายบีที ที่มอนซานโต้เคยนำมาทดลองปลูกที่ จ.เลย เมื่อปี 2538 โดยเกิดการปนเปื้อน และกรณีล่าสุด คือมะละกอ ของกรมวิชาการเกษตร ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งทุกประเทศที่มีการทดลองก็ล้วนแต่เกิดเหตุปนเปื้อน
“ข้าวโพดมีละอองเกสรนับล้าน ซึ่งในระยะครึ่งกิโลเมตร ละอองเกสรนับแสนสามารถลอยไปปนกับพืชชนิดอื่นได้” นายวิฑูรย์ อธิบาย อีกทั้งก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2552 ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบตัวอย่างพืช ใน 768 ตัวอย่าง พบพืชดัดแปลงพันธุกรรมจำนวน 17 ตัวอย่าง ใน ข้าวโพด มะละกอ ฝ้าย ถั่วเหลือง และพริก
ทั้งนี้ หากเกิดกรณีการปนเปื้อนกับพืชพื้นเมือง แน่นอนว่ามีผลโดยตรงต่อเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตอื่นๆ ที่ส่งออกสู่ประเทศที่ปฏิเสธจีเอ็มโอ อย่างสภาพยุโรป ต้องถูกตีกลับ หรือเกษตรกรอาจจะต้องถูกบังคับให้ใช้ยาปราบวัชพืชที่เป็นเหตุให้สร้างพืชจีเอ็มโอนั้นๆ ขึ้นมา และแน่นอนว่า จะมีปัญหาเรื่องสิทธิในการใช้เมล็ดพันธุ์อีกด้วย
ในความกังวลเรื่องการปนเปื้อน รศ.ดร.จวงจันทร์ ดวงพัตรา นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย และอาจารย์ภาควิชาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวระหว่างการทำประชาพิจารณ์ โดยไม่ได้ปฏิเสธปัญหานี้ แต่กลับตอกย้ำว่า เรารับประทานถั่วเหลืองจีเอ็มโอต่อเนื่องมา 10 ปีมาแล้ว ถ้าจะต่อต้านโครงการดัดแปลงพันธุธรรมสายพันธุ์ NK 603 ก็คงเป็นเรื่องของการกีดกันทางการค้า
อย่างไรก็ดี การทดลองปลูกจีเอ็มโอมีระบบและมีวิธีการตรวจสอบที่ชัดเจน ซึ่งในความเห็นของนักวิชาการทางด้านนี้ ระบุว่า ไม่เห็นจะต้องกลัวเทคโนโลยีชุดนี้ เพราะทั่วโลกทำได้แล้ว ส่วนกฎหมายด้านไบโอเซฟตี้ในประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่ออกมา แต่ก็มีระเบียบข้อบังคับในการทดลองที่ชัดเจน
ทั้งนี้ หนึ่งในผู้คัดค้านการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโออย่างไบโอไทย โดยนายวิฑูรย์ก็ระบุชัดว่า ไม่ได้คิดจะขัดขวาง 100% สามารถทดลองในแปลงเแบบเปิดได้ ถ้าทำตามเงื่อนไขอย่างตรงไปตรงมา ต้องให้มีมาตรการด้านไบโอเซฟตีที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ หากเกิดความเสียหาย ต้องมีผู้พร้อมรับผิดชอบ ไม่ใช่เหมือนกรณีการปนเปื้อนอย่างที่ผ่านมา
- ย้อนบทเรียนจากยุค “ปฏิวัติเขียว” ได้ทั้งปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง
การปฏิวัติเขียวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 1963-1983 เมื่อช่วยเพิ่มผลผลิตอาหารให้โลกของเรา ช่วงนั้นเรามีข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดเพิ่มขึ้น 3-5% ต่อปี แต่องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ก็รายงานว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษหลังจากนั้น ผลผลิตดังกล่าว ก็มีจำนวนลดลง นั่นเพราะพื้นที่เพาะปลูกได้ขยายตัวมากขึ้น โดยขยับไปใช้บริเวณที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้องการการจัดการชลประทาน และพื้นดิน
ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรมาใช้เพื่อการอุตสาหกรรมอาหารทั้งกับมนุษย์และสัตว์มีเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการขยายการเพาะปลูกไปสู่พื้นที่ที่ไม่สมบูรณ์ จึงมีตัวช่วยแก้ปัญหาอย่าง “ปุ๋ยเคมี” เข้ามา เมื่อปุ๋ยเคมีถูกนำมาใช้มากเข้า ก็ทำให้พืชอ่อนแอ ไม่ทนทานต่อศัตรูพืช จึงนำไปสู่การใช้สารกำจัดศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลง ซึ่งมีการใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะความเชื่อว่า ยิ่งเพิ่มปุ๋ยเคมีก็จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2555 ระบุว่า ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรอยู่ที่ประมาณ 5.4 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่ใช้ประมาณ 5.3 ล้านตัน โดยการปลูกข้าวนาปีมีสัดส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 18% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ข้าวนาปรัง 16% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 21% และปาล์ม 41% เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ปุ๋ยเคมีที่มากเกินความเหมาะสม และนับเป็นการเพิ่มต้นทุนเพราะประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตปุ๋ยเคมีได้เองจำเป็นต้องมีการนำเข้า
- การผูกขาดเกิด เมื่อเทคโนโลยีไม่ใช่ของเรา
ยกตัวอย่าง บริษัทค้าพันธุ์พืชระดับโลกอย่างมอนซานโต้ ที่ผลิตยาปราบวัชพืช RoundUp Ready อันโด่งดัง และต่อมาก็พัฒนาถั่วเหลืองสายพันธุ์ที่ต้านยาชนิดดังกล่าวได้ เมื่อเกษตรกรใช้ยาปราบวัชพืชมากก็ส่งผลให้ถั่วเหลืองอ่อนแอลง ดังนั้นการใช้ถั่วเหลืองที่ทนทานต่อยาดังกล่าวได้ก็เป็นทางเลือกที่ดีทีเดียว
เช่นเดียวกับพืชจีเอ็ม ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างถั่วเหลืองจีเอ็มของมอนซานโต้ก็ต้องใช้พันธุ์ต้านยาปราบศัตรูพืชของมอนซานโต้ควบคู่ไปด้วย แม้แต่พันธุ์ข้าวโพด NK603 ที่จะนำมาทดลอง ก็คือข้าวโพดที่ทนทานยาฆ่าหญ้า RoundUp ของมอนซานโต้นั่นเอง
พืชจีเอ็มโอปลูกอยู่ใน 3 ประเทศใหญ่ สหรัฐฯ อาร์เจนตินา และแคนาดา โดยประมาณ 70% คือพืชจีเอ็มโอต้านทานสารเคมีปราบศัตรูพืช มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองเกษตรกรรมเคมี บริษัทขายได้ทั้งสารเคมีปราบศัตรูพืช และยังขายเมล็ดพันธุ์ได้ 2 ต่อ
เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว ก็แน่ชัดว่าผลประโยชน์เป็นของผู้พัฒนาเมล็ดพันธุ์ โดยเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมานั้นต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ที่มีความชำนาญและอุปกรณ์ที่มีราคา ส่งผลให้งบประมาณในการพัฒนาพืชจีเอ็มสูงมาก จึงทำให้มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ทำได้ โดยส่วนมากเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่
ดังนั้นการใช้เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวก็ต้องซื้อจากเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยตรง นอกจากนี้ประเด็นการปนเปื้อนจากพันธุ์พืชหนึ่งสู่พันธุ์พืชอื่นๆ ในท้องถิ่น หากมียีนที่บ่งชี้ว่าพัฒนาขึ้นโดยบริษัทใด ก็สามารถอ้างสิทธิ์เหนือพืชพันธุ์นั้นๆ ได้
