เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1730 หนุ่มรัสเซียวัย 19 ปี ชื่อ Mikhail Vasilevich Lomonosov ซึ่งเป็นบุตรของชาวนาผู้เปลี่ยนอาชีพเป็นชาวประมง ได้ลอบหนีพ่อแม่ออกจากบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งอยู่ใกล้เมือง Deniskova (ปัจจุบันคือเมือง Lomonosov) ในรัสเซียเพื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่เมืองหลวง โดยได้วางแผนหลบหนีอย่างรอบคอบ เช่น ยืมเงิน 3 รูเบิลกับเสื้อแจ๊คเก็ตหนาตัวหนึ่งจากเพื่อนบ้าน และได้นำหนังสือสองเล่มโปรด คือ Grammatica และ Arithmetica ติดตัวไปเพื่ออ่านด้วย
นอกเหนือจากความต้องการจะไปศึกษาวิทยาการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมที่ Moscow แล้ว ยังมีอีกสองสาเหตุที่ทำให้ Lomonosov ตัดสินใจทิ้งบ้านเกิด ประการแรก บิดาเป็นคนงี่เง่าที่ตามใจแม่เลี้ยงของ Lomonosov ตลอดเวลา และประการที่สองคือ Lomonosov ไม่ต้องการแต่งงานกับผู้หญิงที่บิดามารดาจัดหามาให้
เพราะจุดหมายปลายทางที่ต้องไปให้ถึงนั้นอยู่ไกลจากบ้านประมาณ 1,000 กิโลเมตร และ Lomonosov มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการเดินทางไกลเช่นนั้น ดังนั้นจึงใช้วิธีขออาศัยรถ sleigh ที่สามารถเลื่อนไถลไปบนน้ำแข็งได้ และ Lomonosov ได้ขอโดยสารโดยไม่เสียค่าโดยสารตลอดการเดินทางที่ใช้เวลานานประมาณ 1 เดือนก็ถึงกรุง Moscow ณ เวลานั้นไม่มีใครตระหนักว่า วินาทีแรกที่ Lomonosov เดินทางถึงเมืองหลวง นี่คือ จุดเริ่มต้นของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ของรัสเซีย
M.V. Lomonosov เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.1711 (ตรงกับรัชสมัยพระภูมินทร์ราชา) ในครอบครัวที่ยากจน เมื่ออายุ 9 ขวบ มารดาได้เสียชีวิต บิดาจึงแต่งงานใหม่ และมารดาเลี้ยงไม่ชอบนิสัยอ่านหนังสือของ Lomonosov เลย เพราะคิดว่า การอ่านหนังสือเป็นเรื่องเสียเวลา และลูกทุกคนมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือช่วยบิดาทำงานหาเงินหาทอง นอกจากนี้เธอก็ยังกล่าวอีกว่า บรรดาหนังสือที่ Lomonosov อ่าน แม้แต่ไบเบิลก็มีเนื้อหาที่เหลวไหลและไร้สาระ
ครั้นเมื่อบิดาของ Lomonosov พบว่า ลูกชายได้แอบหลบหนีไป Moscow แล้ว จึงออกติดตาม จนพบ Lomonosov ที่โรงเรียนสอนศาสนาซึ่งได้รับ Lomonosov เข้าเรียนภายใต้ชื่อปลอม เพราะ Lomonosov ได้ให้ข้อมูลแก่โรงเรียนว่า ตนเป็นทายาทของขุนนาง และเมื่อบิดาพบตัวลูกชายจึงได้ขอร้องให้เดินทางกลับบ้าน แต่ Lomonosov ไม่ยินยอม บิดาจึงขู่ว่าจะเปิดเผยฐานะและตัวตนที่แท้จริงของลูกชาย ซึ่งถ้าทางโรงเรียนรับหลักฐานที่บิดาอ้าง Lomonosov ก็จะถูกไล่ออกทันที แม้บิดาจะทำตามที่ได้ขู่ไว้ แต่เมื่อ Lomonosov เรียนหนังสือเก่ง ทางโรงเรียนก็ยังอนุญาตให้ Lomonosov เรียนต่อ ทั้งๆ ที่แทบไม่มีเงินเสียค่าเล่าเรียนเลย และมักถูกเพื่อนฝูงเยาะเย้ยเนืองๆ ว่า นอกจากจะยากจนแล้ว ยังมีอายุมากกว่านักเรียนทุกคนในห้องด้วย แต่ Lomonosov ก็ไม่สนใจคำถากถางเหล่านี้ หนำซ้ำยังได้ลงเรียนวิชาภาษาละติน กรีก ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญาด้วย
