xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลใหม่หนุน “ไดโนเสาร์” สูญพันธุ์จากภูเขาไฟระเบิดไม่ใช่อุกกาบาต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อมูลใหม่หนุนทฤษฎีไดโนเสาร์สูญพันธุ์จากภูเขาไฟระเบิด ไม่ใช่อุกกาบาตพุ่งชน (เครดิตภาพ Gerta Keller/NSF/ไลฟ์ไซน์)
แม้ส่วนใหญ่จะยอมรับกันว่าสาเหตุที่ “ไดโนเสาร์” สูญพันธุ์นั้น เกิดจากอุกกาบาตพุ่งชนโลก แต่ก็ยังมีหลายทฤษฎีที่แย้งทฤษฎีดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ ทฤษฎีเกี่ยวกับการระเบิดของภูเขาไฟที่เป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และล่าสุด มีข้อมูลใหม่ที่สนับสนุนว่าไดโนเสาร์ไม่ได้สูญพันธุ์จากสาเหตุนอกโลก

ข้อมูลจากงานวิจัยใหม่ ระบุว่า เมื่อหลายสิบล้านปีก่อนลาวาที่ไหลจากพื้นที่ภูเขาไฟเดคคันแทรปส์ (Deccan Traps) ซึ่งปัจจุบันอยู่ใกล้เมืองมุมไบของอินเดียอาจพ่นซัลเฟอร์และคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่เป็นพิษสู่ชั้นบรรยากาศ และเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เนื่องจากทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและน้ำในมหาสมุทรเป็นกรด

รายงานของไลฟ์ไซน์ ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวถูกนำเสนอภายในการประชุมของสหพันธ์ธรณีฟิสิกส์อเมริกัน (American Geophysical Union) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการถกเถียงทางวิชาการว่า ระหว่างถูกอุกกาบาตพุ่งชนหรือการระเบิดของภูเขาไฟ อะไรคือสาเหตุการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน ซึ่งรู้จักกันอีกชื่อว่าการสูญพันธุ์เคที (K-T extinction)

เกอร์ตา เคลเลอร์ (Gerta Keller) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) สหรัฐฯ เป็นผู้ที่โต้แย้งมาหลายปี ว่า แท้จริงแล้วกิจกรรมภูเขาไฟ คือ สิ่งที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์กล่าวว่า ข้อมูลใหม่จากงานวิจัยที่เขานำทีมศึกษานี้ เป็นเสียงปลุกให้เราต้องกลับมาประเมินกันใหม่ว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้ของการสูญพันธุ์เคที

ขณะที่ผู้สนับสนุนทฤษฎีไดโนเสาร์สูญพันธุ์จากอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลกที่ชิคซูลูบ (Chicxulub) เม็กซิโก เมื่อราว 65 ล้านปีก่อนแย้งว่า การพุ่งชนดังกล่าวได้ปลดปล่อยฝุ่นและก๊าซที่เป็นพิษสู่ชั้นบรรยากาศ กั้นแสงอาทิตย์จนความหนาวเย็นแผ่ซ่านไปทั่ว และอุดตันการหายใจของไดโนเสาร์และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และยังอาจกระตุ้นให้เกิดภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว และ สึนามิ

หากแต่ อีริค ฟอนท์ (Eric Font) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยลิสบอน (University of Lisbon) โปรตุเกส ซึ่งไม่ได้มีส่วนในงานวิจัยใหม่นี้ ให้ความเห็นว่า ข้อมูลจากงานวิจัยใหม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเหตุการณ์ที่เดคคันแทรปส์นั้นเกิดขึ้นก่อนการสูญพันธุ์ครั้งใหม่ไม่นาน และอาจมีส่วนทำให้เกิดการสูญพันธุ์ในบางส่วนหรือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้

ทั้งนี้ เมื่อปี 2009 บริษัทน้ำมันได้ขุดเจาะชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย และพบตะกอนดินที่มีลาวาเก่าจาก 2 ยุคทับถมและถูกฝั่งอยู่ใต้ผิวมหาสมุทรประมาณ 3.3 กิโลเมตร ซึ่งเคลเลอร์และทีมวิจัยของเธอได้รับสิทธิในการเข้าไปวิเคราะห์ตะกอนดินดังกล่าว และพบว่า ตะกอนดินนั้นเต็มไปด้วยฟอสซิลจากรอยต่อระหว่างยุคครเตเชียส (Cretaceous) และยุคเททอร์เทียรี (Tertiary) หรือรอยต่อเคที (K-T Boundary) ซึ่งเป็นช่วงที่ไดโนเสาร์ถูกกวาดล้างไปจากโลก

