โลกมุสลิมยกย่อง Abu Ali Al-Husayn Ibn Abd-Allah ibn Hasgan ibn Ali ibn Sina ว่า เป็นสุดยอดแห่งปราชญ์ในหมู่ปราชญ์ ในขณะที่โลกตะวันตกรู้จักบุรุษคนเดียวกันนี้ในนาม Avicenna ว่า เป็นมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เพราะเป็นนักปรัชญาที่มีความรู้มหาศาล เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ และแพทย์ผู้มีชื่อเสียงในการรักษาคนไข้ เป็นกวี และนักดนตรี นอกจากนี้ ก็ยังเคยเป็นรัฐมนตรี นักโทษติดคุก นักเดินทางที่เคยไปถึงเอเชียกลาง และเปอร์เซีย รวมถึงเป็นนักเขียนผู้ได้เรียบเรียงตำราความรู้แทบทุกแขนงที่มีในโลกในขณะนั้นด้วย
ในภาพรวม Avicenna จึงเป็นสุดยอดของมนุษย์ ผู้มีจิตสำนึกที่บริสุทธิ์และสูงส่งจนหาผู้ใดมาเทียบเคียงได้ยาก ทำให้มีเรื่องเล่าที่ร่ำลือกันเป็นตำนานจนทุกวันนี้
ดังมีเรื่องเล่าว่า ขณะ Avicenna ยังเป็นทารกให้แม่อาบน้ำ แม่ได้ทำแหวนทองคำหล่นในอ่างโดยไม่รู้ตัว จึงเทน้ำทิ้ง เมื่อรู้ตัวว่าแหวนหาย เธอได้กล่าวหาคนใช้ว่าเป็นคนขโมย เมื่อคนใช้ปฏิเสธ แม่ของ Avicenna จึงทุบตีคนใช้อย่างรุนแรง จนทารก Avicenna ทนไม่ได้จึงเอ่ยขึ้นว่า “แม่ต้องขอโทษคนใช้เดี๋ยวนี้ แม่เป็นคนทำแหวนหายเอง ไม่ใช่คนใช้ทำ” นี่เป็นการพูดครั้งแรกในชีวิตของ Avicenna
Avicenna เกิดเมื่อ ค.ศ.989 ที่เมือง Bukhara ใน Uzbekistan บิดาชื่อ Abd-Allah มีอาชีพเป็นผู้ใหญ่บ้านแห่งเมือง Balkh (ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในอัฟกานิสถาน) ส่วนมารดาชื่อ Sitora เป็นบุตรสาวของชาวนาแห่งหมู่บ้าน Afshana
Avicenna ได้แสดงออกซึ่งความสามารถระดับอัจฉริยะตั้งแต่วัยเด็ก เช่น เมื่อมีอายุเพียง 10 ปี ได้เรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนและสามารถท่องคัมภีร์กุรอ่านได้ทั้งเล่ม อีกหกปีต่อมา Avicenna ก็เรียนจบวิชาแพทยศาสตร์และประกอบอาชีพเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก จนได้รับบัญชาให้ถวายการรักษาท่านสุลต่านแห่งเมือง Bukhara จนหายเป็นปกติ สุลต่านจึงสมนาคุณโดยทรงอนุญาตให้ Avicenna ใช้ห้องสมุดส่วนพระองค์ซึ่งเป็นห้องสมุดที่มีชื่อเสียงว่าเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งสติปัญญาที่ใครๆ ก็ปรารถนาจะได้ไปเยือน
ประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ห้องสมุดนี้ในอีก 2 ปีต่อมา ทำให้ Avicenna มีความรู้สารพัดวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิชาตรรกะ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เรขาคณิต เลขคณิต ดาราศาสตร์ ดนตรี หรือแพทย์ศาสตร์ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะเป็นคนที่มีความจำดีเยี่ยม เวลาอ่านอะไรก็เข้าใจเร็ว และไม่จำเป็นต้องมีครูสอน Avicenna จึงเป็นครูของตนเองโดยไม่ต้องเรียนอะไรจากใคร ดังนั้น เมื่อห้องสมุดถูกไฟเผาจนราบเรียบ ไม่มีประชาชนคนใดเสียใจ เพราะทุกคนตระหนักว่าความรู้ต่างๆ ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ได้เข้าไปอยู่ในสมองของ Avicenna จนหมดสิ้นแล้ว
แม้จะมีอายุค่อนข้างสั้น คือ เพียง 57 ปีเท่านั้นเอง แต่ภายในช่วงเวลาที่น้อยนิดนี้ Avicenna สามารถผลิตผลงานออกมาได้มากมาย เพราะชอบทำงานตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ในคุก หรือนั่งม้าเขาก็จะเขียนหรือบอกเลขานุการส่วนตัวให้จดตามคำบอก ทำให้มีผลงานเขียนเป็นภาษาอารบิก 456 เล่ม ภาษาเปอร์เซีย 23 เล่ม แต่ ณ วันนี้ห้องสมุดทั่วโลกมีหนังสือของ Avicenna หลงเหลืออยู่เพียง 160 เล่มเท่านั้นเอง
