xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! “รู้ทันภัยพิบัติ” รับขวัญใจมหาชน “มหกรรมวิทย์ 55”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มาถึงบทสรุปงาน “มหกรรมมวิทย์ 55” ที่จัดใหญ่ต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ นิทรรศการ 4 มิติ “รู้ทันภัยพิบัติ” คว้านิทรรศการขวัญใจมหาชนด้วยยอดผู้รอเข้าชมมากที่สุดในงาน ส่วนกิจกรรม “ฟรีฟอลล์-ตกอิสระ” รับรางวัลนิทรรศการที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุด วัดจากการเป็นข่าวมากที่สุด ส่วนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์คว้ารางวัลนิทรรศการดีเด่นที่ขนอุกกาบาตและจัดแสดงเกี่ยวกับเทหวัตถุจากนอกโลก

นายธนากร พลาชัย รองผู้อำนวยการองคืการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2555 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-31 ส.ค.55 ณ ศูนยืแสดงสินค้าและการประชุมไบเทค บางนา กล่าวสรุปผลการจัดงานว่า แม้ระยะเวลาในการจัดงานของปีนี้จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมาแต่จำนวนผู้เข้าชมก็มากถึง 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้ ได้มีการมอบรางวัลให้แก่ผู้จัดนิทรรศการต่างๆ ภายในงานมหกรรม 3 รางวัล โดยแบ่งเป็น นิทรรศการขวัญใจมหาชน ซึ่งมอบให้แก่นิทรรศการ “รู้ทันภัยพิบัติ” ที่นำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์ 4 มิติ และมีผู้รอเข้าชมมากที่สุด นิทรรศการฮือฮาที่สุด มอบให้แก่นิทรรศการ Free Fall ซึ่งเป็นกิจกรรม “ตกอิสระ” ในส่วนของโซนโลกและเอกภพ โดยวัดผลจากการเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ มากที่สุด
รางวัลสุดท้ายคือนิทรรศการดีเด่น ซึ่งมอบให้แก่หน่วยงานที่ร่วมจัดนิทรรศการ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้รับรางวัลนี้ไป โดยทางสถาบันได้นำอุกกาบาตของจริงมาจัดแสดง และยังเสนอความรู้เพื่อความเข้าใจเรื่องเทหวัตถุต่างๆ จากนอกโลก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจัดนิทรรศการที่สวยงาม ดึงดูดเยาวชนได้ทุกปี และสุดท้ายคือกระทรวงกลาโหมที่ได้รับรางวัลกิจกรรมเป็นเลิศจากการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ดึงดูด ให้ความรู้และสนุกสนาน

งานนี้ไม่ใช่งานของ อพวช. หรืองานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่เป็นงานที่เราดึงให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันทำงานเพื่อให้สังคมได้เห็นว่าวิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในการแข่งขันนี้ไทยเราได้อันดับ 39 จาก 142 ประเทศ ฟังเหมือนดี แต่ปีที่แล้วเราอยู่ในอันดับที่ 38 ขณะที่สิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านของเราได้อันดับ 3 ในปีที่แล้ว แต่ปีขยับขึ้นไปป็นอันดับ 2 นอกจากนี้ความสามารถในการสร้างผลผลิตทางปัญญาหรือสิทธิบัตรของคนไทย 1 ล้านคนนั้นอยู่ที่ 0.72 ฉบับต่อปี ขณะที่ 1 ล้านคนของไต้หวันและญี่ปุ่นสร้างผลผลิตทางปัญญาได้ 350 ฉบับ ดังนั้น ความสำเร็จในวันนี้จึงไม่ใช่ว่าเราทำเสร็จแล้ว แต่เราต้องทำกันต่อ ปีหน้าในเดือนวิทยาศาสตร์เราจะมาร่วมงานกันต่อ” นายธนากรกล่าวสรุป
นายธนากร พลาชัย
กิจกรรมฉายภาพยนตร์ 4 มิติ ในนิทรรศการรู้ทันภัยพิบัติ คว้ารางวัล ขวัญใจมหาชน
กิจกรรม Free Fall คว้ารางวัล ฮือฮาที่สุด
มอบรางวัลแก่ตัวแทนจากหน่วยงานที่ร่วมจัดนิทรรศการ
นิทรรศการอุกกาบาตจาก บูธ สดร.
กิจกรรมนักสืบฟอสซิล จาก สสวท.
กิจกรรมยิงปืนจาก กระทรวงกลาโหม
กำลังโหลดความคิดเห็น