xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ธรรมดา! รวบผมแบบหางม้าคว้า “อิกโนเบล” สาขาฟิสิกส์ (เชียวนะ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.แพทริก วอร์เรน บอกว่าปัญหาเรื่องการจัดเรียงของเส้นผมเป็นปัญหาใหญ่ของบริษัทเขา (บีบีซีนิวส์)
ไม่ทำธรรมดาเลยสำหรับงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่ช่วยกันคิดค้นสมการเพื่อทำนายรูปทรงของการรวบผมแบบหางม้า ซึ่งเพิ่งคว้ารางวัล “อิกโนเบล” สาขาฟิสิกส์ ปีล่าสุดมาครอง

ดร.แพทริก วอร์เรน (Dr.Patrick Warren) เรย์มอนด์ โกลด์สไตน์ (Raymond Goldstein) และ โรบิน บอล (Robin Ball) ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เพิ่งคว้ารางวัลสาขาฟิสิกส์ของ “อิกโนเบล” (Ig Nobel) ไปครองจากผลงานในกรคิดค้นสมการทำนายรูปทรงของการรวบผมแบบหางม้า

บีบีซีนิวส์ รายงานคำสัมภาษณ์ของ ดร.วอร์เรน จากยูนิลีเวอร์ (Unilever) ในสหราชอาณาจักรว่า เขาตื่นเต้นที่ได้รับรางวัลนี้ และรู้สึกทึ่งที่ส่วนหนึ่งของผลงานที่ทำได้รับความสนใจอย่างมาก

“สาขาการทำงานของผม “ฟิสิกส์สถิติ” (statistical physics) เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ยินนัก ผมจึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำสิ่งที่เกินคาดหมาย” ดร.วอร์เรน กล่าว

ทั้งนี้ ดร.วอร์เรน และทีมได้ร่วมกันสร้าง “สมการรูปทรงการรวบผมหางม้า” (Ponytail Shape Equation) ที่อาศัยตัวแปรทั้งความแข็งทื่อของเส้นผมบนศีรษะ ผลจากแรงโน้มถ่วง การกระจายตัวของความหยิกหรือหยักศกของเส้นผมมนุษย์ที่พบได้ทั่วไป รวมถึงจำนวนใหม่ที่เรียกว่า “จำนวนราปันเซล” (Rapunzel Number) ซึ่งช่วยให้นำสมการไปทำนายรูปทรงของผมที่ถูกรวบไว้หลังศีรษะและมัดรวบกันได้

“ผมศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน ก็ที่ยูนิลีเวอร์นั้นคุณคงจะเดาออก มีสิ่งดึงดูดเต็มไปหมดเพราะเราขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเส้นผมจำนวนมาก แต่งานนี้ก็นำไปประยุกต์ใช้ได้อีกมากกับแหล่งที่ต้องใช้เส้นใยอยู่มากอย่างในอุตสาหกรามสิ่งทอ ผมยังสงสัยอีกว่าจะสามารถนำงานนี้ไปใช้ทางด้านการสร้างภาพแอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์ได้ไหม เพราะอย่างการสร้างเส้นผมในภาพยนตร์แอนิเมชันให้ดูเป็นธรรมชาตินั้นยังเป็นเรื่องยาก” ดร.วอร์เรน กล่าวถึงแนวทางการประยุกต์ใช้ประโยชน์ของสมการ

สำหรับรางวัลอิกโนเบลนั้น เป็นรางวัลที่ล้อเลียนรางวัลที่เคร่งขรึมกว่าอย่างรางวัลโนเบล (Nobel prize) ในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยอิกโนเบลนั้นก่อตั้งขึ้นโดยวารสารงานวิจัยที่ไม่น่าลอกเลียนแบบได้ (Annals of Improbable Research) วารสารวิทยาศาสตร์อารมณ์ขันอเมริกัน

รางวัลนี้มอบต่อเนื่องทุกปีมาเป็นครั้งที่ 22 แล้ว และแม้งานวิจัยที่ได้รับนี้จะฟังดูเพี้ยนๆ แต่ทุกผลงานก็ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญและตีพิม์ลงวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือ โดย มาร์ค อับราฮัมส์ (Marc Abrahams) ผู้ก่อตั้งรางวัลบอกทางเอพีว่า รางวัลนี้มอบให้แก่ผลงานที่ทำให้ผู้คนได้ “หัวเราะ” จากนั้นก็ “ได้ขบคิด”

พิธีมอบรางวัลอิกโนเบลจัดขึ้นที่โรงละครแซนเดอร์ส (Sanders Theatre) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งงานเลี้ยงฉลองรางวัลนั้นจะมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลตัวจริงมาเป็นผู้เชิญรางวัล ส่วนผู้รับรางวัลจะมีเวลากล่าวสุนทรพจน์เพียง 60 วินาที หากนานกว่านั้นจะมีเด็กหญิงตัวน้อยๆ ออกมาตะโกนว่า “น่าเบื่อ” และอีกประเพณีปฏิบัติงานงานเลี้ยงรางวัลนี้คือการปาเครื่องบินกระดาษภายในโรงละครด้วย

