xs
xsm
sm
md
lg

เพราะความรู้เองก็ไหลมาตามท่อ...ยังจะนั่งรอให้ใครสร้างให้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แด่อนาคตของชาติ และคุณครูที่เคารพทุกท่าน...ที่ถูกบังคับให้เวียนว่ายในกระแสทุนนิยม

วันนี้นั่งคุยกับน้องๆ ปริญญาตรีเกี่ยวกับปัญหาที่นักศึกษาสมัยนี้มักเรียกร้อง "สิทธิ" มากขึ้นโดยที่ไม่สนใจ "หน้าที่" ของตัวเอง น้องๆ สะท้อนความคิดว่าเหตุการณ์นี้อาจจะเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยม เพราะนักเรียนนักศึกษาสมัยนี้ต้องการเรียนแบบ "ประหยัดพลังงาน" คือ "ลงทุนน้อยแต่ต้องได้กำไรมาก"

สิ่งที่ต้องการ คือ ต้องอ่านน้อยๆ ทำแล็บน้อยๆ สอนน้อยๆ การบ้านน้อยๆ ต้องบอกแนวข้อสอบจะได้ไม่เสียเวลาอ่าน แต่พอได้คะแนนน้อยหรือเกรดไม่สวยก็โวยวายโอดครวญอย่างกับโลกจะพังลงมาทั้งใบ โดยที่ไม่เคยสนใจมองตนเองเลยว่าได้ทำหน้าที่ของนักศึกษาอย่างถูกต้องและ เต็มที่กับการเรียนรู้ของตนเองขนาดไหน หรือเข้าใจว่าอะไรคือแก่นแท้ของการเรียนในระดับอุดมศึกษา ครูอาจารย์ที่บังคับหรือเข้มงวดแม้แต่เรื่องที่ควรเข้มงวดก็จะกลายเป็น "ไอ้โหดหรือนังแม่มด" กันไปหมด บางคนถึงกับขู่จะฟ้องผู้บริหารหรือพยายาม "ล็อบบี้”ให้พวกครูขาโหดถูกประเมินไม่ ผ่าน

ครูอาจารย์หลายคนจึงตกในภาวะจำยอม เพราะแค่ภาระงานหนักหน่วงที่ต้องทำเแลกกับเงินเดือนแค่พอยาไส้ก็จะไม่ ไหวอยู่แล้ว จึงเลือกปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของเด็ก คือ "ตามใจ และทำให้ง่าย" ฟังดูดี แต่นี่อาจเป็นต้นเหตุจะทำให้การศึกษาแย่ลงโดยไม่ตั้งใจ? หากลองจินตนาการดูว่าถ้าทุกบทเรียนถูกลดระดับเพื่อทำให้ "ง่าย ตามใจ และไม่เครียด" สะสมไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกดหัวกราฟความเข้มงวดให้ลดลง แต่นั่นกลับแปรผกผันกับข้อมูลและองค์ความรู้มากมายมหาศาลที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน

วิธีเรียนที่ง่ายและตามใจเหล่านี้คือทางออกที่ดีจริงแล้วหรือในโลกที่อยู่ยาก มากข้อมูล และมีความสัมพันธ์อันซับซ้อนกว่าในอดีต?

น้องๆ ยกตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นการสอน "วิธีอยู่กินอย่างเป็นสุขในสังคมทุนนิยม" ชื่อ "เงินทองไหลมาตามท่อ" ที่แปลมาจาก "The Parable Of The Pipeline" หนังสือเรื่องนี้มีใจความสำคัญโดยเปรียบเทียบวิธีหาน้ำของคนในหมู่บ้านมากินมาใช้ ไปจนถึงการขายน้ำเพื่อแลกเงิน ซึ่งเป็นแนวคิดทางการตลาดตามสมัยทุนนิยมที่บังคับคนทั้งโลกให้วิ่งตาม โดยวิธีการของผู้ชายสองคนที่มีความแตกต่างในการหาน้ำมากินมาใช้