อาดาท ธีแยร์รี (Adatte Thierry) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยโลซาน (University of Lausanne) ในฝรั่งเศส ผู้ร่วมวิจัยกับเคลเลอร์กล่าวว่า ตะกอนดินดังกล่าวถูกเจาะพรุนไปด้วยชั้นของลาวา ซึ่งเดินทางไกลราวๆ 1,600 กิโลเมตรจากเดคคันแทรปส์ ปัจจุบันอาณาบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากภูเขาไฟแผ่กว้างกินพื้นที่พอๆ กับประเทศฝรั่งเศส แต่เมื่อครั้งที่ภูเขาไฟปะทุในยุคครีเตเชียสนั้นกินพื้นที่เกือบเท่าทวีปยุโรปในตอนนี้

ในร่องรอยของฟอสซิล เผยให้เห็นแพลงก์ตอนที่มีจำนวนน้อยกว่า ขนาดเล็กกว่าและมีเปลือกที่ซับซ้อนน้อยกว่าอยู่ในชั้นถัดจากลาวาไม่มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังภูเขาไฟปะทุ โดยสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ค่อยๆ ตายลง

ท่ามกลางสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่น้อยนั้น ก็มีสิ่งมีชีวิตในสกุลแพลงก์ตอนที่ทรหด มีขนาดเล็กและมีโครงสร้างแข็งภายนอกที่ไม่สามารถจัดเข้าพวกใดได้ ชื่อว่า “กิมบิลิเทรีย” (Guembilitria) โผล่ขึ้นมาในฟอสซิล และทีมของเคลเลอร์พบแนวโน้มคล้ายๆ กันนี้จากการวิเคราะห์ตะกอนดินทะเลที่พบในอียิปต์ อิสราเอล สเปน อิตาลี และในเท็กซัส สหรัฐฯ โดยพบกิมบิลิเทรียปรากฏในฟอสซิล 80-98% ขณะที่สิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นๆ นั้นหายไปหมด

“เราเรียกมันว่า นักฉวยโอกาสจากหายนะ มันเหมือนกันแมลงสาบ ซึ่งขณะที่ทุกอย่างนั้นกำลังเลวร้าย มันกลายเป็นสิ่งเดียวที่อยู่รอดและเจริญเติบโตได้” เคลเลอร์กล่าว

กิมบิลิเทรียอาจครองโลกในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยซัลเฟอร์ปริมาณมากจากการปลดปล่อยของภูเขาไฟเดคคันแทรปส์ และก่อให้เกิดฝนกรดตกสู่มหาสมุทร แล้วสร้างพันธะทางเคมีกับแคลเซียม จนอยู่ในรูปที่สิ่งมีชีวิตในทะเลไม่อาจนำไปใช้เพื่อสร้างเปลือกและโครงสร้างกระดูกได้

สำหรับงานที่ผ่านมาของทีมเคลเลอร์พวกเขาได้พบหลักฐานที่ชิคซูลูบ ซึ่งฉายแววสิ่งที่น่าเคลือบแคลงเกี่ยวกับการเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เนื่องจากอุกกาบาตพุ่งชนโลก โดยพวกเขาพบตะกอนดินที่มีธาตุเออริเดียม อันเป็นส่วนประกอบทางเคมีที่สำคัญของอุกกาบาตในช่วงเวลาหลังการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเธอกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อว่า อุกกาบาตเป็นสาเหตุให้เกิดการตายอย่างฉับพลัน

นอกจากนี้ เคลเลอร์ ยังกล่าวอีกว่า การพุ่งชนของอุกกาบาตนั้นไม่น่าจะทำให้เกิดซัลเฟอร์และคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นพิษได้มากพอ ที่จะสัมพันธ์กับระดับที่พบในหินต่างๆ โดยเป็นไปได้ว่าอุกกาบาตอาจเสริมให้การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เลวร้ายลงไป แต่ไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์

“อุกกาบาตนั้นเล็กเกินกว่าจะเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์” เคลเลอร์กล่าว
เดคคันแทรปส์ในอินเดียซึ่งไม่ปรากฏกิจกรรมภูเขาไฟแล้ว (Gerta Keller/ไลฟ์ไซน์)
ฟอสซิลในอินเดียที่เผยให้เห็นว่า แพลงก์ตอนมีขนาดเล็กลง ใีความซับซ้อนของเปลือกน้อยลง ซึ่งชี้ว่าซัลเฟอรืและคาร์บอนไดออกไซด์จากภูเขาไฟซึ่งเป็นสาเหตุให้มหาสมุทรเป็นกรดและทำให้ชีวิตในทะเลส่วนใหย่ตายลง (Gerta Keller/ไลฟ์ไซน์)






กำลังโหลดความคิดเห็น