xs
xsm
sm
md
lg

จิตรกรแสงเทียน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพ Magdalen with the Smoking Flame
ในปี 1960 พิพิธภัณฑ์ New York Metropolitan ของอเมริกาได้ซื้อภาพ “The Fortune Teller” ซึ่งวาดโดย George de La Tour ด้วยราคาที่สูงมาก ทั้งๆ ที่รู้ว่าภาพนี้ถูกลอบนำออกนอกฝรั่งเศสอย่างผิดกฎหมาย

ดังนั้นเมื่อสัญญาการซื้อขายถูกนำออกเปิดเผยต่อสาธารณะ บรรดาสื่อมวลชนของฝรั่งเศสก็ได้ออกมาต่อต้านในประเด็นว่า มหาสมบัติของชาติได้ถูกขโมยไป เพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปกปักษ์รักษาสมบัติที่ล้ำค่าชิ้นนี้ได้ กระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้ทำให้ท่านรัฐมนตรีวัฒนธรรมของฝรั่งเศสในขณะนั้นชื่อ André Malraux ต้องออกมาอธิบายในรัฐสภาว่า พิพิธภัณฑ์ Louvre ได้ปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

แม้คำชี้แจงจะยืดยาวและดี แต่ก็ไม่มีใครในเวลานั้นรู้ชัดว่า คนที่นำภาพ “The Fortune Teller” ออกนอกประเทศได้รับอนุญาตจากผู้ใด (ถึงวันนี้ทุกคนทราบว่า Germain Bargin ผู้เป็นภัณฑารักษ์ของ Louvre คือผู้อนุญาต)

ก่อนปี 1960 ผู้คนที่รู้จักภาพนี้มีจำนวนไม่มาก ส่วนที่มาของภาพก็เป็นเรื่องค่อนข้างลึกลับที่ไม่มีใครรู้เช่นกัน เพราะมีตำนานเล่าขานกันมาว่าในปี 1942 ได้มีชายชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งอ้างว่ามีหนังสือรวบรวมภาพผลงานทั้งหมดของ La Tour และภาพหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนั้นได้ทำให้เขาระลึกได้ว่า เคยเห็นภาพนี้แขวนอยู่ที่ผนังปราสาทของลุง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ บาทหลวงคนหนึ่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะของฝรั่งเศส จึงได้เดินทางไปทดสอบภาพดังกล่าว และลงความเห็นว่า มันคือภาพที่วาดโดย La Tour อย่างแท้จริง บาดหลวงจึงรายงานให้พิพิธภัณฑ์ Louvre ทราบ

ในปี 1949 ผู้บริหารระดับสูงของพิพิธภัณฑ์จึงตัดสินใจขอซื้อภาพไปตั้งแสดงที่ Louvre แต่มหาเศรษฐีนักธุรกิจศิลปะชื่อ George Wildenstein ได้เสนอซื้อในราคาที่สูงกว่าคือ 7.5 ล้าน ฟรังก์ เขาจึงได้ภาพไปครอบครองเป็นเวลานานถึง 10 ปี และตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นเขาไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เห็นภาพนี้เลย นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเท่านั้น

จนกระทั่งปี 1960 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitan ที่ New York ได้ซื้อภาพไปแล้ว และได้นำออกแสดงให้ประชาชนเห็น โลกจึงรู้จักจิตรกรชื่อ George de La Tour ดีขึ้น

George de La Tour เกิดเมื่อปี 1593 (ตรงกับรัชสมัยพระนเรศวรมหาราช) ที่เมือง Vic-sur-Seille ในแคว้น Lorraine ของฝรั่งเศส และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่นั่นจนเสียชีวิตในปี 1652

เมื่ออายุ 27 ปี La Tour ได้ไปทำงานศิลปะ ที่เมือง Luniville ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของแคว้น Lorraine และเริ่มมีชื่อเสียง จนท่าน Duke แห่ง Lorraine ได้ว่าจ้างไปเป็นจิตรกรส่วนตัว และเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ทรงทอดพระเนตรเห็นภาพ St.Sebastian ที่ La Tour วาด พระองค์ทรงโปรดภาพวาดมาก เพราะทรงเชื่อว่า St.Sebastian ในภาพคือเทพเจ้าผู้ปกป้องพระองค์ให้รอดชีวิตจากภัยกาฬโรค ดังนั้น จึงทรงโปรดให้ La Tour เป็นจิตรกรราชสำนัก
ภาพ St.Joseph
เมื่ออายุมากขึ้น แนวการวาดภาพของ La Tour ได้เริ่มแสดงเอกลักษณ์มากขึ้น คือภาพที่วาดส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และ La Tour วาดใบหน้าของคนในภาพให้แสดงอารมณ์ที่สงบนิ่งภายใต้แสงเทียนไขที่สว่างไสว แต่ในบางครั้งเขาก็จัดเทียนไขซ่อนอยู่หลังวัตถุ ทำให้เห็นแสงเทียนเล็ดลอดออกมา และแสดงการตัดกันระหว่างความมืดกับความสว่าง (chiaroscuro) สำหรับรายละเอียดของเสื้อผ้าที่คนในภาพสวมใส่นั้น La Tour ไม่ได้เน้น ภาพที่วาดส่วนใหญ่แสดงชีวิตของคนธรรมดา และ La Tour มักไม่ใช้สีที่ตัดกันรุนแรง และใช้ฉากเป็นเวลากลางคืน