จนกระทั่งอายุ 25 ปี จึงย้ายไปเรียนต่อที่ Saint Petersburg Academy of Sciences และเรียนได้เก่งมาก จึงได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Marburg ในเยอรมนี เพื่อเรียนคณิตศาสตร์กับ Christian Wolff ผู้เป็นศิษย์ของ Gottfried Leibniz ขณะพำนักที่เยอรมนี Lomonosov ได้เรียนภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส ศิลปะ เต้นรำ และฟันดาบด้วย
หลังจากเวลาผ่านไป 3 ปี Lomonosov ได้เดินทางไปศึกษาวิชาธรณีวิทยาหมืองแร่กับอาจารย์ Johann Henckel แห่งมหาวิทยาลัย Freiburg ในเยอรมนี จนสำเร็จการศึกษาในอีก 1 ปีต่อมา จึงเดินทางกลับรัสเซีย และได้เข้าพิธีสมรสกับ Elizabeth Zilch ผู้มีฐานะดี ในขณะเดียวกันก็ได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนที่สถาบัน St. Petersburg Academy of Sciences และทำงานที่สถาบันนี้จนตลอดชีวิต
สถาบัน St. Petersburg Academy of Sciences ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1724 ตามพระราชดำริของสมเด็จจักรพรรดิ Peter มหาราช ในเบื้องต้นสถาบันมีหน้าที่สอนและวิจัย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ วาทศิลป์ ประวัติศาสตร์และกฎหมาย โดยมีศาสตราจารย์ประจำที่สถาบัน 10 คน เพราะองค์กรนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมีนักคณิตศาสตร์ต่างชาติที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกมาทำงานที่สถาบันหลายคน เช่น Daniel Bernoulli และ Leonhard Euler เป็นต้น แต่ไม่มีศาสตราจารย์รัสเซียเลย ทั้งๆ ที่สถาบันมีหน้าที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ และวางแผนการศึกษาทุกด้านของประเทศ
ในช่วงเวลาที่ Lomonosov เข้าทำงานใหม่ๆ สถาบันกำลังมีปัญหาการเงิน และการสังคมเพราะมหาวิทยาลัยมีความขัดแย้งภายในมาก Euler และ Bernoulli จึงขอลาออก ทำให้อาจารย์ชาวรัสเซียที่ทำงานประจำมีเพียง 3 คน และ Lomonosov เป็นนักคณิตศาสตร์หนึ่งในสามท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เพราะได้รับแต่งตั้งให้เป็น Academician ตั้งแต่มีอายุได้เพียง 34 ปีเท่านั้นเอง ด้วยผลงานวิจัยมากมายที่ตีพิมพ์เป็นภาษารัสเซีย การมีชื่อเสียงของ Lomonosov ได้ทำให้ต้องรับนักศึกษามากขึ้น และมีอาจารย์รัสเซียที่มีชื่อเสียงมาทำงานที่สถาบันมากถึง 10 คน โดย 7 คน มีตำแหน่งเป็น Academician
ทุกวันนี้โลกรู้จัก Lomonosov ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความสามารถรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านทฤษฎีหรือการทดลอง และเป็นบุคคลแรกที่แถลงกฎทรงมวลของสสาร โดยในปี 1756 Lomonosov ได้ทดลองเผาตะกั่วในภาชนะที่ปิดมิดชิด จนอากาศเล็ดรอดเข้าไปไม่ได้ และพบว่า ไม่ว่าจะเผาตะกั่วในภาชนะนานเพียงใด น้ำหนักของภาชนะ และตะกั่วก็ไม่เปลี่ยนแปลง การทดลองนี้จึงชี้นำให้ Lomonosov สรุปว่าความร้อนมิได้มีน้ำหนัก คือไม่มีมวล
