เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.1989 William Shockley ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในวัย 79 ปี ที่ San Francisco ขณะมีชีวิตอยู่ เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อื้อฉาวที่สุดคนหนึ่งของโลก และเป็นบุคคลที่ชาวอเมริกันเกลียดมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่เคยทำงานร่วมกับ John Bardeen และ Walter Brattain ในการประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ จนทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1956 แต่ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิต ความสำเร็จ และความสามารถทั้งปวงที่ Shockley เคยทำมาได้ถูกบดบังด้วยความคิดเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางสติปัญญากับพันธุกรรม เช่น Shockley เชื่ออย่างฝังใจว่า คนดำโง่กว่าคนขาว และใครที่โง่มากๆ สมควรได้รับการทำหมัน เพื่อไม่ให้แพร่พันธุ์ต่อไป ครั้นเมื่อคนผิวดำตามปกติมีลูกมากกว่าคนผิวขาว ดังนั้น Shockley จึงอ้างว่า ในอนาคตอเมริกาจะมีแต่คนโง่เต็มบ้านเต็มเมือง เป็นต้น
โดยทั่วไป คนที่ได้รับรางวัลโนเบลมักเป็นคนที่สังคมยอมรับ และยึดถือว่าความคิดเห็นของบุคคลพิเศษเหล่านี้มีคุณค่า ถูกต้อง และสำคัญ ทั้งนี้เพราะคนที่พูดมีความรู้ และความถนัดระดับสุดยอดในเรื่องที่พูด แต่ Shockley เองหลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบลแล้ว ได้หันไปสนใจเรื่อง พันธุกรรมและมานุษยวิทยาเชิงสังคมที่ตนแทบไม่มีความเชี่ยวชาญเลย ดังนั้นเมื่อได้เสนอความคิดเห็นว่า สติปัญญาของคนสามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกสู่หลานได้ และคนดำที่มี I.Q. ต่ำกว่า 100 (คนดำโดยเฉลี่ยมี I.Q. ในช่วง 70-90) สมควรได้รับการทำหมัน ฯลฯ การพูดกล่าวเช่นนี้ ได้ทำให้สังคมอเมริกันในสมัยนั้นเกิดการแตกแยกอย่างยากที่จะปรองดอง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า สติปัญญาจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพันธุกรรม และคิดว่าข้อมูล I.Q. เป็นสิ่งที่สังคมชั้นสูงใช้ในการเหยียดหยามสังคมชั้นต่ำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องไม่แปลกใจที่เวลา Shockley ไปปราศรัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในที่ใด จะมีคนตะโกนโห่ไล่จะทำร้ายทุกครั้งไป
ในปี 1965 Shockley ได้ออกมายอมรับว่า เพื่อนนักวิชาการหลายท่านได้ขอร้องให้ Shockley หยุดพูดประเด็นร้อนนี้ แต่ Shockley กลับคิดว่าสังคมน่าจะได้อภิปรายเรื่องนี้อย่างเปิดเผยและกว้างขวาง แม้ในเวลาต่อมาผู้รู้หลายคนได้พิสูจน์ว่า ข้อมูลที่ Shockley อ้างนั้นผิดพลาด แต่ Shockley ก็ยังเดินหน้าเผยแพร่ความคิดเห็นของตนต่อไป
นอกจากเรื่อง I.Q. กับสีผิวแล้ว Shockley ก็ยังฝังใจเชื่ออีกว่าความเป็นอัจฉริยะสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม (ทั้งๆ ที่โลกมีอัจฉริยะบุคคลมากมายที่มิได้มีพ่อแม่เป็นอัจฉริยะ เช่น Ramanujan นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดีย และ Newton นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ เป็นต้น) ดังนั้น Shockley จึงสนับสนุนความคิดที่ว่า สังคมควรมีธนาคารอสุจิของอัจฉริยะ สำหรับคนที่ต้องการจะให้ลูกเก่งมากๆ และ Shockley วัย 68 ปี ก็ได้มอบอสุจิของตนให้ธนาคารแห่งหนึ่งใน Southern California เป็นคนเก็บเชื้อ “ที่มีค่า” นี้ และได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร “Playboy” ว่า แม้เชื้ออสุจิของคนหนุ่มจะดีกว่า เพราะแข็งแรงกว่า และ DNA ของเซลล์อสุจิจะมีโอกาสในการกลายพันธุ์น้อยกว่าก็ตาม แต่อสุจิของตนก็มีโอกาสสูงในการสร้างอัจฉริยะคนต่อไป ดังนั้นสังคมควรส่งเสริมการถ่ายทอดสารพันธุกรรมของอัจฉริยะ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนร่ำรวยหรือคนจน เพราะโลกต้องการคนเช่น Einstein มากกว่า 1 คน และ Shockley ก็ได้อ้างนักพันธุศาสตร์ เช่น Herman Müller ว่าเห็นด้วยกับเขา ทั้งๆ ที่สังคมวิชาการได้ปฏิเสธไม่ยอมรับทฤษฎีของ Müller มานานแล้ว
สำหรับประเด็นหลังนี้ สังคมได้มีความเชื่ออย่างงมงายทำนองนี้มาเป็นเวลานานแล้ว ดังเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ ดาราภาพยนตร์สาวสวยชื่อ Ellen Terry ได้แจ้งความประสงค์ต่อ George Bernard Shaw นักประพันธ์ชื่อดังว่าประสงค์จะได้เชื้ออสุจิของ Shaw มาผสมกับไข่ของเธอ เพื่อลูกที่เกิดมาจะได้มีสติปัญญาของ Shaw มีใบหน้าและรูปร่างเหมือนเธอ แต่ Shaw ได้ตอบตัดบทว่า เขาเกรงว่าลูกที่เกิดจะได้ใบหน้าของ Shaw และมันสมองของ Terry ไป ซึ่งจะเป็นเวรเป็นกรรมสำหรับเด็ก เพราะถึงจะมีพ่อที่ฉลาดและแม่โง่ ในโลกพันธุกรรมที่ไม่มีอะไรแน่นอน อาจทำให้ความต้องการที่คิดไว้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผลงานด้านทรานซิสเตอร์ของ Shockley ที่ยิ่งใหญ่ถูกมัวหมองด้วยความคิดเรื่อง ความฉลาดกับพันธุศาสตร์ที่ Shockley ฝังใจเชื่อ และเมื่อมีคนให้เปรียบเทียบผลงานทั้งสองนี้ Shockley ก็ยังยืนยันว่า ความคิดเรื่องพันธุกรรมของเขายิ่งใหญ่กว่าการประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ และได้โฆษณาเผยแพร่ความเชื่อนี้ต่อไปจนกระทั่งเสียชีวิต ในขณะที่ Martin Luther King ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1964 และเป็นนักเคลื่อนไหวผิวดำ ก็ได้พูดชักจูงสังคมไปในทิศตรงกันข้ามกับ Shockley และ King สามารถทำได้สำเร็จ เพราะทำให้เกิด Civil Right Movement ที่ให้คนดำมีสิทธิเท่าเทียมคนขาวทุกประการ
ในบั้นปลายชีวิต Shockley ได้แยกตัวจากสังคม และไม่พบปะใครจนถึงแก่กรรม และคงปรารถนาลึกๆ ว่า ให้คนทั้งโลกระลึกถึงเขาในฐานะบุคคลหนึ่งที่ประดิษฐ์ transistor และเป็นบิดาของ Silicon Valley ที่ California เท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในสหรัฐที่เขียนบทความอาลัย ล้วนกล่าวถึง Shockley ในด้านลบว่า เป็นชีวิตที่ตั้งต้นดี แต่จบร้ายในบั้นปลาย จนทำให้เขาเป็นคนหนึ่งที่คนอเมริกันเกลียดชังมากที่สุด
William Shockley เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1910 ที่ London ในอังกฤษเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยพ่อที่เป็นวิศวกรเหมืองแร่ที่สำเร็จการศึกษาจาก Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) และแม่ที่เป็นแม่บ้าน อาชีพของพ่อทำให้ต้องย้ายที่ทำงานบ่อย ดังนั้น Shockley จึงไม่ได้มีเวลาคบเพื่อนนาน และค่อนข้างเป็นคนเก็บตัว และเมื่อแม่เป็นคนที่หวงลูกชายมาก ดังนั้นจึงได้จัดการสอนหนังสือให้ลูกที่บ้าน ทำให้ Shockley ต้องถูกตัดขาดจากสังคมค่อนข้างมาก