ตัวอย่างล่าสุด เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลสูงของสหรัฐฯ ได้ตัดสินให้มอนซานโต้ชนะคดีฟ้องเกษตรกรรายย่อยในมลรัฐอินเดียนา ข้อหานำเมล็ดพันธุ์มีสิทธิบัตรไปปลูกซ้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยชาวนาคนดังกล่าวได้ซื้อเมล็ดถั่วเหลืองผสมจากโรงเก็บในท้องถิ่น แต่ที่ซื้อมีเมล็ดพันธุ์ราวด์อัพ เรดี้ของที่มอนซานโต้จดสิทธิบัตรอยู่ เมื่อนำไปปลูก ถือว่าเป็นการผลิตซ้ำโดยปราศจากคำยินยอมจากมอนซานโต้
ศาลชี้ว่า แม้มอนซานโต้จะไม่มีสิทธิแทรกแซงการใช้เมล็ดพันธุ์ แต่ชาวนาคนดังกล่าวก็ไม่สามารนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกซ้ำ เขาทำได้แค่เพียงนำมาบริโภค หรือไปเลี้ยงสัตว์เท่านั้น ซึ่งมอนซานโต้เองก็ได้วางเงื่อนไขให้ชาวนาเซ็นสัญญาไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ ทำให้ต้องซื้อใหม่ทุกปี และราคาก็เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางอาหารของสหรัฐฯ (Center for Food Safety) ได้เก็บข้อมูล ค่าใช้จ่ายในการปลูกถั่วเหลืองตั้งแต่ปี 1995-2011 ว่า ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 325% ต่อเอเคอร์ โดย 90% ของถั่วเหลืองสหรัฐฯ เป็นมอนซานโต ราวด์อัพ เรดี้ ที่เข้ามาตั้งแต่ปี 1996
การจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ และการเก็บค่าเช่าเกษตรกรในการต่ออายุการปลูกจากพันธุ์เดิม ทำให้เกิดการฟ้องร้องคดีละเมิดสิทธิบัตร โดยเฉพาะมอนซานโต้มีมาแล้ว 140 คดี เป็นชาวนา 410 ราย ธุรกิจฟาร์มขนาดเล็ก 56 แห่ง และเรียกร้องค่าเสียหายได้ราว 23.67 ล้านดอลลาร์ (หรือ 702 ล้านบาท)
“อนาคตเราจะเกิดอาชีพประหลาด คือ นักล่ารางวัล จะมีคนไปส่องดูว่าใครที่ทำผิดกฎหมาย หาคนละเมิดสิทธิบัตร เกษตรกรทั่วโลกจะถูกดำเนินคดี ถูกเบียดเบียนโดยกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม" นายวิฑูรย์ ฉายภาพ และย้ำว่า การผูกขาดแบบนี้ไม่ใช่ความมั่นคงทางอาหาร
ท่้ายที่สุดแล้วในแง่การพัฒนาเทคโนโลยี สำหรับนักวิทยาศาสตร์ถือเป็นความท้าทายที่จะต่อยอดองค์ความรู้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การได้เป็นกรรมสิทธิ์หรือการเข้าถึงเทคโนโลยีนั่นเป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนการปรับแต่งพันธุกรรมพืชเพื่อแก้ปัญหาทางการเกษตร ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่มีความขัดแย้งหลายมิติ ท่ามกลางความสงสัยกังขา ระหว่างประโยชน์และโทษที่จะตามมา ดังเช่นกรณีเกษตรเคมีในยุคปัจจุบัน ที่เคยแก้ปัญหาปากท้องในอดีต แต่ทำลายการเกษตรแบบผสมผสาน พร้อมทั้งนำไปสู่การใช้สารเคมีอย่างหนัก เพื่อเพิ่มผลผลิตของพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง และการก้าวออกจากเกษตรเคมี สู่เกษตรจีเอ็มโอใช่คำตอบในระยะยาวหรือไม่
หรือว่าเราแก้ปัญหาเก่า ด้วยการสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่า?