xs
xsm
sm
md
lg

ปะทะ 2 ความคิด “บั้งไฟพญานาค” เกิดขึ้นเองหรือคนทำ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online






หลังการเปิดเผยข้อมูลภาพถ่ายจากการเปิดหน้ากล้องนานๆ เพื่อพิสูจน์ว่า ปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” นั้น เกิดจากการยิงกระสุนส่องวิถี ทาง “นพ.มนัส กนกศิลป์” ผู้เสนอทฤษฎีว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติจึงได้เชิญ “ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” ร่วมเสวนาเพื่อแสดงความเห็นต่อแง่มุมดังกล่าว

การเสวนาเรื่องบั้งไฟพญานาค เกิดจากกระสุนส่องวิถี หรือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 26 พ.ย.55 โดยการแสดงความเห็นระหว่าง นพ.มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ผู้มีข้อมูลสนับสนุนว่า “บั้งไพญานาค” คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีหลักฐานว่าบั้งไฟพญานาคนั้นเป็นกระสุนส่องวิถี

นพ.มนัส กนกศิลป์ เผยว่า โดยส่วนตัวเขาได้ชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคมานาน 25 ปี ซึ่งปรากฏการณ์นี้ถือว่ามีผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องตกผลึกความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างหลากหลาย บางคนเห็นด้วยตาแต่ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ และเชื่อว่าเกิดขึ้นจริงแต่เกิดขึ้นอย่างไรไม่มีรู้ บางคนเชื่อว่า อธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่บางคนเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ เมื่อบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติจึงรับไม่ได้

“2-3 ปีที่ผ่านมาผมได้เห็นขึ้นใกล้ๆ ในรัศมี 5 เมตร ได้ยินเสียงผุดขึ้น มีน้ำกระจาย ขึ้นแล้วดับในระยะ 40 เมตร สักวันถ้าอาจารย์เจษฎาได้เห็นคงจะคิดเหมือนผม แต่อาจารย์เจษฎาเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่เหมือนคนทำขึ้นมา ถ้าเอา 2 ส่วนนี้มารวมกันจะได้ภาพใหญ่ของบั้งไฟพญานาค” นพ.มนัส กล่าว

สำหรับคำอธิบายลักษณะบั้งไฟพญานาคจากข้อมูลของ นพ.มนัส ระบุว่า เป็นปราฏการณ์ที่มีดวงไฟหลากสี ส่วนใหญ่เป็นสีแดงหม่น ขนาดประมาณลูกมะนาวถึงผลส้ม ปรากฏให้เห็นเหนือแหล่งน้ำในลุ่มน้ำโขงแถบ จ.หนองคาย บึงกาฬ รวมถึงบึงโขงหลง และแหล่งน้ำอื่นๆ ทั้งในไทยและลาว พุ่งขึ้นเหนือน้ำ ติดไฟ ไม่มีเสียง ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ปรากฏในช่วงรอยต่อฤดูร้อนกับฤดูฝน 1-3 วัน และฤดูฝนต่อฤดูหนาว 2-5 วัน ส่วนวันออกพรรษาพบมากที่สุด
ภาพระหว่างการเสวนา (ซ้าย) นพ.มนัส กนกศิลป์ (ขวา) ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ และดำเนินรายการโดย ดร.นพ.ปริญญา ชำนาญ (กลาง)
นอกจากนี้ นพ.นมัส ยังศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจน โอโซน ความชื้นสัมพัทธ์และรังสียูวีซีในช่วงที่มีรายงานการพบเห็นบั้งไฟพญานาค โดยพบว่าช่วงที่เกิดบั้งไฟพญานาคนั้นมีออกซิเจนสูง โอโซนต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์สูง และมีรังสียูวีซีลงมาถึง ส่วนองค์ประกอบของก๊าซที่ทำให้เกิดบั้งไฟพญานาคนนั้น มีส่วนประกอบของฟองก๊าซฟอสฟีน และมีเทน ในสัดส่วนที่เหมาะสม และทำปฏิกิริยากับอากาศโดยรอบได้อย่างรวดเร็วไม่ฟุ้งกระจาย

พร้อมกันนี้ นพ.มนัส ยังได้ส่งทีมงานลงสัมภาษณ์ผู้อาศัยอยู่ริมน้ำโขงและมีประสบการณ์เห็นบั้งไฟพญานาคจำนวน 127 คน ทั้งที่อาศัยอยู่ฝั่งไทยและฝั่งลาว ซึ่งมี 55 คนที่ยืนยันว่า เห็นบั้งไฟขึ้นจากน้ำในระยะ 5 เมตร บางคนเห็นขึ้นข้างเรือไฟ โดยลักษณะลูกไฟสีต่างๆ แยกได้ถึง 18 สี โดยเป็นสีแดงอมชมพู สีแดง สีชมพู และสีเขียว นอกจากนี้ ยังมีคนไข้ของโรงพยาบาลอายุ 111 ปี ซึ่งเคยเห็นบั้งไฟพญานาค ขณะที่กระสุนส่องวิถีเพิ่งมีเมื่อ 97 ปีก่อน