ตอนต้นเรื่องผู้ชายทั้งสองคนต้องเดินหาบน้ำไปใส่ตุ่มในหมู่บ้าน วันไหนขี้เกียจก็แน่นอนว่าต้องไม่มีน้ำจะกินจะใช้ ผู้ชาย คนแรกจึงต้องขยันหาน้ำทุกวันๆ ไม่เคยหยุด แต่คนที่สองเริ่มหาวิธีใช้น้ำที่ง่ายขึ้น เค้าลงทุนคิดค้น "ท่อน้ำ" เพื่อต่อน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้โดยตรง เพื่อจะลดเวลาและพลังงานในการหาบน้ำ จนตอนหลังพัฒนาไปสู่ธุรกิจ "ขายน้ำ" จนเทียบได้ว่าเงินทองมันไหลมาตามท่อ แถมยังโยนคำถามไปที่ชายคนแรกว่า "คุณยังสบายอยู่ไหม?" ชายคนแรกแม้จะรู้สึกเหนื่อย แต่ก็กัดฟันตอบว่า "ฉันสบายดี" เพราะเขาทำได้เพียงเท่านั้น คือ ไม่หาบน้ำ ก็ต้องจ่ายเงินซื้อน้ำ

เรื่องนี้เทียบเคียงการใช้ชีวิตในระบบทุนนิยมว่า ต้องพยายามหาทางลัดหรือฉกฉวยโอกาส ที่เกิดตามช่องว่างของความต้องการให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ เมื่อน้ำถูกเปรียบกับเงินที่ทุกคนกระหายยากต้องกินต้องใช้ ชายคนที่หาบน้ำวันยันค่ำจึงถูกเทียบกับคนที่มีชีวิตตามกระแส แม้หาเงินได้มากมายแค่ไหนก็ต้องเหน็ดเหนื่อยขึ้นเท่านั้น ใช้ตัวเองอย่าไม่ สนใจสุขภาพข้างหน้า ไม่เหมือนกับชายคนสร้างท่อที่ลงทุนมากเหนื่อย มากในช่วงแรก แต่กลับสบายในระยะยาว ถือเป็นการบริหารสุขภาพทางการเงินให้มั่งมีอย่างมั่นคง

ตอนแรกน้องๆ สะท้อนว่า หนังสือ เล่มนี้อาจจะจำลองทิศทางการเรียนของนักศึกษาในยุคปัจจุบัน คือ ไม่อยากหาบน้ำเอง ทางไหนลัดได้ก็อยากลัด การเรียนน้อยๆ ทำงานน้อยๆ อาจจะเหมือนการสร้างท่อของตัวเองไม่ต้องเหนื่อยหน่ายกับการเรียนที่เยอะแยะ น่าเบื่อ ชั้นเรียนไหนที่ให้เกรดดีๆ โดยไม่ต้องเหนื่อยจึงเป็นชั้นเรียนในฝัน เพราะจะทำให้ตนเองจบการศึกษาด้วยเกรดหรูหรา หรือมีเวลาไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนตามความสนใจ ถือเป็นลงทุนเพื่อเบิกทางให้ไปสร้างท่อหาเงินในชีวิตจริงนอกรั้วมหาวิทยาลัย

แต่จริงๆ แล้วมันเป็นอย่านั้นหรือไม่?
เรียนน้อยแล้วได้กำไรเป็นไปได้ไหม?
อะไรคือการสร้างท่อที่แท้ในสถาบันการศึกษา?


