xs
xsm
sm
md
lg

“นีล อาร์มสตรอง” ก้าวเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัฒนาการตามช่วงวัย (ซ้ายไปขวา) ขณะอายุ 6 ขวบ, ขณะเป็นมนุษย์อวกาสในโครงการอะพอลโล, เมื่อเข้าสูงวัยชรา (neilarmstronginfo.com/นาซา)
ย้อนกลับไปเมื่อ 43 ปีที่แล้ว การถ่ายสดภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์คือการถ่ายทอดสดที่มีคนทั่วโลกจับดูมากที่สุด ประมาณ 500 ล้านคนซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของจำนวนประชากรโลกขณะนั้นต่างจับจ้องก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่งที่กลายเป็นก้าวอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

ก้าวเล็กๆ ของ “นีล อาร์มสตรอง” (Neil Armstrong) ในภารกิจของยานอะพอลโล 11 (Apollo 11) ได้กลายเป็นก้าวกระโดดของการสำรวจอวกาศอีกก้าว และกรุยทางให้มนุษย์อีก 11 คนในโครงการอะพอลโลขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ได้ขึ้นไปฝากรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์

ถึงวันนี้ฮีโร่ในใจใครหลายๆ คนได้จากโลกไปอย่างถาวร ทิ้งไว้เพียงร่างที่เคยสร้างตำนานอันยิ่งใหญ่จากการเป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ เขาเสียชีวิตลงด้วยวัย 82 ปี ในวันที่ 25 ส.ค.2012 จากภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจเมื่อวันที่ 7 ส.ค.

ในภารกิจอันเป็นตำนาน นีล อาร์มสตรอง และ บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) มนุษย์คนที่ 2 บนดวงจันทร์ได้ช่วยกันสำรวจและเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับโลกมาเป็นน้ำหนัก 22 กิโลกรัม ส่วน ไมเคิล คอลลินส์ ลูกเรืออะพอลโล 11 อีกคนขับยานบังคับการโมดูลวนรอบดวงจันทร์รอรับทั้งสองคน

นีล อาร์มสตรองได้รับเลือกจากนาซาให้เข้าเป็นมนุษย์อวกาศกลุ่มที่สอง (second group) เมื่อปี 1962 และมีโอกาสได้บินไปอวกาศครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค.ปี 1966 ในฐานะนักบินบังคับการของยาน เจมินี 8 (Gemini 8) ในเที่ยวบินแคปซูลสองที่นั่งดังกล่าว เขาและเดวิด สก็อตต์ (David Scott) ในฐานะนักบินได้เชื่อมต่อยานอวกาศในวงโคจรเป็นครั้งแรก

อาร์มสตรองและสก็อตต์ได้เทียบยานเข้ายานไร้คนขับอาจีนา (Agena) แต่ภารกิจดังกล่าวก็เกือบเผชิญหายนะ และเป็นวิกฤตในวงโคจรครั้งแรกของสหรัฐฯ เมื่อยานเกิดเกาะติดกับส่วนขับดันทำให้ยานเจมินีเกิดหมุนคว้าง แต่อาร์มสตรองก็กู้วิกฤตมาได้โดยใช้ส่วนขับดันเพื่อกลับสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ยานมั่นคงขึ้น และต้องจบภารกิจเร็วขึ้น แต่ก็ปิดภารกิจได้อย่างปลอดภัย

3 ปีหลังจากนั้นเขาก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการในภารกิจอะพอลโล 11 และได้รับชื่อเสียงจากการเป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ และคำพูดแรกของเขาในขณะที่ย่างเหยียบดวงจันทร์เมื่อ 20 ก.ค.1969 ว่า “นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์ (คนหนึ่ง) แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” (That's one small step for (a) man, one giant leap for mankind) ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์

นีลเพื่อนผมได้ย่างก้าวเล็กๆ แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ที่ได้เปลี่ยนแปลงโลก และจะอยู่ในความทรงจำตลอดไปในฐานะที่สร้างช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ผมเคยหวังว่าในปี 2019 เราจะได้มายืนร่วมกันอีกพร้อมด้วยเพื่อนร่วมเดินทางของเรา ไมค์ คอลลินส์ (Mike Collins) เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีการลงจอดบนดวงจันทร์ของพวกเรา แต่น่าเศร้าที่เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้แล้ว แต่เมื่อถึงเวลานั้นจิตวิญญาณของเขาจะอยู่กับเรา” อัลดริน มนุษย์ผู้เหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่สองกล่าว

เมื่อกลับจากดวงจันทร์และการเดินทางรอบโลกหลังความสำเร็จแล้ว อาร์มสตรองก็รับตำแหน่งที่สำนักงานใหญ่ของนาซาในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการบิน และบริหารงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการบินทั้งหมดขององค์กร จากนั้นเขาได้ลาออกจากนาซาในปี 1971 และเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านวิสวกรรมการบินที่มหาวิทยาลัยซินซินเนติ (University of Cincinnati) ซึ่งเขาทำงานที่นั้นจบทศวรรษ และในปี 1982-1992 เขาได้เป็นประธานบริษัทคอมพิวติงเทคโนโลจีส์ฟอร์เอไวเอชัน (Computing Technologies for Aviation, Inc.) ในชาร์ลอตส์วิลล์ (Charlottesville) เวอร์จิเนีย