ทางด้าน ดร.เจษฎา ซึ่งพูดถึงปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ว่า เป็น “หนังเก่าเล่าใหม่” โดยบอกว่าไม่เคยดูปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ในคำเชิญชวนไปชมปรากฏการณ์นั้น จะมีคำโฆษณาว่า “ยังรอการพิสูจน์” แต่ก็ไม่มีใครเคยถ่ายภาพได้เลย ทั้งที่มีคนดูเป็นแสนๆ ส่วนมากภาพประกอบที่ใช้จะเป็นภาพกราฟิก และเมื่อก่อนก็ชื่อ “บั้งไฟผี” แต่ นายพิทักษ์ ศรีตะบุตร ส.ส.หนองคาย ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบั้งไฟพญานาค
หนังสือที่เขียนโดย นพ.มนัส กนกศิลป์
“ตำนานพญานาคพ่นไฟรับเสด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่มีในพระไตรปิฏก ก่อนเป็น Unseen Thailand ก็มีปรากฏการณ์ให้เห็นน้อยมาก แต่พอเป็น Unseen ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อย โพนพิสัยก็เยอะขึ้นเป็นร้อยๆ ลูก เหมือนเยอะขึ้นในที่มีการจัดท่องเที่ยว” ดร.เจษฎา ให้ข้อมูลและตั้งข้อสังเกตระหว่างเสวนา และตั้งคำถามหลายข้อ เช่น ทำไมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพฉพาะตรงกับวันออกพรรษาของลาว เป็นต้น

หากอธิบายว่า เป็นก๊าซที่สะสมจากแหล่ง ลักษณะการติดไฟก็แตกต่างไปจากที่ควรจะเป็น โดย ดร.เจษฎา ได้เผยวิดีโอภาพการติดไฟของก๊าซที่นำมาจากแหล่งน้ำ โดยพบว่า มีเทนในฟองสบู่เมื่อติดไฟก็จะวาบสว่างขึ้นและหายไป หรืออัดก๊าซลงในถุงขนาดใหญ่ เมื่อจุดไฟก็เผาไหม้แล้ววาบหายไป ซึ่งก๊าซตามหนองบึงเหล่านี้จะติดไฟได้เมื่อจุดไฟและจะให้ก๊าซสีฟ้า

หลังจากสงสัยในหลายเรื่องที่สุดก็มาตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วบั้งไฟพญานาคนั้นขึ้นจากน้ำหรือไม่ ซึ่งทีมงานของ “สมภพ เจ้าเก่า” จากห้องหว้ากอ พันทิป ได้เดินทางไปพิสูจน์ โดยเปิดหน้ากล้องถ่ายภาพนาน 15 นาที เพื่อบันทึกภาพปรากฏการณ์จากฝั่งไทย แต่ภาพที่ปรากฏนั้นกลายเป็นเส้นที่ขึ้นมาจากฝั่งลาว และไม่มีเส้นใดเลยที่ขึ้นจากน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีวิดีโอจากรายการ “ถอดรหัส” ของสถานีไอทีวี เมื่อปี 2545 ที่ไปตั้งกล้องถ่ายภาพฝั่งลาว และเห็นการยิงปืนจากฝั่งลาวอันเป็นประเพณีที่ทำขึ้นทุกปี ซึ่งหลังยิงประมาณ 3 วินาทีก็จะได้ยินเสียงเฮจากฝั่งไทย โดยแม่น้ำโขงนั้นกว้าง 1 กิโลเมตร การเดินทางของเสียงจะใเวลาประมาณ 2-3 วินาที ขณะที่แสงจะเดินทางเร็วกว่า

พร้อมกันนี้ ดร.เจษฎา ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์เทียม” (Spurious Relationship) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัวที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน เช่น จำนวนนกกระสาที่มากขึ้น กับ จำนวนประชากรที่มากขึ้นในช่วงเดียวกัน จึงสรุปเป็น “นกกระสาคาบเด็กมาเกิด” เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเห็นความสัมพันธ์ของข้อมูลใดแล้วเราต้องอธิบายได้ด้วยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี นพ.มนัส ให้ความเห็นแก่ทางทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า การเสวนาครั้งนี้ไม่ได้มีความเห็นที่ขัดแย้งกัน เนื่องจากบั้งไฟพญานาคของปลอมก็มีอยู่จริง ขณะที่ของจริงก็มีอยู่แต่น้อยมาก ซึ่งต่อไปจากนี้คือการต้องรณรงค์ให้พยายามยุติการสร้างของปลอมและหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