สำหรับหนังสือ Canon of Medicine ที่ Avicenna เขียนนั้นนับเป็นตำราแพทย์ที่ยิ่งใหญ่เล่มหนึ่งของโลก เพราะได้สังเคราะห์ความรู้แพทย์ศาสตร์ของทั้งกรีก อินเดีย อิหร่าน และอาหรับอย่างเป็นเหตุเป็นผลทำให้เนื้อหามีความทันสมัย และชัดเจน นอกจากนี้ Avicenna ยังได้สอดแทรกประสบการณ์ด้านการแพทย์ของตนเองในหนังสือนี้ด้วย ตำรา Canon ของ Avicenna จึงเป็นหนังสือแพทย์ที่ไม่มีตำราแพทย์ใดในยุคกลางสามารถเทียบเคียงได้เลย
ลุถึงคริสต์ศตวรรษที่สิบสอง เมื่อ Gerard แห่งเมือง Cremona ได้แปล “Canon” เป็นภาษาละติน ตำรานี้จึงกลายเป็นคัมภีร์ไบเบิลที่แพทย์ทุกคนในสมัยนั้นใช้ในการอ้างถึง และเมื่อ Johann Gutenburg ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ ในปี 1448 ความนิยมของ “Canon” ก็ทำให้ตำราได้รับการตีพิมพ์มากเป็นอันดับสองรองจากคัมภีร์ไบเบิล
ใน “Canon” เราจะเห็นว่า Avicenna เป็นบุคคลแรกที่ได้ศึกษากล้ามเนื้อตาของคน และอธิบายกลไกการเห็นที่ไม่แตกต่างจากคำอธิบายของนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน นอกจากนี้ Avicenna ก็ยังได้บรรยายอาการของโรคฝีดาษ และโรคหัดที่แพทย์กรีกโบราณไม่เคยรู้จักด้วย ส่วนคำอธิบายเกี่ยวกับโรคเบาหวานนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากคำบรรยายของแพทย์อังกฤษชื่อ Thomas Wills ในอีก 8 ศตวรรษต่อมา
ในการอธิบายสาเหตุของโรคติดต่อต่างๆ Avicenna ได้ตั้งสมมติฐานว่า โรคระบาดเกิดจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่อาศัยอยู่ในน้ำหรือในอากาศ ซึ่งสมมติฐานนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าจริงโดย Antonie van Leeuwenhoek เมื่อเขาใช้กล้องจุลทรรศน์เห็นโลกของจุลินทรีย์ในศตวรรษที่ 17 Avicenna ยังได้คิดเทคนิคการวิเคราะห์โรคโดยวิธีฟังเสียงสะท้อนจากทรวงอก เมื่อแพทย์ใช้นิ้วเคาะหน้าอกของคนไข้ และเทคนิคเดียวกันนี้ แพทย์ออสเตรียชื่อ Leopold Auenbrugger ก็ได้ใช้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ความสำคัญของตำรา “Canon” ในภาพใหญ่ คือ Avicenna ได้เน้นให้เห็นว่า โรคทุกชนิดมีสาเหตุ ซึ่งหลักการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยชี้นำวิธีทำงานของแพทย์เท่านั้น แต่ยังมีส่วนกระตุ้นวิธีคิดของนักวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมาด้วย
ดังนั้น เมื่อวิทยาศาสตร์ถือกำเนิดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา นักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิกจึงได้ใช้แนวคิดนี้ในการศึกษาธรรมชาติด้วยการสังเกต วิจัย และทดลอง จนพบทฤษฎีที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติได้อย่างมีเหตุผล
ผลงานของ Avicenna ได้จุดประกายให้บรรดานักคิดเริ่มเคลื่อนไหว กระแสการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มแพร่กระจายจากดินแดนในทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก โดยแผ่เข้ายุโรปที่สเปนก่อน จากนั้นก็ได้แพร่สู่ดินแดนทางใต้ของฝรั่งเศส จนมีผลทำให้อารยธรรมอาหรับและ Byzantine ได้กระจายไปทั่วยุโรปในที่สุด
บทบาทของ Avicenna ด้านดาราศาสตร์ได้ปรากฏอย่างเด่นชัดในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1032 เมื่อ Avicenna ได้เห็นดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ ข้อมูลนี้จึงลบล้างความเชื่อเดิมที่ว่า นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ Jeremiah Horrocks เป็นบุคคลแรกของโลกที่เห็นเหตุการณ์นี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 17
