เผยโฉมหน้า (ที่น่าจะใช่) ของ “ฮอบบิต” มนุษย์แคระที่เคยมีอยู่จริงบนโลก โดยอาศัยคอมพิวเตอร์ประมวลภาพสามมิติของชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์โบราณเพศหญิงที่พบบนเกาะในอินโดนีเซีย ได้ภาพที่ดูไม่ค่อยเป็นหญิง ตาไม่โตและมีหน้าผากแคบ
“เธอไม่ใช่คนที่คุณจะมองว่าสวย แต่เธอมีความโดดเด่นอย่างชัดเจน” ซูซาน ฮาเยส (Susan Hayes) นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยวอลลองกอง (University of Wollongong) ในนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ผู้สร้างใบหน้าของ “ฮอบบิต” (Hobbit) หรือมนุษย์โบราณสปีชีส์ “โฮโมฟลอเรไซเอ็นซิส” (Homo floresiensis) ที่ได้ชื่อเล่นดังกล่าวจากลักษณะอ้วนเตี้ย
ด้วยพื้นความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ไลฟ์ไซน์ ระบุว่า ฮาเยสสามารถสร้างภาพใบหน้าของฮอบบิตหญิงอายุ 30 ปี และสูง 1 เมตร โดยอาศัยโครงกระดูกที่เหลือซึ่งถูกพบในถ้ำเหลียงบัว (Liang Bua) บนเกาะฟลอเรส (Flores) อันห่างไกลของอินโดนีเซีย เมื่อปี 2003 ซึ่งเธอได้โหลดภาพสแกน 3 มิติของกระโหลกฮอบบิตเข้าในโปรแกรมสร้างภาพกราฟิกทางคอมพิวเตอร์
ภาพดังกล่าวได้รับการปรับให้เป็นภาพวาดคนโดนศิลปินบรรพชีวินทางด้านฮอบบิต ซึ่งเธอดูไม่ค่อยเป็นหญิงนักเพราะไม่มีดวงตากลมโตและยังมีหน้าผากแคบ โดยก่อนหน้านั้นภาพของเธอถูกบิดเบือนไปเหมือนลักษณะของลิง แต่ลักษณะใหม่ของเธอได้รับการปรับให้ดูเป็นคนมากขึ้น
โครงกระดูกของฮอบบิตหญิงที่ถูกค้นพบในอินโดนีเซียนี้มีอายุราว 18,000 ปี และคาดว่า เธอน่าจะหนักราว 30-35 กิโลกรัม และนับแต่ค้นพบนักวิทยาศาสตร์ก็ถกเถียงกันว่า ที่จริงโครงกระดูกดังกล่าวคือตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของสปีชีส์ในเครือญาติมนุษย์ที่สูญพันธุ์แล้ว โดยอาจเป็นเพียงคนแคระของ โฮโมอิเร็กตัส (Homo erectus) มนุษย์โบราณที่เคยอยู่บนโลกเมื่อ 1.8 ล้านปี และเป็นมนุษย์สายพันธุ์แรกที่มีสัดส่วนร่างกายเทียบเคียงกับมนุษย์ยุคใหม่ โฮโมซาเปียนส์ (Homo sapiens)
ขณะที่ฝ่ายเห็นแย้งโต้ว่า โครงกระดูกดังกล่าวน่าจะเป็นของมนุษย์ที่มีอาการศีรษะเล็ก (microcephalia) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้คนๆ นั้นมีอาการศีรษะเล็ก เตี้ยล่ำ และมีลักษณะปัญญาอ่อน แต่จากการศึกษาเมื่อปี 2007 ซึ่งเผยว่าสมองของฮอบบิตนี้มีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของสมองมนุษย์ผู้ใหญ่ในปัจจุบันนั้น ยังพบว่าสัดส่วนบริเวณต่างๆ ของสมองนั้นขัดแย้งกับลักษณะอาการศีรษะเล็ก
กระทั่งเมื่อปี 2009 กระดูกของโฮโมฟลอเรไซเอ็นซิสได้ถูกนำไปจัดแสดงแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยสโตนีบรูค (Stony Brook University) ลองไอส์แลนด์ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ามนุษย์โบราณดังกล่าวไม่ได้แค่มีสมองที่เล็ก แต่ยังมีรูปร่างสมองที่แตกต่างจากมนุษย์อื่นอย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นมนุษย์ที่มีสปีชีส์เป็นของตัวเอง
นอกจากนี้ ไลฟ์ไซน์ยังอ้างถึงงานวิจัยเมื่อปี 2007 โดย แมทธิว โทเชอริ (Matthew Tocheri) นักมานุษยวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสหรัฐ (National Museum of Natural History) ในวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐฯ และคณะ ซึ่งพบว่าทั้งรูปร่างและการหมุนของกระดูกสะโพกของฮอบบิตหญิงนี้ตรงกับลิงเอป และดูต่างอย่างมากจากกระดูกสะโพกของนีแอนเดอร์ทัล หรือ โฮโมนีแอนเดอร์ทัลเอ็นซิส (Homo neanderthalensis) และมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งชี้ว่าฮอบบิทคือมนุษย์ที่ถูกจำแนกได้ว่าเป็นอีกสปีชีส์อย่างชัดเจน
ภาพใบหน้าฮอบบิตนี้ถูกเผยขึ้นภายในการประชุมด้านโบราณคดีที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยวอลลองกอง ระว่าง 9-13 ธ.ค.2012 ซึ่งฮาเยสรู้สึกพึงพอใจกับผลงานนี้ของเธอ และชอบที่จะเรียกว่าเป็น “การสร้างใบหน้าขึ้นใหม่” มากกว่าเป็นแค่ “การคาดการณ์ลักษณะใบหน้า” เท่านั้น แต่ผลงานของเธอก็ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการที่มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