สอดคล้องกับ ดร.เจษฎา ซึ่งระบุว่าการแสดงแสงสี หรือการจุดพลุต่างๆ ควรจะน้อยลง เพื่อให้เราได้ค้นหาบั้งไฟพญานาคของจริงได้ง่ายขึ้น แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันถึงบั้งไฟพญานาคของจริง หากมีหลักฐานก็จะนำไปสู่การศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ได้ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้ที่ไปชมบั้งไฟพญานาคหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพเพื่อร่วมกันพิสูจน์








หมายเหตุ
อ่านบทความการศึกษาของ นพ.มนัส กนกศิลป์ หน้า 2-4 เรื่อง
- บั้งไฟพญานาคจากประสบการณ์คนที่เคยมองเห็นในระยะไม่เกิน 5 เมตร
- อายุขัยบั้งไฟพญานาคจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ
- การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการพบเห็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคายกับการเปลี่ยนแปลง %O2 ในบรรยากาศระดับชิดผิวโลกภายในรัศมี 200 กม.จากตำแหน่งที่มีผู้พบเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2536 - 28 ตุลาคม 2537 รวม 365 วัน
บั้งไฟพญานาคจากประสบการณ์คนที่เคยมองเห็นในระยะไม่เกิน 5 เมตร

มนัส กนกศิลป์ และคณะ
โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี


บทคัดย่อ

หลักการและเหตุผล บั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ที่มีผู้พบเห็นลูกไฟประหลาดปรากฏชัดเหนือระดับน้ำ ขนาดประมาณลูกมะนาว สีแดงอมชมพู ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลวไฟ ไม่มีเสียง ลอยสูงขึ้นไปด้วยความเร็วสม่ำเสมอแล้วลับหายไปโดยไม่ตกลงมา มีความเชื่อว่าเกิดจากพญานาคพ่นไฟตามตำนาน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ และมีคนสร้างขึ้นด้วยกระสุนส่องวิถี แต่ยังไม่มีข้อสรุปถึงสาเหตุแท้จริง จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดมนุษย์ที่ต้องการพิสูจน์และหาหลักฐานเชิงประจักษ์มายืนยัน ข้อมูลจากประสบการณ์ของผู้พบเห็นบั้งไฟพญานาคที่มองเห็นด้วยสายตา ในระยะรัศมีไม่เกิน 5 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่สายตามนุษย์สามารถมองเห็นชัดและแยกแยะวัตถุได้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคจากการมองเห็นของมนุษย์ในระยะไม่เกิน 15 เมตร และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสีต่างๆ ที่มองเห็นระยะ 5 เมตรกับระยะที่มากกว่า 5-15 เมตร

รูปแบบการวิจัย Analytic Cross-sectional Study กลุ่มตัวอย่างจำนวน 127 คน เป็นผู้ที่เคยมองเห็นบั้งไฟพญานาคในระยะไม่เกิน 15 เมตร อาศัยอยู่จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และ สปป.ลาว เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2555 โดยใช้แบบสัมภาษณ์ด้วยทีมงานจากจังหวัดอุบลราชธานี และหนองคาย

ผลการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง 127 คน ร้อยละ 71.7 เป็นชาวจังหวัดหนองคาย อาศัยอยู่ใน อ.เมือง โพนพิสัย และ รัตนวาปี ร้อยละ 25.2 เป็นชาวบึงกาฬ อ. บึงโขงหลง พรเจริญ และ เซกา และ ใน สปป.ลาว แขวงบริคำไซย ร้อยละ 3.1 อายุระหว่าง 23-91 ปี เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด (55 คน หรือร้อยละ 43.3) ให้ข้อมูลยืนยันการมองเห็นชัดเจนที่สุดในระยะไม่เกิน 5 เมตร โดยปีที่เริ่มเห็น คือ พ.ศ.2474 (81 ปีที่ผ่านมา) จุดที่พบเห็นมี 36 แห่ง บริเวณบึงโขงหลง พบมากที่สุด ร้อยละ 15.0 (19 คน) บริเวณบ้านน้ำเปและบ้านจอมนาง (อ.โพนพิสัย) พบรองลงมา คือ ร้อยละ 14.2 และ ร้อยละ 11.8 ส่วนแหล่งน้ำที่เกิดพบมีหลายแหล่ง นอกจากเกิดตามแนวแม่น้ำโขง ซึ่งมี 6 คน ที่ระบุว่า เคยเห็นลอยขึ้นข้างลำเรือขณะไหลเรือไฟในระยะไม่เกิน 5 เมตร