สำหรับจิตรกรที่มีอิทธิพลในการวาดภาพของ La Tour คือ Caravaggio แต่หลายคนคิดว่า เขาเป็นจิตรกรที่วาดภาพแนว Vermeer และ Velaquez

หลังจากที่เสียชีวิต ชื่อของ La Tour ก็ได้หายสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์ศิลปะ จนอีกหนึ่งศตวรรษต่อมา ชื่อเสียงก็หวนกลับมาอีก เพราะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีฝีมือระดับ Vermeer และ El Greco สำหรับประเด็นที่คล้ายกันระหว่าง La Tour กับ Vermeer คือ โลกมีภาพวาดของคนทั้งสองในจำนวนค่อนข้างน้อย แม้ Vermeer จะวาดภาพไม่มาก แต่ภาพทุกภาพของเขาก็ยังอยู่ ส่วนภาพของ La Tour นั้น ส่วนใหญ่ได้สาบสูญไปแล้ว ดังนั้นภาพจึงมีเหลือจำนวนไม่มาก เช่น ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักประวัติศาสตร์ศิลปะได้พบภาพที่วาดโดย La Tour เพียง 2 ภาพเท่านั้นเอง

เมื่อถึงปี 1972 ได้มีการนำภาพวาดประมาณ 30 ภาพของ La Tour ออกแสดงที่ปารีส ภาพส่วนใหญ่แสดงความชำนาญของ La Tour ในการแสดงความสว่างตัดกับเงามืด คือเป็นภาพยามกลางคืนที่แสงเทียนไขหรือแสงคบเพลิง ส่องจับบนใบหน้า และเสื้อผ้าของคนในภาพ

สำหรับภาพ “The Fortune Teller” ของ La Tour นี้มีลายเซ็น G. de La Tour Fecit Luneuilla Lothar ปรากฏอยู่ที่มุมขวาบนของภาพ จึงแสดงให้เห็นว่า La Tour เป็นผู้วาดภาพนี้ ขณะพำนักอยู่ที่เมือง Lotharingian ใน Luneville เมื่อปี 1630-1639 ภาพแสดงการกระทำของเหล่ามิจฉาชีพในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยมีสตรี 4 คนเป็นอาชญากรที่กำลังหลอกลวง ต้มตุ๋น และขโมยทรัพย์สินของเด็กหนุ่มผู้กำลังสนใจฟังคำทำนายเกี่ยวกับโชคชะตาของตนจากหญิงชราที่ยืนอยู่ทางขวาสุดของภาพ หลังจากที่ได้อ่านลายมือแล้ว เด็กหนุ่มไม่รู้ตัวแม้แต่น้อยว่า กำลังตกเป็นเหยื่อของบรรดาสมิงสาว เพราะหญิงสาวคนซ้ายสุดกำลังล้วงกระเป๋าเขา และหญิงคนที่สองทางขวากำลังใช้กรรไกรลอบตัดเหรียญทองคำจากสายสร้อยที่คล้องคอเขาอยู่