เมื่ออายุ 15 ปี Shockley ก็กำพร้าบิดา แม่จึงพา Shockley กลับ America ไปตั้งรกรากอยู่ที่ Palo Alto ในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ แล้วส่งเข้าโรงเรียนมัธยมที่ Palo Alto Military Academy และ Shockley ก็ได้พบว่าตนสนใจฟิสิกส์มากที่สุด จึงไปเรียนต่อที่ California Institute of Technology (Caltech) จนจบปริญญาตรี จากนั้นได้เรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) จนจบ Ph.D. เมื่ออายุ 26 ปี ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง “Calculations of Wave Functions for Electrons in Sodium Chloride Crystals” ซึ่งเป็นการศึกษาสมบัติทางกายภาพของอิเล็กตรอนในผลึกเกลือแกงโดยใช้ทฤษฎีควอนตัมซึ่งเพิ่งถือกำเนิดใหม่ๆ ผลงานนี้ใช้สถิติเป็นพื้นฐานที่สำคัญ (ความหมกมุ่นในสถิติอาจมีอิทธิพลต่อความคิดของ Shockley เรื่อง I.Q. ของคนในภายหลัง)
หลังจากที่สำเร็จการศึกษา Shockley ได้เข้าทำงานที่ Bell Telephone Laboratories ซึ่งเป็นสถาบันการวิจัยชั้นนำของโลกด้านฟิสิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1925 และอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ Marvin Kelly ในฐานะที่เพิ่งจบปริญญาเอก จึงถูกส่งไปฝึกงานในห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรม และ Shockley ทำงานได้ดี จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยเรื่องการสื่อสารในเรือดำน้ำ และเริ่มมีครอบครัว กับ Jean Alberta Bailey ในปี 1933 ครอบครัวมีลูกสาว 1 คน และลูกชาย 2 คน
ในช่วงเวลานั้น Kelly มีความคิดว่า ในเมื่อจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มีจำนวนเพิ่มตลอดเวลา ในอนาคตอีกไม่นานเทคโนโลยีหลอดสุญญากาศ (vacuum tube) จะทำงานได้ไม่ดี เพราะรับปริมาณการใช้ที่มากมหาศาลไม่ได้ จึงขอให้ Shockley ช่วยหาตัวเลือกใหม่มาแทนที่ vacuum tube ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพไม่สูง แต่มีราคาแพง อีกทั้งทำงานไม่สม่ำเสมอ และถ้าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมาก หลอดจะทำงานไม่ได้เลย
Shockley ได้เคยศึกษาสมบัติเชิงควอนตัมของอิเล็กตรอนในเกลือแกงมาแล้ว คราวนี้เขาจึงหันไปศึกษาสารกึ่งตัวนำร่วมกับ John Bardeen กับ Walter Brattain และได้พบว่า สามารถเตรียมธาตุ germanium ที่บริสุทธิ์ได้ง่าย ส่วน Silicon นั้นพบว่าสามารถ ทำงานที่อุณหภูมิสูงได้ดี Shockley จึงเริ่มสร้าง junction transistor (transistor มาจากการสนธิคำ transfer กับ resistor) โดยใช้เทคนิค point contact
เมื่อถึงวันคริสตมาสของปี 1947 ขณะนั้น Shockley มีอายุ 37 ปี และเป็นผู้มีบทบาทมากในการให้ความคิดเรื่องวิธีสร้าง ส่วน Bardeen กับ Brattain เป็นคนประดิษฐ์ ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างอุปกรณ์ขยายสัญญาณ ที่ทำงานได้ดีมากแม้จะมีมวลน้อย และใช้พลังงานน้อย และสิ่งประดิษฐ์นี้ก็คือทรานซิสเตอร์ที่เริ่มต้นนำโลกเข้าสู่ยุคสารสนเทศ และปฏิวัติอุตสาหกรรมของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์กับ supercomputer
สำหรับบทบาทที่แท้จริงของ Shockley ในการประดิษฐ์ transistor นั้น นักประวัติวิทยาศาสตร์ได้พบว่า Shockley มิได้เป็นคนลงมือทำ แต่ให้เพียงความคิด เหมือนดังที่ Einstein มิได้สร้างระเบิดปรมาณู แต่เป็นคนให้สมการ E = mc2
