ปกติ “ขี้แป้ง” จากอุตสาหกรรมน้ำยางข้นจะเป็นของเสียที่ทั้งเจ้าของโรงงานและเกษตรกรไม่สามารถนำไปประโยชน์ได้สูงสุด บ้างเอาไปถมที่ บ้างเอาไปทำปุ๋ย ทั้งๆ ที่รู้ว่ายังมี “เนื้อยาง” ที่เปลี่ยนเป็นเงินได้ปะปนไปด้วย ล่าสุดนักวิจัยไทยได้พัฒนากระบวนการที่สามารถดึงเอาวัตถุดิบมีราคาดังกล่าวออกมาได้เป็นรายแรกของโลก และยังได้สารอนินทรีย์ที่นำไปทำปุ๋ยได้เต็มศักยภาพ ซึ่งพัฒนาเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเซรามิกส์ก็ได้
ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ หนึ่งในทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการยาง หน่วยวิจัยโพลิเมอร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และผู้สื่อข่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนากระบวนการในโรงงานผลิตน้ำยางข้นของอุตสาหกรรมยางพารา ที่สามารถแยก “เนื้อยาง” ออกมาจาก “ขี้แป้ง” ซึ่งกากตะกอนน้ำยางธรรมชาติของโรงงาน
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้พัฒนาสารที่มีชื่อเฉพาะว่า GRASS 3 ที่สามารถลดมลพิษซึ่งเกิดจากตะกอนของเสียในโรงงานผลิตน้ำยางข้นหรือขี้แป้งได้เป็นครั้งแรกในโลก และสารดังกล่าวยังช่วยแยกเอาเนื้อยางออกจากขี้แป้งได้ 20-30% และแยกเอาสารอนินทรีย์ออกมาได้อีก 60-70% โดยต้นทุนของการนำกลับเนื้อยางนั้นคิดเป็นราคากิโลกรัมละ 5 บาท ส่วนสารอนินทรีย์มีต้นทุนกิโลกรัมละ 1 บาท
เนื้อยางที่ได้นั้นมีคุณภาพดีและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ส่วนสารอนินทรีย์นั้นก็มีความบริสุทธิ์สูงและพบว่ามีฟอสฟอรัส โพแทสเซียและไนโตรเจน ซึ่งชัดเจนว่าสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ หรืออาจนำไปปรับปรุงต่อเพื่อผลิตเป็นเซรามิกส์ได้ โดยเฉพาะวัสดุทนไฟ เช่น อิฐ ครูซิเบิล และแผ่นบุผนังเตาเผา เป็นต้น
ผลงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพาราไทย และได้รับรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2554 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรับมนตรี
สำหรับโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อคววามยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพาราไทยนี้ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำยางข้น ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตน้ำยางข้นถึง 66% ของตลาดโลก และมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ครบวงจร อาทิ เทคโนโลยีการรักษาน้ำยางสดแทนการใช้แอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุน สารเพิ่มประสิทธิภาพในการจับตัวน้ำยางสกิมหรือหางน้ำยางสารจับตัวน้ำยางเครื่องปั่นน้ำยางประสิทธิภาพสูง เป็นต้น