ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติประจำสถานีวิจัยแอนตาร์กติกาของเบลเยียม เจออุกกาบาตขนาดใหญ่ที่สุดที่ตกในแถบขั้วโลกใต้ อายุราว 25 ปี คาดจะช่วยปลดล็อคปริศนากำเนิดระบบสุริยะ
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์นานาติประจำสถานีวิจัยแอนตาร์กติกปรินเซสเอลิซาเบธ (Princess Elisabeth Antarctic research base) ของเบลเยี่ยม พบอุกกาบาตที่หนักถึง 18 กิโลกรัม ในแดนน้ำแข็งแนนเซนไอส์ฟิล์ด (Nansen Ice Field) และเป็นส่วนหนึ่งของหินตัวอย่าง 425 ก้อนที่หนักรวมกัน 75 กิโลกรัม
วินเซน เดอเบลล์ (Vinciane Debaille) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยลิเบร เดอ บรูแซล (Universite Libre de Bruxelles) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์จากเบลเยียม กล่าวไม่คาดคิดจะได้พบอุกกาบาตดังกล่าว เพราะปกติพวกเขาไม่ค่อยได้พบอุกกาบาตลูกใหญ่และหนักเช่นนี้
“นี่เป็นอุกกาบาตลูกใหญ่ที่สุดที่พบในแอนตาร์กติกาตะวันออกในรอบ 25 ปี ดังนั้น จึงเป็นการค้นพบที่พิเศษสำหรับเราอย่างมาก เราศึกษาอุกกาบาตเพื่อเข้าใจให้ดีขึ้นว่าระบบสุริยะนั้นก่อตัวขึ้นอย่างไร มีวิวัฒนาการอย่างไร แล้วโลกกลายมาเป็นดาวเคราะห์ที่มีความจำเพาะเพียงหนึ่งเดียวในระบบสุริยะของเราได้อย่างไร” เดอเบลล์ให้ความเห็นทางเอเอฟพี
ปกติแล้วอุกกาบาตจะเป็นลูกเล็กๆ ที่เราเห็นเป็น “ดาวตก” ในตอนกลางคืน ระหว่างที่อุกกาบาตเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อุกกาบาตขนาดใหญ่ที่ระเบิดเหนือรัสเซีย ได้ฉกชิงพื้นที่ข่าวทั่วโลก และเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 1,200 คน รวมทั้งยังสร้างความเสียหายแก่อาคารต่างๆ เป็นบริเวณกว้างด้วย