ส่วนอีกร้อยละ 32.3 (41 คน) เคยมองเห็นบริเวณบ่อน้ำที่บ้าน ปลักควาย หนองน้ำในทุ่งนาหรืออ่างเก็บน้ำ เช่น หนองสรวง หนองบัว ห้วยหลวง หนองคำหวาน รวมทั้งห้วยสะพาย สปป.ลาว ขณะที่มองเห็นทุกคนยืนยันว่ามีแสงสว่างเพียงพอในการระบุสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนและไม่มีคนใดพบสิ่งผิดปกติที่ระบุว่าเป็นฝีมือมนุษย์ทำขึ้น บั้งไฟพญานาคยังถูกเรียกชื่ออื่น ได้แก่ บั้งไฟผี ลูกไฟพญานาค หมากลูกน้ำ แก้วเสด็จ และบั้งไฟปู่ลือ มีลักษณะเป็นลูกไฟสีต่างๆ หลายสี แยกได้ 18 สี คือ สีแดงอมชมพู สีแดง สีชมพู และสีเขียว พบร้อยละ 24.1, 20.7, 15.9 และ 10.3 ตามลำดับ ลอยในแนวดิ่ง ลอยสูงขึ้นตั้งแต่ 2-100 เมตร หรือประมาณ 5-10 วินาที แล้วหายไป

ในจำนวนนี้ 4 คน เล่าว่า เริ่มแรกเห็นเป็นสีเขียวแต่พอลอยสูงขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เปรียบเทียบความแตกต่างของจำนวนครั้งที่มองเห็นสีเขียวกับจำนวนครั้งที่มองเห็นสีอื่นๆ ในระยะไม่เกิน 5 เมตร กับระยะมากกว่า 5-15 เมตร ด้วย Pearson Chi-Square พบว่า มองเห็นสีเขียวในระยะไม่เกิน 5 เมตร 9 ครั้ง เห็นสีอื่นๆ 59 ครั้ง และมองเห็นสีเขียวในระยะเกิน 5-15 เมตร 6 ครั้ง เห็นสีอื่นๆ 71 ครั้ง แสดงว่า การมองเห็นสีเขียวในกลุ่มที่มองเห็นระยะไม่เกิน 5 เมตร มีมากกว่ากลุ่มที่มองเห็นระยะเกิน 5-15 เมตร ส่วนสีอื่นๆ จะมองเห็นในระยะเกิน 5-15 เมตร มากกว่าระยะไม่เกิน 5 เมตร แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.283)

สรุปผล บั้งไฟพญานาคจากประสบการณ์คนที่มองเห็นในระยะไม่เกิน 5 เมตร สามารถระบุลักษณะได้อย่างชัดเจน โดยไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติบริเวณใกล้เคียงที่พอจะระบุว่าเป็นฝีมือมนุษย์ทำขึ้น ส่วนมากมีลักษณะเป็นลูกไฟสีแดงอมชมพู สีเขียว และยังมีสีอื่นๆ อีกหลายสี ลอยสูงขึ้นในแนวดิ่ง ตั้งแต่ 2 เมตร ถึง 100 เมตร ลอยอยู่นานประมาณ 5-10 วินาที แล้วหายลับไป เกิดขึ้นบริเวณแหล่งน้ำได้หลายแห่ง มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ จากข้อมูลที่ศึกษาจึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์พยานบุคคลที่มองเห็นการเกิดบั้งไฟพญานาคด้วยสายตาในระยะใกล้ ยืนยันการเกิดปรากฏการณ์ให้มีความน่าเชื่อถือ ว่า บั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริงตามธรรมชาติ เพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติ คือ สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นหรือสังเกตเห็นบนโลกได้ โดยไม่ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยมนุษย์

ข้อเสนอแนะ ควรศึกษาเปรียบเทียบลักษณะของกระสุนส่องวิถี โดยการยิงกระสุนส่องวิถีแบบเทคนิคธรรมดา หรือเทคนิคการยิงแบบ Spin drift ด้วยกลุ่มตัวอย่างที่เคยมองเห็นบั้งไฟพญานาคในระยะเดียวกัน เพื่อหาความแตกต่างระหว่างกระสุนส่องวิถีกับบั้งไฟพญานาคจากการมองเห็นในระยะไม่เกิน 5 เมตร

คำสำคัญ บั้งไฟพญานาค มองเห็น สีเขียว สีแดงอมชมพู หนองคาย บึงกาฬ
อายุขัยบั้งไฟพญานาคจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ
มนัส กนกศิลป์ และคณะ
โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี


บทคัดย่อ

หลักการและเหตุผล บั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ที่มีผู้พบเห็นมานานมาก แต่ยังไม่มีข้อสรุปถึงสาเหตุและช่วงระยะเวลาที่พบเห็นครั้งแรกชัดเจน แต่ระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีการเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์ระบุว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ทำด้วยกระสุนส่องวิถีที่ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในกองทัพบกอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2458 โดยยิงมาจากฝั่ง สปป.ลาว จึงศึกษาอายุขัย หรือช่วงเวลาการมองเห็นครั้งแรกจนปัจจุบันและลักษณะสำคัญของบั้งไฟพญานาคจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับอายุขัยของกระสุนส่องวิถีที่มนุษย์สร้างขึ้น

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอายุขัยและลักษณะที่สำคัญของบั้งไฟพญานาคจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษที่เคยพบเห็นขณะอาศัยอยู่ในจังหวัดหนองคายและบึงกาฬ

รูปแบบการวิจัย Descriptive Study กลุ่มตัวอย่างเป็นรุ่นลูกหรือหลาน ของ พ่อ แม่ หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย และทวด ที่เคยเล่าเรื่องบั้งไฟพญานาค จำนวน 42 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2555 โดยใช้แบบสัมภาษณ์ ด้วยทีมงานจากจังหวัดอุบลราชธานีและหนองคาย

ผลการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 42 คน ส่วนใหญ่เป็นชาว อ.โพนพิสัย อ.รัตนวาปี จังหวัดหนองคาย และอีกร้อยละ 11.9 เป็นชาว อ.บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ ครึ่งหนึ่งของบรรพบุรุษที่เล่าถึงเป็นรุ่นพ่อหรือแม่ จำนวน 21 คน (ร้อยละ 50) เป็นรุ่นปู่ ย่า ตา หรือ ยาย ร้อยละ 40.5 (จำนวน 17 คน) และเป็นรุ่นทวด ร้อยละ 9.5 (จำนวน 4 คน) เกิดช่วงปี พ.ศ.2433-2480 เสียชีวิตช่วงปี พ.ศ.2492-2553 อายุขัย 50-107 ปี และในจำนวนนี้มีบุคคลที่เล่าถึงยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 1 คน ปัจจุบันอายุ 91 ปี ส่วนปีที่เริ่มพบบั้งไฟพญานาคครั้งแรกอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2444-2506 โดยมีคนที่พบครั้งแรกก่อนปี พ.ศ.2458 อยู่ 5 คน (ร้อยละ 11.9 ของจำนวนบรรพบุรุษทั้งหมด) ส่วนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เห็นครั้งแรกปี พ.ศ.2474 สถานที่เห็นมีหลายแหล่ง บริเวณริมโขง หนองน้ำธรรมชาติ และบ่อน้ำในหมู่บ้าน เช่น บ้านกุดแคน บ้านตาลชุม หนองเริง ห้วยหลวง ห้วยควัน หนองสรวง หนองบัว จ.หนองคาย และ บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ การเรียกชื่อนอกจากเรียกบั้งไฟพญานาค ยังถูกเรียกชื่ออื่น เช่น บั้งไฟผี ซึ่งมีอยู่ 10 คน (ร้อยละ 23.8) แก้วเสด็จ 5 คน (ร้อยละ 11.9) และหมากลูกน้ำ 2 คน และมี 1 คน เรียกว่า ดวงไฟ สีที่มองเห็นจะมีหลายสี เช่น เขียว แดง แดงอมชมพู เหลือง ส้ม ฟ้า เกิดขึ้นขณะจันทร์ส่องสว่าง ระยะใกล้ 2-3 เมตร มีหลายคนให้ข้อมูลว่าเคยเห็นกระสุนส่องวิถีโดยเฉพาะมี 1 คน ที่เคยเป็นทหารและเคยยิงกระสุนส่องวิถีมาแล้ว ยืนยันว่าแตกต่างกันกับบั้งไฟพญานาค

สรุปผล อายุขัยบั้งไฟพญานาคจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ พบครั้งแรกปี 2444 มีอายุถึงปัจจุบัน 111 ปี จึงมีอายุมากกว่ากระสุนส่องวิถีที่ผลิตขึ้นครั้งแรก ปี พ.ศ.2458 ที่มีอายุถึงปัจจุบัน 97 ปี อยู่ 14 ปี สถานที่พบมีหลายแหล่งตามธรรมชาติ มีชื่อเรียกหลายชื่อ และมีสีต่างๆ หลายสี มีผู้ยืนยันหลายคนถึงความแตกต่างระหว่างบั้งไฟพญานาคกับกระสุนส่องวิถี บั้งไฟพญานาคจึงมีอยู่จริงตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากกระสุนส่องวิถี

คำสำคัญ บั้งไฟพญานาค กระสุนส่องวิถี อายุขัย หนองคาย บึงกาฬ
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการพบเห็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคายกับการเปลี่ยนแปลง %O2 ในบรรยากาศระดับชิดผิวโลกภายในรัศมี 200 กม.จากตำแหน่งที่มีผู้พบเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2536 - 28 ตุลาคม 2537 รวม 365 วัน

