เอเอฟพี - โมฮาเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีสายอิสลามิสต์คนแรกของอียิปต์ เรียกร้องวานนี้(22)ให้สหรัฐฯเปลี่ยนนโยบายต่อโลกอาหรับเสียใหม่ เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์และความเป็นมิตรกับดินแดนไอยคุปต์ ก่อนออกเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก
มอร์ซี ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส ว่า “รัฐบาลอเมริกันหลายชุดที่ผ่านมามักนำเงินภาษีประชาชนมาซื้อความไม่ชอบ หรือแม้กระทั่งความเกลียดชังต่อประชาชนในภูมิภาคนี้”
นิวยอร์ก ไทม์ส ระบุว่า มอร์ซี กล่าวถึงการที่สหรัฐฯหนุนหลังรัฐบาลอาหรับเผด็จการ รวมถึงสนับสนุนอิสราเอลอย่างไม่มีเงื่อนไข
ชาวอียิปต์นับพันคนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านสหรัฐฯเมื่อหลายวันก่อน หลังเกิดกรณีผู้สร้างภาพยนตร์ดูหมิ่นศาสนาอิสลามนำตัวอย่างหนังไปโพสบนเว็บไซต์ยูทิวบ์ ซึ่งในเวลานั้น มอร์ซี ได้ขอร้องให้ประชาชนใช้ความอดทนอดกลั้น พร้อมกล่าวประณามผู้ที่มีส่วนในการผลิตภาพยนตร์จาบจ้วงศาสดามูฮัมหมัด
ผู้นำอียิปต์ยกย่องประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ตอบสนอง “อย่างแน่วแน่และรวดเร็ว” ต่อการปฏิวัติประชาธิปไตยในโลกอาหรับ พร้อมระบุว่า “สหรัฐฯสนับสนุนให้ประชาชนในภูมิภาคนั้นมีสิทธิเสรีภาพ เช่นเดียวกับที่ชาวอเมริกันได้รับ”
อย่างไรก็ตาม มอร์ซี แสดงความเป็นห่วงชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ซึ่งยังคงไม่มีรัฐเป็นของตนเอง และชี้ว่า สหรัฐฯ “มีความรับผิดชอบเป็นกรณีพิเศษ” ต่อชาวปาเลสไตน์ เพราะได้ลงนามในข้อตกลงแคมป์เดวิดปี 1978 ซึ่งระบุให้อิสราเอลถอนตัวออกจากเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา เพื่อให้ปาเลสไตน์ได้ตั้งรัฐปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์
“ตราบใดที่ชาวปาเลสไตน์ยังไม่ได้รับสันติภาพและความยุติธรรม ข้อตกลงดังกล่าวก็ถือว่ายังไม่บรรลุผล” มอร์ซี กล่าว
มอร์ซี เลี่ยงที่จะให้คำตอบอย่างชัดเจน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าอียิปต์มองสหรัฐฯเป็นพันธมิตรหรือไม่
“ขึ้นอยู่กับว่า คุณตีความคำว่าพันธมิตรอย่างไร” มอร์ซี กล่าว พร้อมบอกว่า สำหรับเขาแล้วทั้งสองชาติถือเป็น “มิตรแท้”
มิตรภาพระหว่างสหรัฐฯกับอียิปต์กลายเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง หลังจากที่ โอบามา ออกมาแถลงเมื่อต้นเดือนนี้ว่า อียิปต์มิใช่ทั้งมิตรและศัตรูของวอชิงตัน
ด้าน วิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคน พยายามบรรเทาผลกระทบจากคำพูดของประธานาธิบดี โดยชี้ว่าอียิปต์ยังคงเป็น “พันธมิตรหลักนอกนาโต” ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถานะที่อียิปต์ได้รับมาตั้งแต่ปี 1989 และช่วยให้อียิปต์มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพอเมริกัน เช่นเดียวกับพันธมิตรนอกนาโตอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, จอร์แดน, อิสราเอล และไทย
ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ มอร์ซี ยังเน้นย้ำถึงสายสัมพันธ์ระหว่างตนกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามิสต์ที่สหรัฐฯยังไม่ไว้วางใจนัก
“ผมโตมากับภราดรภาพมุสลิม... ผมเรียนรู้หลักการใช้ชีวิตจากภราดรภาพมุสลิม ผมเรียนรู้ที่จะรักประเทศชาติจากภราดรภาพมุสลิม ผมเรียนการเมืองกับภราดรภาพมุสลิม และผมก็เป็นผู้นำภราดรภาพมุสลิม”
มอร์ซี ยังระบุว่า สหรัฐฯไม่ควรคาดหวังให้อียิปต์เดินตามแนวทางของอเมริกาเช่นเดียวกับตะวันตก เนื่องจากทั้ง 2 ชาติมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม
“หากท่านจะตัดสินผลงานของชาวอียิปต์ด้วยมาตรฐานทางวัฒนธรรมของเยอรมนี, จีน หรือสหรัฐฯ ก็ไม่มีทางจะตัดสินได้... เมื่อชาวอียิปต์ตัดสินใจทำอะไร บางทีมันอาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมในสายตาสหรัฐฯ และแน่นอนว่าเมื่อชาวอเมริกันคิดจะทำอะไร ก็อาจไม่ใช่เรื่องเหมาะสมในสายตาของชาวอียิปต์เช่นกัน”