หลังจากที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ความสัมพันธ์ระหว่างนักประดิษฐ์ทั้งสามก็เริ่มไม่ราบรื่น เพราะ Shockley มีปัญหาด้านบริหารบุคคล และชอบระแวงคนรอบข้างว่าจะนำความลับของบริษัท Bell Lab ไปขาย จนในที่สุด Bardeen ได้ตัดสินใจลาออก และหันไปสนใจทฤษฎีตัวนำยวดยิ่ง (superconductor) ส่วน Robert Noyce, Brattainและ Gordon Moore ก็ได้ลาออกไปตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Intel และประสบความสำเร็จมาก
เมื่อเป็นเช่นนี้ Shockley ก็ได้ลาออกจาก Bell Lab บ้าง เพื่อไปจัดตั้งบริษัทของตนเอง ชื่อ Shockley Semiconductor Lab เพื่อพัฒนา transistor ที่ใช้ silicon เป็นหลัก และในปีเดียวกันนั้นเขาก็ได้รับการประกาศให้เป็นผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1956 ด้วยผลงานประดิษฐ์ transistor ร่วมกับ John Bardeen และ Walter Brattain ดังนั้นในวัย 46 ปี Shockley ก็ได้ถึงจุดสูงสุดของชีวิตแล้ว
อีก 7 ปีต่อมา ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์วิศวกรรมฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัย Stanford แล้วเริ่มสนใจเรื่อง Intelligence Quotient (I.Q.) และนี่ก็คือการเริ่มต้นของจุดจบ เพราะชีวิตส่วนตัวเริ่มวุ่นวาย จนต้องหย่ากับภรรยา แล้วแต่งงานใหม่กับนางพยาบาลชื่อ Emmy Lanning ในปี 1955 Frederick Seitz นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงได้วิเคราะห์หาสาเหตุความ “เพี้ยน” ของ Shockley ว่าคงเกิดจากการถูกคนเมาขับรถชนจนหกล้ม หัวฟาดพื้น และสมองอาจถูกกระทบกระเทือน
ในหนังสือ Broken Genius: The Rise and Fall of William Shockley, Creator of the Electronic Age โดยมี Joel N. Shurkin เป็นผู้เขียน และจัดพิมพ์โดย MacMillan Science ในปี 2006 Shurkin ได้พบว่า Shockley เป็นคนมีบุคลิกที่เข้าสังคมยาก มักพูดเสียงดัง และไม่ชอบฟังความคิดเห็นของคนอื่น
ในช่วงเวลาที่เป็นเด็ก เคยเข้ารับการทดสอบ I.Q. 2 ครั้ง ด้วยแบบทดสอบของ Stanford-Binet และได้คะแนน 135 ทั้งสองครั้ง ซึ่งเทียบเท่าระดับอัจฉริยะ (แต่แบบทดสอบเดียวกันนี้ เคยระบุว่า Luis Alvarez นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลปี 1968 มีความสามารถระดับคนธรรมดา) ข้อมูลนี้อาจทำให้ Shockley มีความเชื่อ (หลง) ในความฉลาดปราดเปรื่องของตนเองมาก จึงนำความคลั่งนี้มาอ้างในเรื่องที่ตนไม่เคยศึกษาในเชิงลึก แต่ Shockley ก็ควรรู้ว่าการได้รับรางวัลโนเบลนั้น มิได้หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่พูดออกมาจะต้องดี จริง และแหลมคมเสมอไป เพราะในบางครั้งการพูดโง่ก็มีบ้างเหมือนกัน
Shockley มีความเชื่อว่า ถ้าเขาไม่ได้รับรางวัลโนเบลถึงจะพูดให้คอแตกตายก็ไม่มีใครเชื่อ แต่นี่เขาได้รางวัลและไปพูดในสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจทุกคน ดังนั้น ลึกๆ Shockley จึงเป็นคนที่ชอบเหยียดผิว และทำตนเป็นสายล่อฟ้าให้คนผิวดำโจมตี
James Watson ผู้พิชิตรางวัลโนเบลปี 1962 ในฐานะที่พบโครงสร้างของ DNA ก็เคย “หลุด” เช่นกัน เมื่อเขากล่าวว่า ความสามารถทางสติปัญญาของชาวแอฟริกันค่อนข้างต่ำ ผลที่ตามมา คือ เขาถูกสังคมรอบด้านประณาม และถูกสั่งพักทำงานที่ Cold Spring Harbor Laboratory ชั่วคราว แต่ในที่สุด Watson เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาปี 1962 ก็ได้ออกมากล่าวขอโทษ แต่ Shockley ไม่คิดจะทำ และไม่ได้ทำจนวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง จึงเป็นการไม่สำนึกผิดเลยแม้แต่น้อย และไม่ได้ขอโทษใครเลยด้วย
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์