อีก 17 ปีต่อมา Antoine Lavoisier นักเคมีชาวฝรั่งเศสได้ทดลองให้เห็นว่า เวลาเผาโลหะในอากาศ มวลของโลหะที่เพิ่มขึ้นมาจากออกซิเจนในอากาศซึ่งได้เข้ารวมกับโลหะนั้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ แม้ Lomonosov จะเก่งคณิตศาสตร์ แต่เขาก็ไม่เคยใช้แคลคูลัสอธิบายสมบัติกายภาพของสสาร โดยทั่วไป Lomonosov เชื่อว่า ปรากฏการณ์ต่างๆ สามารถอธิบายได้ถ้ารู้อันตรกริยาระหว่างอนุภาคขนาดเล็กของระบบนั้น ส่วนความร้อนที่โลหะได้รับจะทำให้พลังงานจลน์ของอนุภาคในโลหะมีค่าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจลน์ในการหมุน การส่าย หรือการสั่น นอกจากนี้ Lomonosov ก็ยังได้เสนอความเห็นอีกว่า ณ ที่อุณหภูมิหนึ่ง (ศูนย์องศาสัมบูรณ์) อนุภาคทุกตัวในระบบจะหยุดนิ่ง
ปี 1744 เป็นช่วงเวลาที่ Lomonosov กำลังสนใจวิธีวัดหาค่าของประจุไฟฟ้าบนตัวนำ และได้ศึกษาเรื่องนี้กับ George Wilhelm Richmann และได้เก็บรวบรวมข้อมูลการทดลองที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเรียบเรียงเป็นบันทึกชื่อ “276 Notes on Corpuscular Philosophy and Physics” จากนั้นก็ได้เบนความสนใจไปศึกษาเรื่องไฟฟ้าในอากาศ แต่เมื่อ Richmann เสียชีวิตเพราะถูกฟ้าผ่าในปี 1753 Lomonosov จึงต้องทดลองเรื่องไฟฟ้าต่อไปคนเดียวอย่างระมัดระวัง และได้เรียบเรียงตำราชื่อ “A World on Atmospheric Phenomena Proceeding from Electrical Forces” ซึ่งได้เสนอความเห็นว่า ประจุไฟฟ้าที่อยู่บนหยดน้ำในอากาศเกิดจากการเสียดสีระหว่างกระแสอากาศร้อนที่ไหลขึ้น และกระแสอากาศเย็นที่ไหลลง ทฤษฎีของ Lomonosov นี้เกิดขึ้นก่อนทฤษฎีของ Benjamin Franklin แต่ไม่มีใครรู้เรื่องนี้อย่างแพร่หลาย เพราะ Lomonosov เขียนตำราและบทความวิจัยเป็นภาษารัสเซีย
ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1761 ซึ่งเป็นวันที่ดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ เหตุการณ์นี้ได้ทำให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกตื่นเต้นมาก เพราะการสังเกตปรากฎการณ์จะช่วยให้นักดาราศาสตร์รู้ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ Lomonosov ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าโครงการสำรวจ จึงได้รวบรวมนักดาราศาสตร์ 170 คน ให้แยกกันเดินทางไปสังเกตเหตุการณ์นี้ที่สถานีสำรวจ 4 แห่งในรัสเซีย และ Lomonosov ได้เห็นวงแหวนแสง (aureole) ปรากฏขณะดาวศุกร์โคจรผ่านเข้า และผ่านออกจากดวงอาทิตย์อย่างช้าๆ ซึ่ง Lomonosov ได้อธิบายว่า วงแหวนแสงเกิดจากการหักเหของแสงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศที่หนาทึบของดาวศุกร์ ครั้นเมื่อมีการพบว่าดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศ Lomonosov จึงเชื่อต่อไปว่า บนดาวศุกร์อาจมีสิ่งมีชีวิต