ชายหนุ่มคนนี้แต่งตัวดี (แสดงว่าบิดาเป็นคนมีฐานะ) เพราะเสื้อผ้าที่สวมใส่มีราคาแพง และยังเป็น “เด็ก” เพราะหน้าตาดูไร้เดียงสา และกำลังก้าวออกสู่โลกภายนอกที่ร้ายกาจ
ภาพ “The Fortune Teller” ซึ่งวาดโดย George de La Tour
ภาพมิได้แสดงชัดว่า เหตุการณ์ฉ้อฉลและขโมยทรัพย์สินนี้เกิดขึ้น ณ ที่ใด ที่โรงแรม ที่ซ่องโสเภณี หรือสถานขายสุรายาเมา แต่เป็นไปได้ว่า หญิงชราคนขวาสุด นอกจากจะทำหน้าที่เป็นหมอดูลายมือแล้ว อาจเป็นแม่เล้าด้วย ครั้นเมื่อพิจารณาเสื้อผ้าของหญิงชรา ก็จะเห็นได้ว่า เธอแต่งตัวแนวตะวันออก มีผมสีดำ และผิวคล้ำ แสดงว่าเธอเป็นคนยิบซี ในมือของเธอมีเหรียญที่ชายหนุ่มมอบให้เป็นค่าทำนาย และเธออาจนำเหรียญนั้นไปแลกเปลี่ยนเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงบรรดาญาติๆ ของเธอ

ชาวยิปซีในสมัยนั้นเป็นที่เลื่องลือและรู้กันทั่วไปว่าชอบขโมยทรัพย์สมบัติของคนอื่น เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยเชื่อเรื่องบาปกรรม ไม่เคยยอมรับกฎหมายของคนอื่นนอกจากของตนเอง คนยิบซีจึงเป็นที่ดูถูกและถูกเหยียดหยามว่าเป็นพวกจรจัด ที่ชอบคดโกงผู้คนทุกหนแห่ง

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ชาวยุโรปจึงประณามพวกยิบซีว่าเป็นคนชั้นต่ำที่เกิดมาเพื่อขโมย เป็นลูกของขโมย ถูกเลี้ยงดูโดยขโมย และเรียนหนังสือเพื่อจะไปประกอบอาชีพเป็นขโมย ดังนั้นเวลาถูกจับ คนเหล่านี้จะถูกทรมาน ถูกอัปเปหิหรือถูกเนรเทศออกนอกพื้นที่ และบางครั้งก็ถูกประหารชีวิต

หญิงสาวคนที่ยืนระหว่างหญิงชรากับชายหนุ่มกำลังใช้หางตาสังเกตเหยื่อว่ารู้ตัวหรือไม่ ในขณะที่มือกำลังใช้กรรไกรตัดเหรียญจากสายสร้อย ส่วนหญิงสาว 2 คนที่อยู่ทางซ้ายของภาพ คนซ้ายสุดเป็นหญิงที่สมรสแล้ว เพราะเธอรวบเก็บผมไว้ใต้หมวก อีกคนเป็นคนโสดเพราะเธอปล่อยผมยาว

ภาพนี้จึงแสดงโลกของผู้ร้ายและเหยื่อที่กำลังเกิดขึ้นในบรรยากาศของความโลภและความเห็นแก่ตัว ภาพนี้จึงแสดงหลายอารมณ์ที่ขัดแย้งกัน เช่นใบหน้าซื่อๆ ของเด็กหนุ่มกับแววตาคดโกงของบรรดาหญิงยิบซี และความหนุ่มของเด็กกับความชราของหญิงหมอดู

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศิลปะคิดว่า La Tour วาดภาพนี้ในช่วงปี 1630-1639 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงคราม 30 ปี และในขณะนั้นเมือง Luneville ที่ La Tour กำลังพำนักอยู่มีโรคระบาด และทุพภิกขภัยคุกคาม การโจรกรรมจึงเกิดขึ้นบ่อย และบ้านเรือนมักถูกลอบวางเพลิง

ในหนังสือชื่อ de La Tour ของ Benedict Nicholson และ Christopher Wright ที่ตีพิมพ์ในปี 1974 นักประวัติศาสตร์ศิลปะทั้งสองได้เขียนว่า ภาพ “The Fortune Teller” เป็นภาพที่ La Tour วาดจริง

แต่อีก 10 ปีต่อมาเมื่อ Nicholson เสียชีวิต Wright ได้เขียนหนังสือ “The Art of the Forger” ซึ่งเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญศิลปะวิเคราะห์ใหม่ เพราะเขาคิดว่าภาพ “The Fortune Teller” มิใช่ภาพที่ La Tour วาด แต่เป็นของจิตรกรชื่อ Emile Delobre ซึ่งถนัดการปลอมแปลงภาพ แต่ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1954 และเขาคิดว่านี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Louvre ไม่ซื้อภาพ “The Fortune Teller” มาตั้งแสดง ส่วน New York Metropolitan Museum นั้นเชื่อว่า La Tour วาดภาพนี้จริง

ในภาพมีการโกงและการขโมย นอกภาพ (ในชีวิตจริง) ก็มีประเด็นว่าพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum ถูกหลอกหรือไม่ นี่จึงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไป

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น