นับเป็นเรื่องฮือฮาไม่น้อยเมื่อดาราฮอลลิวูดผู้ทรงอิทธิพลอย่าง “แองเจลินา โจลี” ประกาศว่าได้ตัดเต้านมทั้งสองข้างทิ้ง หลังแพทย์พบว่าเธอมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งถึง 87% และนอกจากเธอแล้วยังมีผู้หญิงหลายคนที่ตัดสินเด็ดเดี่ยวคล้ายๆ เธอ
จากการคัดกรองพบว่า “แองเจลินา โจลี” (Angelina Jolie) มียีนกลายพันธุ์ BRCA1 ซึ่งทำให้เธอมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเต้านมถึง 87% แต่หลังเข้ารับการผ่าตัดแล้ว โอกาสดังกล่าวลดลงเหลือ 5% แม้ว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะเหมาะสมสำหรับตัวเธอเอง แต่นิตยสารชื่อดังอย่างไทม์ (TIME) ที่นำเธอขึ้นปกด้วยหัวข้อ The Angelina Effect ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนห่วงว่าเราอาจจะตีค่าบทเรียนของเธอให้สูงเกินไป
ทั้งนี้ ศาสตร์ในการคัดแยกด้วยยีนนั้นยังเป็นศาสตร์ที่กำลังเตาะแตะ หากเราไปตรวจพบยีนที่เชื่อมโยงกับโรคต่างๆ ทั้งอัลไซเมอร์ มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคข้อรูมาตอยด์ หรือโรคหัวใจ จะได้ผลการคำนวณความเสี่ยงที่น่าตกใจ โดยในสหรัฐฯ นั้นมีผู้หญิงถึง 36% ที่เลือกตัดเต้านมเมื่อพบว่ามียีนความเสี่ยงของโรคดังกล่าแต่หมอบางจำนวนหนึ่งได้โต้แย้งว่า การใช้เครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRIs) และการตัดคัดแยกอื่นๆ อาจให้ผลวินิจฉัยที่ดีกว่า และเป็นกระบวนการที่ไม่สุดโต่งจนเกินไป โดยการตัดเนื้อเยื่อเฉพาะเนื้อร้ายออก น่าจะให้ผลที่ดีกว่าหากเป็นมะเร็งขึ้นมาจริงๆ
แม้ว่าการตัดเต้านมทิ้งจะลดความเสี่ยงไปได้มาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ หากแต่โจลียังไม่อาจให้รายละเอียดว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดที่เกิดขึ้นกับเธอบ้าง เพราะเธอเพิ่งเสร็จสิ้นขั้นตอนผ่าตัดที่กินเวลาถึง 3 เดือน แต่ก็พอมีตัวอย่างของผู้หญิงที่ตัดเต้านมทิ้งว่า เกิดผลกระทบต่อพวกเธออย่างไรบ้าง
ข่าววิทยาศาสตร์ของบิซิเนสอินไซเดอร์อ้างรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของสถาบันมะเร็งสหรัฐ (National Cancer Institute) เมื่อปี 2005 ที่ศึกษาผลที่เกิดกับผู้หญิง 269 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 45 ปี หลังจากทำการผ่าตัดเต้านมทิ้งเพื่อป้องกันมะเร็ง โดยนักวิจัยพบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของผู้รับการผ่าตัด พบอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่างภายหลังรับการผ่าตัด
ผลข้างเคียงที่ธรรมดาที่สุดคืออาการเจ็บปวด อย่างเช่นอาการกดเจ็บที่ช่วงอก ตามมาด้วยอาการติดเชื้อและน้ำเหลืองคั่ง หรือมีของเหลวใสๆ ในร่างกายซึมออกมา ซึ่งบางครั้งจะพบอาการเช่นนี้ได้ในร่างกายขณะผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อออก ส่วนผู้ป่วยบางรายอาจยังต้องทุกข์ทนกับการใส่วัสดุเข้าไปแทน ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลข้างเคียงได้มากกว่าผู้ป่วยที่ตัดออกอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางด้านจิตใจด้วย โดยผู้หญิงอาจจะรู้สึกซึมเศร้า กังวลและติดอยู่ภาพของเต้านมที่ถูกผ่าตัดออกไป โดยรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารคลินิคัลออนโคโลจี (Journal of Clinical Oncology) พบว่ากระบวนการผ่าตัดนั้นส่งผลด้านลบต่อความรู้สึกของผู้หหญิงเกี่ยวกับความรู้สึกดึงดูดทางเพศของพวกเธอ แม้กระทั่งทำให้พวกเธอต้องไปเสริมวัสดุทดแทน
เกือบ 90% ของผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มศึกษา กล่าวว่าตอนนี้พวกเธอมีปัญหาเรื่องความรู้สึกว่ามีความดึงดูดทางเพศน้อยลง ประหม่าหลังรับการผ่าตัด และแม้ว่าความกังวลจะน้อยลง แต่ความกลัวเรื่องการพัฒนาสู่การเป็นมะเร็งเต้านมก็ไม่ได้ลดลงอย่างสิ้นเชิง
แม้ว่าการผ่าตัดเต้านมแบบป้องกันนี้ จะลดความเสี่ยงมะเร็งได้ แต่ก็ไม่ได้กำจัดมะเร็งไปทั้งหมด แต่ในทำนองเดียวกันความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมที่มากขึ้นก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งอื่นๆ ด้วย และยังไม่มีข้อมูลว่า การตัดเต้านมเพื่อป้องกันมะเร็งนั้นไปลดโอกาสเกิดมะเร็งอื่นหรือไม่