WWF - WWF กล่าวเตือนไปยังที่ประชุมรัฐมนตรีกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ให้นำข้อตกลงร่วมกันที่จะหยุดยั้งการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงกลับมาปฏิบัติอีกครั้ง ไม่เช่นนั้น จะเสี่ยงทำลายการบริหารจัดการแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสายหนึ่งของโลก
จดหมายข่าวจาก WWF แจ้งว่า รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมและน้ำเคยตกลงร่วมกัน เมื่อปี 2554 ที่จะเลื่อนการตัดสินใจสร้างเขื่อนไซยะบุรี มูลค่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 108,000 ล้านบาท เพื่อรอการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนเพิ่มเติม แต่ว่าข้อตกลงนี้กลับไม่ได้รับการใส่ใจ เมื่อประเทศลาวประกาศว่าจะเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนที่เป็นประเด็นถกเถียงแห่งนี้ เมื่อเดือน พ.ย.55 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในวันที่ 16-17 ม.ค.56 จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง (MRC) ที่เป็นหน่วยงานระหว่างรัฐบาล อันประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งจะเป็นการทดสอบความร่วมมือข้ามพรมแดน และชะตากรรมของแม่น้ำโขงซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตประชาชน 60 ล้านคน
“การก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับเขื่อนไซยะบุรี ส่งผลร้ายต่อความอุดมสมบูรณ์และผลิตผลในแม่น้ำโขงและพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ทั้งยังทำให้ประชาชนหลายล้านคน ต้องเผชิญกับวิกฤตความไม่มั่นคงด้านอาหาร รัฐมนตรีจะต้องยืนหยัดต่อต้านการทูตแบบไซยะบุรี ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่อันตรายต่อไปในอนาคต” ดร.เจียน ฮัว เมง ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานน้ำอย่างยั่งยืนของ WWF กล่าว
ทาง WWF ระบุว่า ในฐานะที่โครงการไซยะบุรีเป็นเขื่อนแห่งแรกที่เข้าสู่กระบวนการหารือของ MRC ดังนั้น จึงเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับการก่อสร้างเขื่อนอีก 10 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนล่าง สำหรับกระบวนการของ MRC นั้น กำหนดให้ทุกประเทศเข้าร่วมในการพิจารณาทบทวนโครงการพัฒนาต่างๆ บนลำน้ำโขง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันว่า ควรจะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ แต่ว่าขณะนี้ลาวกลับเริ่มการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีโดยไม่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากเพื่อนบ้าน หรือแจ้งต่อ MRC
เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว MRC ได้ออกเอกสารเชิงหลักการ (concept note) เป็นแนวทางการศึกษาร่วมที่หลายฝ่ายเฝ้ารอ เป้าหมายก็เพื่อเติมเต็มข้อมูลสำคัญที่ขาดหายไป และยังเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ที่จะรวมไปถึง โครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานน้ำอื่นๆ บนลำน้ำโขงด้วย ซึ่งรัฐมนตรีที่ร่วมการประชุม MRC ในปี 2554 เป็นผู้ร้องขอให้มีการศึกษาเรื่องนี้
“โครงการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างในขณะนี้ เป็นโครงการบนพื้นฐานของการเดาสุ่ม เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษารองรับ วิธีสร้างไปแก้ไปที่กำลังเกิดขึ้นกับเขื่อนไซยะบุรี รวมทั้งการหว่านเงินใส่ปัญหาที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดูแล้วไม่ได้เป็นวิธีการด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือการพัฒนาที่ชาญฉลาดนัก” ดร.เมง กล่าวเสริม
ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บริโภคไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนไซยะบุรีรายหลัก และมีธนาคารของไทยอย่างน้อย 4 ธนาคาร ที่แสดงความสนใจให้เงินกู้แก่โครงการ แม้จะมีต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และไม่มีความชัดเจนถึงผลตอบแทนทางการเงินที่จะได้รับจากโครงการนี้ก็ตาม
“ประเทศไทยควรกระทำการด้วยความรับผิดชอบ และยกเลิกข้อตกลงซื้อไฟฟ้าล่วงหน้าที่ด่วนทำไป จนกว่าจะมีข้อตกลงเกี่ยวกับเขื่อนร่วมกันในระดับภูมิภาค หากธนาคารไทยทำการศึกษาประเมินความเสี่ยงอย่างดี และให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของธนาคารในระดับนานาชาติ รวมถึงผลตอบแทนทางการเงินที่ทางธนาคารจะได้รับ ก็จะพิจารณาและถอนตัวจากโครงการสร้างเขื่อนนี้” ดร.เมง กล่าวเพิ่มเติมว่า
WWF ขอเรียกร้องรัฐมนตรีประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ให้เลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับเขื่อนออกไปอีก 10 ปี เพื่อให้มั่นใจว่ามีการเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญเสร็จสิ้น จากนั้นจึงค่อยร่วมตัดสินใจบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ
“หากยังมีการตัดสินใจดำเนินการนอกกรอบ MRC ต่อไป ในไม่ช้าสถาบันแห่งนี้ก็จะขาดความชอบธรรมทางกฎหมาย และเงินสนับสนุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 9,000 ล้านบาทจากผู้บริจาคนานาประเทศก็จะเปล่าประโยชน์ ประเทศลุ่มน้ำโขงจำเป็นจะต้องหยุดปล่อยเวลาให้เสียเปล่า และเริ่มกอบกู้กระบวนการ MRC ที่สูญเสียไป รวมทั้งใช้มโนสำนึก และหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถืออีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันที่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย” ดร.เมง กล่าวต่อ
การทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อน ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลที่ขาดหายไปอย่างร้ายแรง รวมไปถึงจุดอ่อนของช่องทางผ่านสำหรับปลา ที่นำเสนอในโครงการเขื่อนยักษ์ใหญ่แห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีการยืนยันแล้วว่า โครงการไซยะบุรีจะปิดกั้นการไหลของตะกอน บั่นทอนความสมดุลในระบบนิเวศของแม่น้ำที่เป็นที่พึ่งพาของชาวนา ชาวประมง และหน่วยทางเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ
WWF ขอแนะนำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง พิจารณาโครงการเขื่อนพลังงานน้ำแห่งอื่นบนแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงเป็นลำดับแรก ซึ่งจะง่ายต่อการประเมิน และได้รับการพิจารณาแล้วว่ามีผลกระทบและมีความเสี่ยงน้อยกว่ามาก