หลังจากดำเนินโครงการมาร่วม 5 ปี ในที่สุดหน่วยงานด้านพลังงานใหม่และอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นได้ลงนามสนับสนุนการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังเป็นเงินกว่า 270 ล้านบาท พร้อมถ่ายทอดงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น และตั้งเป้าขยายผลไปทั่วโลก
องค์การพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น หรือ เนโด (NEDO) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.ในการสนับสนุนงบประมาณ 276 ล้านบาทแก่ประเทศไทย ภายใต้โครงการสาธิตการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังในประเทศไทย ซึ่ง บริษัท เอี่ยมบูรพา เอทานอล จำกัด บริษัทเอกชนของไทยเป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี คือ ระหว่างปี 2556-2559
ภายใต้โครงการดังกล่าว เนโดได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ บริษัท ซัปโปโร บริวเวอรี จำกัด และ บริษัท อิวาตะ เคมิคัล จำกัด เพื่อผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังแก่ บริษัท เอี่ยมบูรพา เพื่อสร้างโรงงานต้นแบบที่ผลิตเอทานอลได้ 800 ลิตรต่อครั้งการผลิต โดยใช้ยีสต์ทนความร้อนสูงที่วิจัยและพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยยามากูจิ (Yamaguchi University) ญี่ปุ่น ระหว่างปี 2550-2553 ส่วนเอี่ยมบูรพาในฐานะผู้ประกอบการไทยจะเป็นผลงทุนในส่วนของการก่อสร้างอาคารโรงงานต้นแบบและสาธารณูปโภค
นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอี่ยมบูรพา ให้สัมภาษณ์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ทางบริษัทผลิตแป้งมันสำปะหลังมาร่วม 20 ปี โดยทั้งจำหน่ายในประทศและส่งออกไปยังไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน แต่ในกระบวนการผลิตนั้นเกิดกากมันสำปะหลังถึง 40% ของมันสำปะหลังที่รับซื้อ โดยเฉพาะโรงงานที่ จ.สระแก้ว รับซื้อมันถึงวันละ 2,000 ตัน จึงเหลือกากมันถึงวัน 800 ตัน จึงอยากสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กากที่เหลือ
“จะนำไปทำอาหารสัตว์ได้ไหม หรือผลิตเป็นพลังงานได้ไหม ซึ่งโชคดีที่ สนช.ได้เสนอชื่อให้ทางเนโดเพื่อร่วมพัฒนาการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังร่วมกับเนโด นับแต่สนใจและเริ่มคุยก็เป็นเวลา 5 ปี และได้ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนผู้ประกอบการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากนั้นได้ทดลองส่งกากมันปะหลังไปให้ทางญี่ปุ่น คือ เนโดและมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นทดลอง เอาเชื้อเข้าสู่กระบวนการหมัก ในส่วนหัวเชื้อจากญี่ปุ่นในขณะนี้ยังไม่ต้องซื้อ และต้องดูต่อไปว่าจะนำเอทานอลไปใช้อะไรต่อ เพราะกำลังที่ผลิตได้เพียงแค่ 800 ลิตร ซึ่งน้อยเกินไป หากจะคุ้มทุนต้องผลิตได้ 200,000 ลิตรขึ้นไป” นางจิตรวรรณ กล่าว
ทางด้าน ดร.ซาดะโอะ วาซะกะ (Dr.Sadao Wasaka) กรรมการบริหารระดับสูงของเนโดกล่าวถึงประโยชน์ 2 อย่างที่จะได้จากการสนับสนุนการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังนี้ว่า อย่างแรก จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการใช้เอทานอล อย่างที่สอง คือ เทคโนโลยีที่พัฒนาในไทยครั้งนี้ ทางญี่ปุ่นจะได้ขยายผลต่อไปทั่วโลก โดยเริ่มจากการพัฒนาในไทยก่อน ส่วนข้อจำกัดในการผลิตเอทานอลของญี่ปุ่นคือไม่มีวัตถุดิบ ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้าเอทานอลจากบราซิล เพื่อผลิตแก๊สโซฮอล์ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ต่อไปอาจจะซื้อเอทานอลที่ผลิตได้ความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งเป็นเอทานอลเกรดพลังงานที่สามารถนำไปผสมน้ำมันได้