สำหรับผม ภาพสะท้อนที่เห็นจากแนวคิดนี้กลับต่างไป หากน้ำคือความรู้ การสร้างท่อต้องเทียบเคียงกับกระบวนการเรียนรู้ไม่ใช่พลังงานที่ใช้ในการเรียน? นักเรียนที่นั่งเรียนไปวันๆ หรือแหกตาอ่านหนังสือหามรุ่งหามค่ำโดยไม่เคยรู้ว่าในแต่ละวิชา เนื้อหาสาระอะไรสำคัญ อะไรควรทำความเข้าใจก่อนหลัง อะไรคือแก่นของวิชา อะไรคือทักษะที่จะนำไปใช้ในอนาคต ก็เปรียบเหมือน "คนโง่" ในสังคมทุนนิยม ที่วันๆ เอาแต่หาบน้ำใส่ตุ่ม ไม่เคยมองตนเองและหาโอกาสในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ หากวันไหนตัวเองอ่อนแอ หรือแหล่งน้ำหมดไปก็ กลายเป็น "ซอมบี้ทางการศึกษา" สืบหาความรู้ด้วยตนเองก็ไม่ได้ สร้างองค์ความรู้ใหม่ก็ไม่เป็น สุดท้ายก็คงไม่พ้นสภาพ "ขอทานทางความคิด" ที่นั่งรอความรู้และการชี้นำจากคนอื่น หรืออาจจะพัฒนาตนเองให้ร้ายกาจจนกลาย เป็น "หัวขโมยปัญญาชน" มือไวพร้อมฉกฉวยความรู้หรือวิธีคิดคนอื่นมาอย่างหน้าด้านๆ

กลับกันหากอยากให้ตัวเองมีสุขภาพดีในกระบวนการเรียนรู้ ก็ควรเริ่มต้นด้วยความใส่ใจกับองค์ประกอบสำคัญของการเรียน คือโครงสร้างของสาระ ทักษะเฉพาะ และประสบการณ์จากกิจกรรมที่ทำในห้องเรียน เหมือนการลงทุนสร้างท่อทางความคิดของให้ต่อเชื่อมกับแหล่งน้ำ หากวันไหนหมดแหล่งน้ำก็ยังหาแหล่งใหม่ได้ ท่อของตัวเองมีปัญหาก็แก้ไขได้ เมื่อมีวัสดุทางความคิดใหม่มาก็ปรับใช้ท่อแบบใหม่รองรับได้ หรือแม้กระทั่งแหล่งน้ำไหนที่เน่าเสียจนกินไม่ได้ ก็ไม่เดือดร้อน หาวิธีกรอง หาวิธีกลั่นน้ำมากิน โดยไม่ต้องมัวแต่โทษระบบ โทษครู หรือโทษบทเรียนว่ามัน "ไม่ได้เรื่อง" โดยไม่เคยมองตัวเองว่า "แย่กว่า"?

ทักษะ ประสบการณ์ กระบวนการคิด และกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากห้องเรียนจึงเหมือนท่อส่งน้ำ ที่อาจจะไม่มีใครสอนให้ทำ แต่ "คนจริง" ที่ฉลาดพอต้องเริ่มลงมือหรือถอดบทเรียนด้วยตนเอง เพราะ การเรียนสมัยนี้เริ่มน่ากลัวกว่าการหาบน้ำไปวันๆ เนื่องจากแนวโน้มของห้องเรียนกลายเป็นการนั่งงอมืองอเท้า เรียกร้องให้มีคนมาสร้างท่อน้ำให้ บางคนง้มหน้าก้มตาแต่จะไขก็อกของตัวเอง บางคนเรียกร้องขนาดให้เอาน้ำมากรอกใส่ปาก ไม่อยากลงทุนแม้กระทั่งขยับตัว เพราะกลัวจะ "ขาดทุน" และไม่เคยรู้ว่า "กำไร" ที่หมายมุ่งมันเป็น "แบงก์ปลอม!"

เพราะความรู้เองมันก็ไหลมาตามท่อ...ยังจะนั่งรอให้ใครสร้างให้?

**************

บทความเฉพาะกิจสะท้อนภาพการศึกษาไทย โดย “นายปรี๊ด” คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “คุยวิทย์สะกิดใจ”







กำลังโหลดความคิดเห็น