บรรดาคนที่ไม่รู้จัก Lomonosov ดี มักคิดว่า เขาเป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์ แต่ในความเป็นจริง Lomonosov มีความรู้ประวัติศาสตร์ในระดับดีมาก อีกทั้งเป็นนักปฏิรูป นักวาทศิลป์ กวี เมื่อ Lomonosov ได้พบว่า การแต่งบทกวีทำให้เขารู้สึกสบายใจ จึงได้แต่งบทประพันธ์สรรเสริญสมเด็จจักรพรรดินี Elizabeth แห่งรัสเซีย ซึ่งได้ทำให้พระนางทรงพอพระทัยมากจึงพระราชทานเงินรางวัลให้ Lomonosov มากเป็น 3 เท่าของเงินเดือน นอกจากนี้ Lomonosov ยังได้เรียบเรียงบทกวีร้อยกรองเรื่อง “Battle of Poltava” ด้วย ขณะนี้ต้นฉบับของบทกวียังถูกเก็บรักษาอยู่ที่ “Russian Academy of Sciences”
ในด้านชีวิตส่วนตัว Lomonosov เป็นคนสูงถึง 1.90 เมตร มีร่างกายแข็งแรง และมีอารมณ์ร้อน เพราะเคยชกต่อยกับนิสิตเยอรมันที่มหาวิทยาลัย Marburg จนนิสิตคนนั้นล้มขมำ ดังนั้นเมื่อชาวเมือง Marburg รู้ว่า Lomonosov จะเดินทางกลับรัสเซีย จึงพากันออกมาแสดงความยินดี เพราะทุกคนรู้สึกปลอดภัย และตลอดเวลาที่อยู่ในรัสเซีย ถ้ามีการโต้เถียงทางวิชาการอย่างรุนแรง ซึ่งในบางครั้งก็รุนแรงมากถึงขั้นชกต่อยกัน Lomonosov มักจะถูกกักขังให้อยู่คนเดียวตามลำพัง แต่ก็ได้รับการปล่อยตัว เมื่อเขาขอโทษคู่กรณี
ตามปกติ Lomonosov เป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในความเฉลียวฉลาดของตนมาก ดังนั้น จึงไม่เคยชอบทำงานรับใช้เจ้านายที่โง่ ซึ่งทั้งนี้รวมถึงองค์กษัตริย์ที่ปกครองประเทศด้วย
ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีครบ 3 ศตวรรษแห่งชาตกาลของ Lomonosov ชาวรัสเซียทั้งประเทศได้จัดงานเฉลิมฉลองให้ประชาชน และคนทั่วโลกได้รู้จักบุคคลผู้นี้ ณ วันนี้รัสเซียมีเมือง Lomonosov มีมหาวิทยาลัย Lomonosov (ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อจาก Moscow University ตั้งแต่ปี 1940) นักดาราศาสตร์รู้จักหลุมอุกกาบาต ชื่อ Lomonosov ทั้งบนดวงจันทร์และบนดาวอังคาร
ส่วนผลงานของ Lomonosov นั้น แม้ไม่ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง แต่เมื่อถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 Nikolai Vavilov และ Peter Kapitza ได้อ้างถึงผลงานตีพิมพ์ของ Lomonosov และ Kapitza ได้อธิบายชี้แจงว่า การที่คนรัสเซียด้อยการศึกษา และนักวิทยาศาสตร์ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติมักไม่สนใจอ่านผลงานวิชาการของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย
นอกจากนี้ Lomonosov เองก็ไม่มีเพื่อนสนิทที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ยุโรป อีกทั้งไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลยหลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากเยอรมนีแล้ว และเมื่อบทความวิจัยต่างๆ ของ Lomonosov ไม่ได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นโลกภายนอกจึงไม่มีใครรู้สิ่งที่ Lomonosov รู้ และประเด็นสุดท้าย คือ Lomonosov เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย (53 ปี) คือเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ.1765 ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสเปิดตัวเองด้วยผลงานเหมือนนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เช่น Newton, Bernoulli, Franklin และ Herschel ซึ่งมีอายุขัย 70 – 80 ปี หรือกว่านั้น