สำหรับปีนี้เพิ่งมีพิธีมอบรางวัลอิกโนเบลไปเมื่อเช้าวันที่ 21 ก.ย.ตามเวลาประเทศไทย และยังมีผู้ได้รับที่น่าสนใจอื่นๆ อีก อาทิ ทีมวิจัยผู้ศึกษาว่าลิงชิมแปนซีจดจำด้านหลังลิงตัวอื่นได้อย่างไร หรือทำไมกาแฟต้องหกออกถ้วยที่ถือไปมา เป็นต้น
(ซ้ายไปขวา) อีริค มาสกิน (Eric Maskin) ริช โรเบิร์ตส์ (Rich Roberts) และ ดัดลีย์ เฮอร์ชบัค (Dudley Herschbach) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลร่วมแสดงโชว์ในพิธีมอบรางวัลอิกโนเบล (เอพี)
ถ้วยรางวัลอิกโนเบล 2012 (เอพี)
มาร์ค อับราฮัมส์ ผู้ก่อตั้งรางวัลอิกโนเบล (เอพี)

คลิปพิธีมอบรางวัลอิกโนเบล








รางวัลทั้งหมดประจำปี 2012:

สาขาจิตวิทยา (Psychology Prize) : แอนิตา เออร์แลนด์ (Anita Eerland) และ รอล์ฟ ซวาน (Rolf Zwaan) และ ตูลิโอ กัวดาลูเป (Tulio Guadalupe) สำหรับการศึกษาของพวกเขาในหัวข้อ “การเอียงซ้ายทำให้หอไอเฟลดูเล็กลง”

สาขาสันติภาพ (Peace Prize) : บริษัท เอสเคเอ็น (SKN) จากการแปลงลูกระสุนเก่าของรัสเซียเป็นเพชรเม็ดใหม่

สาขาโสตศาสตร์ (Acoustics Prize) : คาซูทากะ คูริฮาระ (Kazutaka Kurihara) และ โคจิ ซึคาดะ (Koji Tsukada) สำหรับการประดิษฐ์ “สปีชแจมเมอร์” (SpeechJammer) เครื่องรบกวนการพูดโดยทำให้ผู้พูดได้ยินคำพูดของตัวเองที่หน่วงมากๆ

สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience Prize) : เครก เบนนตต์ (Craig Bennett) อาบิเกล แบร์ด (Abigail Baird) มิลเชล มิลเลอร์ (Michael Miller) และ จอร์จ วอลฟอร์ด (George Wolford) สำหรับการสาธิตว่าสมองของนักวิจัยสามารถเห็นถึงกิจกรรมของสมองที่สำคัญว่าไม่ที่ไหน แม้กระทั่งในปลาแซลมอนที่ตายแล้ว โดยอาศัยเครื่องมืออันซับซ้อนกับหลักสถิติง่ายๆ

สาขาเคมี (Chemistry Prize) : โจฮัน เพทเตอร์สัน (Johan Pettersson) สำหรับการแก้ปริศนาว่าทำไม สีผมของคนในบ้านหลายหลังที่เมืองแอนเดอร์สลอฟ (Anderslöv) สวีเดนนั้นจึงเปลี่ยนเป็นสีเขียว

สาขาวรรณกรรม (Literature Prize) : สำนักงานตรวจสอบทั่วไป (General Accountability Office) ของรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับการสร้างปัญหาเรื่องรายงานถึงรายงานเกี่ยวกับรายงานเรื่องข้อแนะนำสำหรับการเตรียมรายงานเกี่ยวกับรายงานที่ว่าด้วยเรื่องรายงานเกี่ยวกับรายงาน

สาขาฟิสิกส์ (Physics Prize) : โจเซฟ เคลเลอร์ (Joseph Keller (US) เรย์มอนด์ โกลด์สไตน์ (Raymond Goldstein) และ แพทริก วอร์เรน (Patrick Warren) กับ รอบิน บอล (Robin Ball) สำหรับการคำนวณสมดุลของแรงที่ทำให้เกิดรูปร่างและการเคลื่อนไหวของผมในการรวบรวมผมทรงหางม้าของคน

สาขาพลศาสตร์ของไหล (Fluid Dynamics Prize) : รูสลัน เครเชทนิกอฟ (Rouslan Krechetnikov) จากสหรัฐฯ รัสเซียและแคนาดา และ ฮันส์ เมเยอร์ (Hans Mayer) สำหรับการศึกษาพลศาสตร์ของการกระเด็นของของเหลว เพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนเราเดินไประหว่างถือถ้วยกาแฟไปด้วย

สาขากายวิภาค (Anatomy Prize) : ฟรานส์ เดอ วาล (Frans de Waal) และ เจนนิเฟอร์ โพกอร์นี (Jennifer Pokorny) สำหรับการค้นพบว่าลิงชิมแปนซีสามารถจำแนกชิมแปนซีตัวอื่นได้จากการดูภาพด้านหลังเพียงลางๆ

สาขาการแพทย์ (Medicine Prize) : เอ็มมานูเอล เบ็น-ซูส์สัน (Emmanuel Ben-Soussan) และ มิเชล อันโตนิเอติ (Michel Antonietti) สำหรับการให้คำปรึกษาแก่แพทย์ผู้ส่องกล้องตรวจลำไส้ว่าจะลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะผายลมได้อย่างไร










กำลังโหลดความคิดเห็น