นพ.มนัส กนกศิลป์
ผอ.รพ.สรรพสิทธิประสงค์จังหวัดอุบลราชธานี


หลักการและเหตุผล ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค คือ การมีผู้พบเห็นลูกไฟประหลาดขนาดประมาณลูกมะนาวสีแดงอมชมพู ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลวไม่มีเสียง ลอยสูงขึ้นไปด้วยความเร็วต้นและความเร็วปลายใกล้เคียงกันที่ประมาณ 15-20 เมตร ต่อวินาที ลับหายไปที่ความสูงประมาณ 30-40 เมตรโดยไม่ดับหรือตกลงมา เริ่มปรากฏให้เห็นชัด เหนือระดับน้ำในห้วยหนองคลองบึงตามแหล่งน้ำต่างๆ และเหนือแม่น้ำโขงในพื้นที่จังหวัดหนองคาย โดยพบเป็นประจำในวันออกพรรษา จากคำบอกเล่าของคนรุ่นปู่ของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงมานานมากกว่า 140 ปี

หากเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติจริงลูกไฟจะต้องมีลักษณะดังนิยามข้างบนทุกประการและ นอกจากจะไม่เกิดเพียงปีละวันแล้วยังต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1) การเกิดต้องไม่เป็นอิสระต้องผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการ
2) สามารถเกิดซ้ำได้หากมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติประการเดิมเกิดซ้ำขึ้นอีก
3) ความสัมพันธ์ดังกล่าวต้องสามารถอธิบายความเกี่ยวพันทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเหตุเป็นผลต่อกันได้

วัสดุและวิธีการ

เครื่องวัด %O2 teledyne electronic device ของบริษัท prime medical ได้ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยนี้ โดยค่าปกติ ของ %O2 ที่วัดได้ด้วยเครื่องมือนี้คือ 20% ค่าที่ถือว่าสูงกว่าปกติในที่นี้คือ ตั้งแต่ 22% ขึ้นไป โดยวัดทุก 3 ชม.ติดต่อกัน 365 วันในรัศมี 200 กม.จากจุดที่พบเห็นปรากฏการณ์ ข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่มารับบริการที่คลินิกมนัสการแพทย์ทุกคนที่เข้ามารับการรักษา ตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2536-28 ตุลาคม 2537 และข้อมูลนอกคลินิกทุกรูปแบบตามแต่จะสืบเสาะหามาได้ที่มีผู้พบเห็นด้วยตนเองหรือได้ยินการพบเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเวลาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการพบเห็นเองหรือแค่เป็นการได้ยินการพบเห็นจะต้องสามารถนำสืบจนผู้วิจัยสามารถตามพบตัวและสัมภาษณ์ผู้พบเห็นจริงๆได้ ต้องสามารถระบุ วัน เวลา สถานที่ จำนวนลูกบั้งไฟ ลักษณะของบั้งไฟ ที่สอดรับกับนิยามข้างต้นได้ และนำสืบไปยังสถานที่จริงมีผู้พบเห็นอย่างน้อย 2 รายในเหตุการณ์เดียวกันยืนยันวันเวลาสถานที่และลักษณะและจำนวนลูกไฟได้ถูกต้องตรงกัน

ผลการศึกษา
จากการวัด %O2 ในรัศมี 200 กม.จากจุดกำเนิดบั้งไฟพญานาคที่อำเภอโพนพิสัยจังหวัดหนองคายวัดทุก 3 ชม. เพื่อหาความสัมพันธ์กับการพบเห็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคในช่วงเวลาเดียวกันห่างกันไม่เกิน 200กม.ในเวลา 365 วัน ถ้าทำการวัดทุกครั้ง จะต้องวัด 01, 04, 7, 10, 13, 16, 19, 22 รวม 8 ครั้งต่อ 24 ชม.หรือ 2,920 ครั้ง ต่อ 365 วัน แต่มีการวัดจริง จำนวน 2,385 ครั้ง คิดเป็น drop out rate 18.32 % แต่ไม่มีวันใดที่จะวัดตำกว่า 4 ครั้ง ต่อ 24 ชม. พบว่า ในจำนวน 365 วัน มีผู้พบเห็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคตามนิยามดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่แค่ วันเดียวแต่พบถึง 9 วัน มีวันที่วัดได้ %O2 อย่างน้อย 22% อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อวัน ร่วมกับ พบบั้งไฟ อยู่ 7 วัน มีวันที่วัด %O2 ได้ตำกว่า 22% อย่างน้อยหนึ่งครั้งแต่พบบั้งไฟขึ้นในเวลาเดียวกันอยู่ 2 วัน มีวันที่วัดได้ %O2 อย่างน้อย 22% อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อวัน แต่ไม่พบบั้งไฟ อยู่ 22 วัน มีวันที่วัด %O2 ได้ต่ำกว่า 22% ทั้งวัน และไม่พบบั้งไฟตลอด 24 ชม.อยู่ 334 วัน

