สวทช.เผยเครื่องซีดีสแกน 3 มิติผลงานนักวิจัยไทย 100% ให้ผลดีกว่าฉายเอกซ์เรย์แบบ 2 มิติ แต่มีปริมาณรังสีน้อยกว่า ใช้งานจริงในคลีนิคทันตกรรม ประสิทธิภาพเทียบเท่าเครื่องนำเข้าจากเกาหลี ไต้หวัน แต่ราคาถูกกว่ากันเกือบครึ่ง พร้อมต่อยอดผลิตขายสู่เชิงพาณิชย์ และยังประยุกต์ในการวินิจฉัยใบหน้าและขากรรไกรได้
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับการผ่าตัดศัลยกรรมทางช่องปาก หรือเครื่องเดนทัลซีที (Dental CT) เมื่อวันที่ 20 ก.ค.55 ณ ศูนย์ทันตกรรมเอสดีซี โดยเป็นเครื่องซีทีเครื่องแรกสำหรับงานทันตกรรมที่นักวิจัยไทยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พัฒนาขึ้น
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และหัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องมือนี้กล่าวว่า เครื่องเดนทัลซีทีนี้เป็นเครื่องพัฒนามาจากต้นแบบเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมชื่อว่า “เดนตีสแกน” (DentiiScan) ซึ่งเริ่มพัฒนาเมื่อปี 2550 โดยนักวิจัยเอ็มเทคและเนคเทค ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2551 ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นสามารถประมวลภาพได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จากนั้นจึงมีการพัฒนาและทดสอบความปลอดภัยเพื่อให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ จนกระทั่งสำเร็จเมื่อปี 2554
สำหรับการทำงานของเครื่องเดนทัลซีทีนี้จะใช้เครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ที่มีลำแสงแบบกรวยและฉากรับภาพรังสี ซึ่งอุปกร์ณทั้งสองจะตั้งอยู่ตรงข้ามกัน แล้วหมุนรอยบศรีษะผู้ป่วย 360 องศา จากนั้นจากที่ได้จากการฉายรังสีจะถูกส่งเข้าคอมพิวเตอรืประมวลผลออกมาเป็นภาพ 3 มิติ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ซึ่งเครื่องมือนี้ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยเรื่องรังสีจากกองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และผ่านการทดสอบความลปอดภัยทางระบบไฟฟ้าจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ทพญ.ดร.สุธาสินี เกษมศานต์ ผู้อำนวยการศูนย์ทันตกรรมเอสดีซี ผู้ร่วมโครงการและร่วมลงทุนวิจัยในการพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นี้เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นมูลค่า 2 ล้านบาท กล่าวว่า เครื่องมือนี้ได้ผลิตขึ้นมาทั้งหมด 3 เครื่อง เป็นเครื่องต้นแบบ 1 เครื่องและอีก 2 เครื่องติดตั้งเพื่อทดสอบทางคลีนิก ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ทันตกรรมเอสดีซี เมื่อกลางปี 2554
ในการทดสอบเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์จากทั้ง 2 แห่ง มีการถ่ายภาพอวัยวะภายในบริเวณช่องปากและใบหน้าของผู้ป่วยอาสาสมัคร เพื่อใช้ใรนการวางแผนผ่าตัดและวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น งานทันตกรรมรากฟันเทียม การผ่าตัดเพื่อทำหูเทียมและการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งกรามช้าง รวมทั้งสิ้น 170 ราย
ผู้อำนวยการศูนย์ทันตกรรมเอสดีซีกล่าวว่า เครื่องมือนี้สามารถถ่ายภาพที่ให้รายละเอียดทั้งลักษณะฟันและชั้นเคลือบฟันซึ่งมีความหนาเพียงไม่กี่มิลลิเมตร แต่นอกจากการใช้งานทางด้านทันตกรรมแล้ว เครื่องมือนี้ยังสามารถใช้วินิจฉัยโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกรได้ทั้งหมด ซึ่งอาจประยุกต์ใช้กับการรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุได้ และเมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานกับเครื่องมือที่นำเข้าจากจีน ไต้หวันหรือเกาหลีแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ากันแต่มีราคาเพียง 5.5 ล้านบาท ขณะที่เครื่องนำเข้ามีมูลค่านับสิบล้านบาท