หลังจากที่ Lomonosov ได้เสียชีวิตไปแล้ว ในปี 1776 ผลงานเขียนด้านประวัติศาสตร์ของเขาเรื่อง “Ancient History of Russia” ได้ถูกตีพิมพ์ และหนังสือนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ชิ้นแรกของรัสเซีย
ในหนังสือชื่อ Russia’s Lomonosov: Chemist, Courtier, Physicist, Poet ที่ J.E. Thai เรียบเรียง และ E.J. Webster แปล ซึ่งจัดพิมพ์โดย Princeton University Press, Princeton, New Jersey ปี 1952 ผู้เขียนได้เปรียบเทียบบุคลิกภาพระหว่าง Leibniz, Newton กับ Lomonosov ว่า ปราชญ์ทั้งสามคนเป็นชาวเยอรมัน อังกฤษ และรัสเซียตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบการมีชื่อเสียง Leibniz นั้นมีชื่อเสียงโด่งดังมาก เพราะได้วิวาทกับ Newton เรื่อง ใครเป็นคนสร้างวิชา Calculus แต่ 150 ปีหลังจากที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว แทบไม่มีใครรู้จักหรืออ้างถึง Leibniz เลย ส่วน Lomonosov หลังจากที่เสียชีวิตไป 40 ปี ก็แทบไม่มีใครพูดถึงหรืออ้างถึง แต่เริ่มมีคนอ้างถึงมากขึ้นๆ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งยุค Renaissance เริ่มเกิดในรัสเซีย ทำให้ผลงานได้รับการอ้างอิงบ่อยครั้งยิ่งกว่านักเคมีอัจฉริยะเช่น Dmitri Mendeleev และนักสรีรวิทยาเช่น Ivan Pavlov เสียอีก ส่วน Newton นั้น ทรงความยิ่งใหญ่ตลอดกาล
ในด้านความคล้ายคลึงระหว่าง Lomonosov กับ Benjamin Franklin รัฐบุรุษของอเมริกา ผู้เขียนได้ชี้แจงว่า ทั้งสองเป็นนักวิทยาศาสตร์ร่วมรุ่นกัน และต่างก็เป็นบิดาวิทยาศาสตร์ของรัสเซียกับของอเมริกาตามลำดับ ต่างได้สนใจและทุ่มเทชีวิตให้วิทยาศาสตร์จนพบองค์ความรู้ไฟฟ้าที่คล้ายคลึงกันหลายเรื่อง ได้ทุ่มเทและสนใจที่จะทำให้สังคมมีความรู้มากขึ้นเหมือนกัน โดย Lomonosov ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของรัสเซียคือ St.Petersburg Academy of Sciences และ Franklin นั้นได้จัดตั้ง American Philosophical Society
นอกจากจะมีวิทยาศาสตร์ที่คนทั้งสองสนใจเหมือนๆ กันแล้ว คนทั้งสองยังสนใจภูมิศาสตร์เหมือนกันด้วย เช่น Lomonosov สนใจการสำรวจทวีป Arctic และ Franklin สนใจมหาสมุทร Atlantic จนได้พบกระแสน้ำอุ่น Gulf Stream
การที่คนทั้งสองต้องทำงานพึ่งพาตนเองตั้งแต่เด็ก เพราะบิดามารดามีฐานะยากจน และทั้งสองได้หนีออกจากบ้านเหมือนกัน เพื่อแสวงหาวิถีชีวิตที่ดีกว่า และประสบความสำเร็จในที่สุด นอกจากนี้ทั้งสองยังได้แต่งงานกับลูกสาวเจ้าของบ้านที่ตนไปเช่าห้องอยู่ ส่วนภรรยาของคนทั้งสองไม่เคยสนใจงานของสามีเลย
ถึงทั้งสองจะไม่เคยพบปะกันเป็นการส่วนตัว แต่ก็รู้จักกันและยอมรับผลงานของกันและกัน Franklin นั้นเกิดในอเมริกาที่ให้โอกาสแก่คนทุกคน ส่วน Lomonosov เกิดในรัสเซียที่ทุกคนต้องแสวงหาโอกาสเอง ดังนั้นจึงเป็นข้อน่าคิดว่า ถ้า Franklin เกิดในรัสเซีย และ Lomonosov เกิดในอเมริกา โลกจะเปลี่ยนแปลงสักเพียงใด
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์