ผลการศึกษาความสัมพันธ์ในเชิงสถิติ
พบความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างจำนวนวันที่มีการพบเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวร่วมกับจำนวนวันที่พบการวัด %O2 ได้ไม่ตำกว่า 22% ในวันและช่วงเวลาเดียวกันในบรรยากาศระดับชิดผิวโลกในรัศมี 200 กม.จากจุดพบเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดย Fischer Exact's test ที่ p-value น้อยกว่า 1x10 -9

สรุป
1) การเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคตามนิยามดังกล่าว ไม่ได้เกิดโดยอิสระ แต่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบอากาศระดับชิดผิวโลกในทางสถิติอย่างน้อย หนึ่งประการ คือ %O2 ในบรรยากาศที่เพิ่มมากกว่าหรือเท่ากับ 22 % ขึ้นไปซึ่งทั้งปี วัด ถึง 2385 ครั้ง แต่มี %O2 สูงแค่ 61 ครั้งหรือเพียง 2.56% เท่านั้น บั้งไฟพญานาคขึ้นอยู่ 9 ใน 365 วัน แต่มีถึง 7 วันที่พบ %O2 สูงดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อ วันที่ 16 พฤษภาคม 2537 อาจารย์เนตรนภาพิสัยพันธ์ (หนึ่งในประชากรตัวอย่างในงานวิจัย)ได้ให้สัมภาษณ์ระบุวันเวลาที่บั้งไฟพญานาคขึ้นหน้าบ้านท่าน บริเวณปากห้วยหลวงอำเภอโพนพิสัยซึ่งขึ้นถึง 15 ลูก เวลา 19.00-22.00 น.ตรงกับเครื่องวัดของผู้วิจัยอ่านค่า %O2 ได้สูงซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เข้าใกล้โลกอีกรอบในฤดูร้อน (จากข้อมูลที่อาจารย์ให้ตำแหน่งที่บั้งไฟขึ้นพบบั้งไฟขึ้นที่หน้าบ้านท่านทุกปีย้อนหลังจากปี 2537 นับเป็นสิบๆ ปี) ตำแหน่งที่บั้งไฟขึ้นที่บ้านท่านอยู่ห่างจากตำแหน่งที่ท่านและครอบครัวนั่งอยู่แค่ 50 เมตรเท่านั้นและครอบครัวท่านมักจะเห็นบั้งไฟในแม่น้ำโขงหน้าบ้านท่านปีละ 2 รอบ คือ ทั้งหน้าร้อน และวันออกพรรษามาโดยตลอดก่อนจีนสร้างเขื่อน

2) ได้ติดตามวัดติดต่อกันทุก 3 ชม.อีก 5 ปี ต.ค.2536 - ก.ย.2541 วัดกว่า 11,000 ครั้ง %O2 สูงรวมกันแค่ประมาณ 150 ครั้ง แต่พบว่าบั้งไฟไม่ได้ขึ้น แค่ 5 วัน หากแต่ขึ้นถึง 37 วัน และไม่นับวันออกพรรษาที่ %O2 สูงทุกปีอยู่แล้วตอนบั้งไฟขึ้นแต่ยังมีวันอื่นๆอีกถึง 23 จาก 32 วันที่เหลือที่มีผู้พบเห็นบั้งไฟในเวลาเดียวกับที่เครื่องวัด %O2 อ่านค่าสูงพอดี ถ้าเป็นมนุษย์ทำใครจะสามารถทำตรงกับเครื่องวัดของผู้วิจัยได้แม่นยำถึงอย่างนั้นเพราะผู้วิจัยเองก็ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าวันที่ไม่ใช่วันออกพรรษา วันใดบ้างที่ %O2 จะสูงและความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ยังเกิดซ้ำๆ ตลอด 5 ปีที่ทำวิจัย

