xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ เพาะ “ปะการัง” แบบอาศัยเพศ ทนร้อนและออกไข่ได้เป็นครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปะการังที่ได้จากการเพาะขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ
ทีมวิจัยจุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ ได้ปะการังแกร่งทนร้อน และออกไข่ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีอัตรารอดมากกว่าการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติถึง 50% ตั้งเป้ากู้วิกฤตปะการังฟอกขาว

รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ และ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์จาก ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 เม.ย.56 ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ และสามารถออกไข่ได้ในธรรมชาติเป็นครั้งแรก  

ทั้งนี้ รศ.ดร.วรณพ ได้ชี้ถึงปัญหาที่นำมาสู่การเพาะพันธุ์ปะการังดังกล่าวว่า ปัจจุบันปะการังมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากปัญหาปะการังฟอกขาว ที่เกิดขึ้นหลังจากอุณหภูมิโลกและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นด้วย หรือสึนามิ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ  จึงได้จัดทำโครงการการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศภายในระบบเพาะฟัก หรือการผสมเทียมมาใช้ในการแก้ไขปัญหานี้

ย้อนกลับไปเมื่อ เดือน ก.พ. 49 ทางทีมวิจัยได้นำเซลล์สืบพันธุ์ คือไข่และสเปิร์มของปะการังที่ได้จากพ่อแม่พันธุ์ที่หมู่เกาะแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี แล้วนำมาผสมเทียมเองในโรงเพาะเลี้ยง จากนั้นเลี้ยงไว้ในบ่อที่มีแผ่นกระเบื้องทำไว้ให้เป็นเป็นที่ยึดเกาะเทียมของปะการัง แล้วรอให้ตัวอ่อนเติบโตประมาณ 2 ปี เพื่อให้ปะการังสร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มความแข็งแรงก่อนปล่อยกลับคืนสู่ทะเล

“ผลการวิจัยพบว่าเมื่อปี 2553 หลังจากที่ปล่อยลงสู่ทะเลไป 3 ปี ปะการังจากการเพาะเลี้ยงที่มีอายุรวมครบ 5 ปี สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ขึ้นได้ตัวเอง หรือไม่เป็นหมันนั่นเอง นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง และชี้ให้เห็นว่าเป็นปะการังที่มีอายุน้อยที่สุดที่สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้เท่าที่เคยศึกษามา” รศ.ดร.สุชนา เล่าความสำเร็จ

ทีมวิจัยกล่าวอีกว่า หากปล่อยให้ปะการังสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเองตามธรรมชาติจะมีอัตราการรอดเพียง 0.01% แต่การวิจัยโดยผสมเทียมในระบบฟักนี้มีอัตราปฏิสนธิถึง 98% และมีอัตราการรอดจากการเพาะเลี้ยงในระยะเวลา 2 ปีถึง 40-50% และอัตราการตายเมื่อคืนสู่ทะเลค่อนข้างต่ำมาก

ปะการังที่นักวิจัยนำมาเพาะเลี้ยงด้วยวิธีดังกล่าวมีมากกว่า 10 ชนิด ทั้งปะการังกิ่งและปะการังก้อน โดยสภาพแวดล้อมที่นำตัวอ่อนไปปล่อยสู่ทะเลนั้นอยู่ติดแนวปะการังลึกประมาณ 5-6 เมตร มีแสงแดดส่องทั่วถึง อุณหภูมิประมาณ 29-30 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของปะการัง โดยจะปล่อยแบบกระจายไปทั่วพื้นที่

พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้สอบถามเพิ่มเติมถึงการเพาะขยายพันธุ์ปะการังในต่างประเทศ ซึ่ง รศ.ดร.สุชนา กล่าวว่า ในต่างประเทศก็ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ของปะการังเช่นกัน อย่าง ประเทศอิสราเอลได้ทดลองแบบสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ โดยการปักชำได้สำเร็จและเติบโตได้เร็วกว่าแบบอาศัยเพศ แต่ทั้งนี้ก็จะได้ปะการังที่ไม่แข็งแรง ขาดภูมิคุ้มกัน และมีอายุที่สั้นกว่า

“ในขณะที่แบบอาศัยเพศแข็งแรง ทนทานต่อสภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ และยังช่วยเพิ่มความหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย ส่วนประเทศญี่ปุ่นได้ทดลองการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเช่นกัน โดยใช้เวลาในการอนุบาลที่โรงเพาะพันธุ์เพียงแค่ 2 เดือน ก็สามารถเติบโตในทะเลได้แล้วเนื่องจากอุณหภูมิในทะเลเย็นกว่า” รศ.ดร.สุชนา เปรียบเทียบ

ทีมวิจัยมองว่าความสำเร็จของการวิจัยในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้เข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วขึ้น และในโอกาสต่อไปยังคงต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่าปะการังที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้จะสามารถมีอายุได้มากน้อยเพียงได้ มีอัตราการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์มากเพียงใด

สำหรับงานวิจัยครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาฯ กับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ภายใต้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์
กระบอกเก็บไข่ปะการัง
ไข่ปะการัง
น้ำเชื้อปะการัง
ไข่และน้ำเชื้อที่ผสมกัน
ปะการังระยะ 1 ปี และ 1 เดือน (ซ้ายไปขวา)
ปะการังระยะ 1 ปี
ปะการังที่นำไปปล่อยในทะเล






กำลังโหลดความคิดเห็น