นักประวัติศาสตร์ ณ วันนี้มีความเห็นว่า การที่ Avicenna สามารถเป็นผู้บุกเบิกสาขาวิชาการต่างๆ ได้มากมาย เพราะเขามีจุดมุ่งหมายเพียงหนึ่งเดียว คือ ต้องการจะเพิ่มความสุขและคุณความดีของมวลมนุษย์ โดยการเข้าใจกันและกัน อีกทั้งให้มีความเท่าเทียมกัน และนี่ก็คือพันธกิจของสังคมที่นักปรัชญาฝรั่งเศส ชื่อ Jean Jacques Rousseau ได้แถลงไว้เช่นกัน ในคริสศตรวรรษที่ 18 นี่เอง
นอกจากตำรา “Canon” แล้ว Avicenna ยังมีผลงานเขียนอีกเล่มชื่อ “Book of Healing” ซึ่งเกี่ยวกับวิธีรักษาจิตใจ ในขณะที่ “Canon” มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีรักษาร่างกาย การอ่านตำราทั้งสองเล่มนี้จึงสามารถทำให้มนุษย์ซึ้งถึงความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
Avicenna ยังมีความเห็นอีกว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็มีแรงจูงใจที่จะนำตนไปสู่ความสมบูรณ์พร้อม และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ โดยอาศัยความรักเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ และ Avicenna ได้เขียนความคิดดังกล่าวนี้ลงในหนังสือเรื่อง “Treatise on Love” “The Living, Son of the Dead” และ “The Bird” ผลงานเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการด้านวรรณกรรมของชาวตะวันออก และด้านวรรณกรรมของกวี Dante ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ด้วย แม้ Dante จะกล่าวว่า ไม่สามารถอ้างถึงคนทุกคนที่มีอิทธิพลต่อการเขียนของตน แต่ Dante ก็ยังเอ่ยถึง Avicenna ในหนังสือ Divine Comedy ที่เขาเขียน
ส่วน Omar Khayyam ซึ่งเป็นทั้งนักดาราศาสตร์กับนักคณิตศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และเป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานเขียนเรื่อง Rubaiyat ที่เป็นอมตะจนทุกวันนี้ ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ยอมรับ Avicenna เป็นครู ไม่ว่าจะเป็นด้านปรัชญา หรือวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นครูด้านการประพันธ์ด้วย
ในยามที่วาระสุดท้ายของชีวิตใกล้จะมาถึง Omar Khayyam ได้ทุ่มเทเวลาอ่านหนังสือ “Book of Healing” ของ Avicenna ก่อนจะจากโลกไป
สำหรับ Avicenna เอง เมื่อรู้ตัวว่าใกล้จะตายก็ได้ปลดปล่อยคนใช้ทาสทุกคนให้เป็นอิสระ แล้วแจกทรัพย์สินที่มีทั้งหมดให้แก่คนยากจน เมื่อถึงวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1037 Avicenna ก็ได้จากโลกไปในทะเลทรายใกล้เมือง Hamadhan
แต่ก็มีตำนานหนึ่งที่เล่าว่า Avicenna เองมีความประสงค์จะพิชิตความตายให้จงได้คือ ต้องการจะมีชีวิตที่เป็นอมตะ ดังนั้นจึงได้ตระเตรียมยา 40 ชนิด และบอกให้ลูกศิษย์ฉีดยาเหล่านั้นเข้าร่างกายทันทีที่ Avicenna หมดลมหายใจ ซึ่งลูกศิษย์คนนั้นก็ทำตามขั้นตอนทุกอย่างตามที่อาจารย์สั่ง และได้พบว่า ยิ่งฉีดยาเข้าร่างกายมากเพียงใด ผิวหนังของอาจารย์ก็ยิ่งเต่งตึง และใบหน้ามีน้ำมีนวล จมูกก็แสดงอาการว่าจะเริ่มหายใจอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อกำลังจะฉีดยาขนานสุดท้ายที่ 40 ซึ่งจะทำให้ Avicenna คืนชีพ ลูกศิษย์ซึ่งกำลังตื่นเต้นมากขึ้นๆ ทุกขณะ จนมือสั่น ได้ทำเข็มฉีดยาตกจากมือ ทำให้เข็มแตก และของเหลวชุบชีวิตก็ได้ซึมหายลงไปในทราย
แม้ร่างกายจะมิปรากฏให้ใครเห็นอีกต่อไปแล้ว แต่ชื่อเสียงของ Avicenna ก็ยังอยู่ในจิตใจของชาวโลกตราบจนทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติมจาก Medieval Islamic Medicine โดย Peter Pormann และ Emillie Savage-Smith จัดพิมพ์โดย George Town University Press 2007
***********
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์