xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยม! ใส่เชื้อราลงกล้าไม้ยาง ชาวบ้านได้เห็ด ประเทศได้ป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กล้าไม้วงศ์ไม้ยางชนิดต่างๆ ที่ใส่ราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะเพื่อใช้ในการปลูกสร้างสวนป่า
ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ - กุศโลบายชั้นเยี่ยม! นักวิจัยจุฬาฯ ประยุกต์ใช้ราเอคโตไมคอร์ไรซาปลูกไม้วงศ์ไม้ยาง กระตุ้นพืชให้โตเร็ว ได้เห็ดราคาแพงให้ชาวบ้านไว้กิน กระตุ้นการปลูกป่าแบบชุมชนได้ประโยชน์

ไม้วงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) เป็นพรรณไม้ประจำถิ่นของไทย พบในป่าเต็งรังซึ่งมีมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ไม้ชนิดนี้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถนำใช้ใน การก่อสร้างและผลิตเฟอร์นิเจอร์ แต่การปลูกทดแทนมีน้อยและไม่ค่อยได้รับความสนใจ เนื่องจากไม้วงศ์ไม้ยางมีอัตราการเจริญเติบโตช้า มักแคระแกรน และมีอัตราการรอดต่ำเมื่อย้ายปลูก

ผศ.ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาการใช้ราเอคโตไมคอร์ไรซาในการปลูกป่าไม้วงศ์ไม้ยางกล่าวถึง “ราเอคโตไมคอร์ไรซา” ว่า เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่กับรากของต้นไม้และไม่ก่อให้เกิดโรค การอาศัยอยู่ร่วมกันนี้เป็นแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยราเอคโตไมคอร์ ไรซาจะมีเส้นใยปกคลุมรอบๆ รากพืช และทำหน้าที่หาแร่ธาตุ อาหาร และน้ำแทน ทำให้รากพืชไม่ต้องทำงานหนักมาก ในขณะที่พืชจะสร้างสารอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรต ฯลฯ ส่งกลับไปเลี้ยงเชื้อราให้เจริญเติบโต

“นอกจากนี้ ราเอคโตไมคอร์ไรซายังช่วยป้องกันรากพืชจากเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค และช่วยให้พืชสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ได้ โดยราชนิดนี้สามารถสร้างกรดอินทรีย์บางชนิดไปย่อยสลายแร่ธาตุอาหารที่อยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ให้ละลายไปเป็นรูปที่พืชใช้ประโยชน์ได้ พืชจึงมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูง และมีอัตราการตายของกล้าไม้ต่ำเมื่อย้ายปลูก แต่ราเอคโตไมคอร์ไรซามีความจำเพาะกับพืชค่อนข้างมากจึงไม่ค่อยพบขึ้นทั่วไป ในไทยจะพบมากในป่าเต็งรัง” ผศ.ดร.จิตรตรา อธิบาย

สำหรับผลงานวิจัยดังกล่าว ผศ.ดร.จิตรตรา เปิดเผยว่า เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ราเอคโตไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกป่าไม้วงศ์ไม้ยาง เริ่มจากการสำรวจความหลากหลายของราเอคโตไมคอร์ไรซาในป่าเต็งรังซึ่งพบว่ามีมากมายหลายชนิด ทำการคัดเลือกราที่มีคุณสมบัติความจำเพาะกับไม้ สามารถเพาะเลี้ยงได้ในอาหารเลี้ยงเชื้อ เพื่อให้สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากโดยไม่จำกัดช่วงเวลา และต้องสร้างดอกเห็ดที่สามารถรับประทานได้ เพื่อดึงดูดใจให้ประชาชนหันมาสนใจการปลูกไม้ป่ามากขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มแล้วยังได้ดอกเห็ดไว้รับประทานและสร้างรายได้อีกด้วย

โดยการวิจัยครั้งนี้เลือกใช้ราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “เห็ดถอบ” ซึ่งเป็นเห็ดที่ชาวบ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือนิยมรับประทานและมีราคาค่อนข้างแพง จากนั้นทำการคัดเลือกสายพันธุ์ราเห็ดเผาะ โดยเก็บสายพันธุ์จากหลายพื้นที่มาทำการทดลองคัดเลือกว่าสายพันธุ์ใดสามารถเติบโตในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ดี เร็ว และแข็งแรง เพื่อนำมาผลิตเป็นหัวเชื้อเส้นใย ใส่ให้กับต้นกล้าไม้วงศ์ไม้ยาง

ชนิดไม้ที่ทีมวิจัยใช้ในการทดลองครั้งนี้ ได้แก่ ตะเคียนทอง ยางนา เต็ง รัง เหียง พะยอม และพลวง จากนั้นทำการติดตามการเจริญเติบโตของต้นกล้าที่ใส่ราเมื่อเทียบกับต้นกล้าที่ไม่ได้ใส่รา และทำการทดสอบว่ามีการติดเชื้อราที่ต้องการที่รากจริงหรือไม่ เพราะเชื้อรามีอยู่ทั่วไป จึงอาจพบเชื้อที่ไม่ต้องการในการทดลองได้

ผลการทดลองพบว่า ต้นกล้าที่ใส่ราเอคโตไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงกว่าต้นกล้าที่ไม่ใส่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งความสูง เส้นผ่าศูนย์กลาง และน้ำหนักแห้ง และพบว่าเมื่อเลี้ยงต้นกล้าไปประมาณ 9 เดือน มีดอกเห็ดเผาะเกิดขึ้นในถุงเพาะชำ ทำให้สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อนำต้นกล้าที่มีราชนิดนี้ไปปลูกจริงก็มีโอกาสที่จะได้เห็ดตามที่ต้องการ จากนั้นได้นำต้นกล้าที่ใส่ราที่ทำ การคัดเลือกแล้วไปปลูกในพื้นที่จริง ทำการติดตามอัตราการเจริญเติบโตและการอยู่รอดเป็นเวลา 1 ปี พบว่าต้นกล้าสามารถอยู่รอดได้ถึง 99%

ผศ.ดร.จิตรตรา กล่าวถึงแผนการวิจัยขั้นต่อไปว่า จะติดตามผลว่า เมื่อมีการย้ายปลูกในพื้นที่ต่างๆ เชื้อราที่ใส่ให้ต้นกล้าจะยังคงอยู่หรือไม่ และจะทำการศึกษาเปรียบเทียบว่ากล้าไม้ประเภทใดเหมาะสมกับพื้นที่ใด การศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้การปลูกป่าในประเทศไทยประสบความสำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้จะทำการพัฒนาหัวเชื้อของราในเชิงการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชนิดที่สามารถสร้าง ดอกเห็ดที่รับประทานได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อหัวเชื้อในรูปแบบที่พร้อมใช้งานได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

สำหรับงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิทยาเพื่อพื้นถิ่น” ตามแผนพัฒนาวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย







กำลังโหลดความคิดเห็น