อาร์มสตรองเกิดในวาปาโกเนตา โอไฮโอ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.1930 และจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมการบินจากมหาวิทยาลัยเปอร์ดัว (Purdue University) ในอินเดียนา และจบปริญญาโททางด้านวิศวกรรมการบินจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) และได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตจากอีกหลายมหาวิทยาลัย และหลังจากกลับจากดวงจันทร์แล้วยังได้รางวัลเชิดชูเกียรติจากประเทศต่างๆ อีก 17 ประเทศ

เส้นทางชีวิตก่อนเป็นนักบินอวกาศนั้น อาร์มสตรองได้เป็นนักบินของกองทัพเรืออยู่ 3 ปี ก่อนเข้าทำงานในสำนักคณะกรรมการที่ปรึกษาการบินสหรัฐ (National Advisory Committee for Aeronautics) หรือนาคา (NACA) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นนาซาในปี 1955 โดยเข้าไปทำงานในส่วนของศูนย์วิจัยลูอิส (Lewis Research Center) และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นนาซาเกลนน์ (NASA Glenn)

ขณะเป็นนักบินวิจัยที่ศูนย์วิจัยการบิน (Flight Research Center) ของนาซาในแคลิฟอร์เนีย อาร์มสตรองได้ทำหน้าที่นักบินในโครงการทดสอบเครื่องบินสมรรถนะสูงรุ่นนำร่องจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงเครื่องบินจรวดเอกซ์-15 (X-15) และได้ทดสอบเครื่องบินต่างๆ กว่า 200 แบบ ที่มีทั้งเครื่องบินความเร็วสูง เฮลิคอปเตอร์และเครื่องร่อน

อย่างไรก็ดี สเปซด็อทคอมระบุว่าหลังกลับจากดวงจันทร์ได้ไม่นาน อาร์มสตรองก็ประกาศไม่บินไปอวกาศอีก โดยครอบครัวของเขาได้แถลงหลังการเสียชีวิตว่า นีลอาร์มสตรองเป็นฮีโร่อย่างจำต้องเป็น โดยเขาเชื่อเสมอว่าเขาเพียงแค่ทำงานของตัวเอง เขารับใช้ชาติอย่างเต็มภาคภูมิในฐานะนักบินของกองทัพเรือ นักบินทดสอบและนักบินอวกาศ เขายังยังความสำเร็จสู่ครอบครัวในบ้านเกิดที่โอไฮโอในการทำธุรกิจและงานด้านการศึกษา และกลายเป็นผู้นำชุมชนในซินซินเนติ

“สำหรับใครที่อาจจะถามว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อเชิดชูเกียรติแก่นีลได้บ้าง เรามีคำของ่ายๆ เคารพในการทำหน้าที่รับใช้ของเขา ในความสำเร็จของเขา และในความอ่อนน้อมของเขา และครั้งหน้าที่คุณเดินออกไปในคืนที่ฟ้าใส แล้วเห็นดวงจันทรืยิ้มลงมาให้คุณ ให้คิดถึงนีล อาร์มสตรอง และขยิบตาส่งไปให้เขา” ครอบครัวอาร์มสตรองเขียนไว้ในคำแถลงหลังการเสียชีวิตของเขา
ภาพนีล อาร์มสตรองภายยานลูนาร์โมดูล หลังปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์เสร็จสิ้น (นาซา)
ภาพนีล อาร์มสตรอง ระหว่างเก็บตัวอย่างดวงจันทร์ (นาซา)
นีล อาร์มสตรอง ข้างๆ ลูนาร์โมดูลบนพื้นผิวดวงจันทร์ (นาซา)
ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ไปต้อนรับ สามฮีโร่ในภารกิจอะพอลโล 11 (ซ้ายไปขวา) นีล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินส์ และ บัซ อัลดริน บนเรือกู้ลูกเรือที่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก (นาซา)
สามฮีโร่ในภารกิจอะพอลโล 11 (ซ้ายไปขวา) นีล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินส์ และ บัซ อัลดริน (นาซา)
นีล อาร์มสตรอง ในภารกิจฝึกซ้อมลจอดดวงจันทร์ (นาซา)
นีล อาร์มสตรอง ในภารกิจฝึกซ้อมก่อนไปดวงจันทร์ (นาซา)
นีล อาร์มสตรอง ฝึกซ้อมเก็บหินดวงจันทร์ (นาซา)
หวิดไม่ได้ไปดวงจันทร์ ระหว่างทดสอบยานวิจัยเพื่อการลงจอดดวงจันทร์ LLRV (Lunar Landing Research Vehicle) ยานเกิดระเบิด แต่นีล อาร์มสตรอง ดีดตัวออกมาได้ทันเมื่อ 6 พ.ค.1968 (นาซา)
ระหว่างทดสอบบินเครื่องบิน X-15-3 ที่ความสูง 207,000 ฟุต (นาซา)
ฉลองฮีโร่อะพอลโล 11 (นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น