3) จากงานวิจัยยังพบอีกว่าวันที่ %O2 สูงสุดแทบทุกปีคือวันออกพรรษา(unpaired t-test analysis p-value น้อยกว่า 0.025) และนอกจากนี้ จาก retrospective data จากสถานีวัดอากาศที่อำเภอโพนพิสัยจังหวัดหนองคายยังพบว่าวันออกพรรษาและวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่าวันเพ็ญ และวันแรม 1 ค่ำ เดือนอื่นๆ ทุกเดือนในรอบ 11 ปี (2526-2536) (unpaired t-test analysis p-value น้อยกว่า0.025) และปี2546-2547 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้นำเครื่องวัดพลังงานรังสี UVC และ O3 มาวัดเพื่อพิสูจน์สมมติฐานของผู้วิจัยพบว่า O3 ต่ำจนเหลือศูนย์และมีการเพิ่มพลังงานรังสี UVC จริงโดย สามารถตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายแนวโน้มการสลายตัวของ O2 และการเพิ่มอนุมูลอิสระ OH ที่สามารถลด react time ของฟองก๊าซ PH3 และ CH4 ที่มีส่วนประกอบที่เหมาะสมเปลี่ยนจาก Homogenous Oxidation เป็น Heterogenous หรือsurface oxidationแทน โดยจาก AICHE1991 การเกิด autotherm ของ CH4 และ N2 จะเกิดถ้ามี % CH4 ที่เหมาะสมคือ 12-18% และจากการวางทุ่นดักก๊าซจากแม่น้ำโขงที่บ้านจอมนาง 15 ก.ค.-1 ส.ค.2537 ส่งก๊าซที่ได้ไปวิเคราะห์กับบริษัท SGS ประเทศไทยจำกัดพบ % CH4 ประมาณ 19% ใกล้เคียงที่พบในเจอน่อลฉบับนี้โดย PH3 ทำหน้าที่เป็นไม้ขีดจุด CH4 แทนความร้อนจากแท่งแพลตินั่ม โดยมีอัตราการเกิดของเสีย,อัตราการระบายของเสีย,อัตราการสันดาปของ CH4, บนผิวทรงกลมของฟองก๊าซต่อหนึ่งหน่วยเวลาต่อตารางหน่วยพื้นที่ผิวของฟองก๊าซจะต้องสมดุลจนไม่เกิดรูรั่วที่ผิวทรงกลม โดยบั้งไฟพญานาคคือลูกโป่งสวรรค์ที่ไม่มีลูกโป่งห่อหุ้มภายในอัดด้วย CH4 และ N2 เป็นส่วนใหญ่มี PH3 อยู่พอที่จะจุดให้ติดไฟได้ สรุปคือถึงแม้การอธิบายการติดไฟคงเป็นการค้นพบใหม่ที่ยิ่งใหญ่ทางเทอร์โมไดนามิกซ์ซึ่งคงต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม ความรู้เท่าที่มีขณะนี้ยังไม่สามารถอธิบายได้หมดจดก็จริง แต่ก็เพียงพอที่จะบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ถ้าเป็นภาพจิ๊กซอว์ก็คงต้องบอกว่าพบงวงกับงาแล้วไม่ใช่ช้างจะเป็นอะไรได้อีก เพราะมีเหตุผลรองรับตามข้อ 1)-3) ดังกล่าวแล้วข้างต้น เพราะไม่มีงานวิจัยใดเพียงแค่ชิ้นเดียวที่จะตอบคำถามของการวิจัยในเรื่องเดียวกันทุกคำตอบได้ นอกจากนี้ แรงผลักดันให้ลูกบั้งไฟโผล่ขึ้นจากนำพุ่งขึ้นสู่อากาศด้วยความเร็วถึง 15-20 เมตรต่อวินาทีตามสมมติฐานคือน้ำหนักสุดท้ายของน้ำที่ถูกลูกบั้งไฟแทนที่เป็นตัวตั้งลบด้วยน้ำหนักลูกบั้งไฟพญานาคซึ่งน่าจะน้อยกว่ากันนับพันเท่า และถูกประคองให้ลอยสูงขึ้นไปด้วยน้ำหนักอากาศปริมาตรเท่าบั้งไฟลบด้วยน้ำหนักบั้งไฟพญานาค (น้ำหนักโมเลกุลเฉลี่ยของอากาศ คือ 29 ซึ่งหนักกว่าน้ำหนักโมเลกุลเฉลี่ยของ CH4 + N2) ยังเป็นสมมติฐานที่ต้องทำการออกแบบการศึกษาและงานวิจัยด้านเทอร์โมไดนามิกซ์เพิ่มเติมอีกมากหากทำสำเร็จก็เท่ากับลบล้างหรือเพิ่มเติมกฎเทอร์โมไดนามิกซ์ขึ้นใหม่เลยทีเดียว

กล่าวโดยสรุปตามความเห็นของ นพ.มนัส กนกศิลป์ หากยอมรับข้อมูลจากการศึกษาในผลงานวิจัยชิ้นนี้ ว่า การเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของ %O2 ระดับ 22% ขึ้นไปในบรรยากาศระดับชิดผิวโลก เป็นเรื่องจริง สิ่งที่ดวงตามนุษย์เห็นตามนิยามข้างต้น ต้องเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างแน่นอน แต่จะเป็นธรรมชาติอย่างไรคงต้องมีงานวิจัยอื่นทำเพิ่มเพื่อตอบคำถามในส่วนที่ยังรอคำตอบอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น