xs
xsm
sm
md
lg

หน้ายาวๆ ลิงสปีชีส์ใหม่ในแอฟริกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เลซูลา ลิงแอฟริกาที่ได้รับการจำแนกว่าเป็นลิงสปีชีส์ใหม่ พบในคองโก (บีบีซีเนเจอร์)
นักวิทยาศาสตร์พบลิงสปีชีส์ใหม่หน้ายาวๆ ในแอฟริกา ซึ่งนับเป็นการค้นพบลิงสปีชีส์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 28 ปี โดยเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในคองโกในชื่อ “เลซูลา” แต่น่าห่วงว่าลิงชนิดนี้เสี่ยงจะสูญพันธุ์เพราะพื้นที่อาศัยมีอาณาเขตจำกัด

ข้อมูลจากบีบีซีเนเจอร์ บอกว่า “เลซูลา” (lesula) ลิงพื้นเมืองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกนั้นถูกแยกจากญาติที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดที่สุดโดยแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำคองโก (Congo) และ แม่น้ำโลมามี (Lomami) โดยนักอนุรักษ์ชี้ว่า การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องความหลากหลายของสัตว์ป่าในอ่าวคองโก และการค้นพบนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารพับลิคไลบรารีออฟไซน์ (Public Library of Science)

ครั้งแรกที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้เห็นลิงชนิดนี้ คือ เมื่อพวกเขาได้เจอลูกลิงเพศเมีย ที่ถูกดูแลภายในกรงโดยผู้อำนวยการโรงเรียนประถมในเมืองโอปาลา ซึ่งเขาบอกว่าเลซูลาคือชื่อสามัญที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่นายพราน จากนั้นลิงตัวดังกล่าวจึงได้รับการดูแลต่อและคอยจับตาดูโดยทีมนักวิทยาศาสตร์

ขณะที่ข้อมูลจาก PhyOrg.com ระบุว่า การค้นลิงดังกล่าวครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2007 และระหว่างการสืบค้นในท้องถิ่นดังกล่าวทีมนักวิทยาศาสตร์ พบลิงชนิดเดียวกันนี้อีกหลายตัวในกรงขัง แล้วหลังจากนั้นอีก 6 เดือนให้หลังพวกเขาก็ได้พบลิงชนิดนี้ที่มีแขนสีดำยาวตลอดทั้งแขนอีกหลายตัวในป่า

ทางด้าน ดร.จอห์น ฮาร์ต (Dr.John Hart) หัวหน้าโครงการวิจัยนี้จากมูลนิธิลูกูรู (Lukuru Foundation) กล่าวว่า เมื่อเริ่มสำรวจพื้นที่ที่พบลิงสปีชีส์ใหม่นี้ พวกเขาทราบอยู่แล้วว่าบริเวณดังกล่าวไม่ได้รับการสำรวจมาก่อน แต่พวกเขาก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะได้ค้นพบทางชีววิทยาที่สำคัญ และไม่คาดหวังที่จะได้พบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นรู้จักดีอย่างลิงแอฟริกา

รายละเอียดในรายงานวิจัยระบุถึงสปีชีส์ที่มีลักษณะใบหน้าอันโดดเด่น โดยมีแผงสีบรอนด์ยาวล้อมกรอบใบหน้าที่ยื่นยาวไร้ขน และมีจมูกสีครีมเป็นสันดิ่งตรง และหลังจากวิเคราะห์พันธุกรรมของลิงสปีชีส์ต่างๆ ในกลุ่มลิงแอฟริกาของลิงโลกเก่า นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งชื่อลิงสปีชีส์นี้ ว่า เซอร์โคพิเธคัส โลมามีเอนซิส (Cercopithecus lomamiensis) ตามชื่อแม่น้ำโลมามีที่อยู่ใกล้ๆ

นักวิจัยประเมินว่าลิงสปีชีส์นี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ 16,800 ตารางกิโลเมตรในใจกลางคองโก และได้เตือนว่าพื้นที่เพียงเล็กน้อยที่ลิงกระจายตัวนี้จะทำให้ลิงตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายจากมนุษย์ อย่างเช่นการล่าเพื่อนำเนื้อไปเป็นอาหาร ซึ่ง ดร.ฮาร์ต กล่าวว่า เป็นความท้าทายในการอนุรักษ์ก่อนที่จะเกิดการสูญพันธุ์ ซึ่งการอาศัยในพื้นที่เล็กๆ นี้ จะผลักให้ลิงเลซูลาขยับจากสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) สู่วิกฤตเสี่ยงสูญพันธุ์ (seriously endangered) ได้ในเวลาไม่กี่ปี และการค้นพบนี้ยังขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการและนิเวศวิทยาของลิงแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยืนยันถึงความสำคัญของพื้นที่สำหรับความหลากหลายของลิงไพรเมทที่ยังมีองค์ความรู้กันค่อนข้างน้อย

นักชีววิทยาชี้อีกว่า ป่าที่ยังไม่ได้รับการสำรวจมาก่อนอาจเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตอีกหลายสปีชีส์ที่ยังไม่ได้รับการจำแนก โดย แอนดรูว บัวร์เรลล์ (Andrew Burrell) นักมานุษวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ผู้ร่วมในการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้อาจเป็นเพียงการเริ่มต้นค้นพบในป่าที่ไม่ธรรมดาแต่เป็นรู้จักน้อยและตั้งอยู่ในใจกลางคองโก และในการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ ยังแสดงให้เห็นว่าป่าดังกล่าวยังเป็นแหล่งอาศัยของโอกาปิ * สัตว์สี่เท้าคล้ายยีราฟคอสั้นและมีลายทางคล้ายม้าลาย (okapi) ลิงโบโนโบ (bonobo) ช้าง รวมถึงสัตว์ไพรเมทอีกประมาณ 10 สปีชีส์ และซับสปีชีส์
การมีพื้นที่อาศํยในวงแคบๆ ทำให้ลิงสปีชีส์ใหม่นี้เสี่ยงสูญพันธุ์เร็วขึ้น (ไลฟ์ไซน์/ PLOS One/M. Emetshu)
ภาพแรกที่พลิกผันให้เรารู้จักลิงสปีชีส์นี้ (ไลฟ์ไซน์/John Hart)
ภาพจากกล้องดักถ่าย ลิงเลซูลาเพศผู้ถูกนายพรานล่าและฆ่าตาย (ไลฟ์ไซน์/PLOS One/Gilbert Paluku)






กำลังโหลดความคิดเห็น