xs
xsm
sm
md
lg

ผลทดลองในคนไทยนักวิจัยเริ่มเห็นเค้าลาง "วัคซีนเอดส์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการจุดเทียนในวันเอดส์โลกที่เมืองจาร์กาตาเมื่อปี 2009 (รอยเตอร์)
ความพยายามในการพัฒนา "วัคซีนเอดส์" เกือบ 30 ปี เริ่มเห็นเค้าลางเข้าใกล้ความจริง หลังโครงการทดสอบระดับคลินิกในอาสาสมัครชาวไทยให้สัญญาณที่ดีด้วยวัคซีน 2 ตัวร่วมกัน ป้องกันได้มากกว่า 31% ทีมวิจัยนานาชาติเดินหน้าศึกษาต่อในกลุ่มชายรักร่วมเพศ หวังเห็นผลเกินกว่า 50% คาดการณ์ได้วัคซีนเอดส์ตัวแรกของโลกไม่เกินปี 2019

ย้อนกลับไปในปี 1984 รอยเตอร์ระบุว่าเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ ได้คาดการณ์สถานการณ์ระบาดของเอดส์ว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้ภายใน 2 ปีหลังจากนั้น แต่ความพยายามก็ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า การทดลองในระดับคลีนิกโดย “เมิร์ค” (Merck) เมื่อปี 2007 ก็ให้ผลว่าอาสาสมัครมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี (HIV) มากขึ้น หากแต่การทดลองในอาสาสมัครชาวไทยเมื่อปี 2009 ให้ความหวังที่จะได้วัคซีนซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อในคนได้มากขึ้น

"เรารู้โฉมหน้าที่แท้จริงของศัตรู แต่ศัตรูตัวนี้ก็มีเล่ห์เหลี่ยมเกินกว่าที่เราจะคาดคิด" คำกล่าวของ ดร.บาร์ตัน เฮย์เนส (Dr.Barton Haynes) แห่งมหาวิทยาลัยดุค (Duke University) ในเดอแรม นอร์ทแคโรไลนา สหรัฐฯ และผู้อำนวยการศูนย์ภูมิคุ้มกันวิทยาและวัคซีนโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวี (Center for HIV AIDS Vaccine Immunology: CHAVI)

ทั้งนี้ ดร.เฮย์เนสจะเป็นตัวแทนของทีมวิจัยทำหน้าที่บรรยายสรุปผลการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ในประเทศไทย ภายในงานประชุมวิชาการสมาคมโรคเอดส์นานาชาติ ประจำปี 2012 (International AIDS Society's 2012 conference) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 ก.ค.นี้ ที่วอชิงตัน สหรัฐฯ

เชื้อเอชไอวีต่างจากโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ และความพยายามจะพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้ก็เหมือนความพยายามยิง “เป้าบิน” เพราะตัวเชื้อเองก็มีความหลากหลาย มีหลายสายพันธุ์ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกที่มีความหลกาลหายแตกต่างกันไป และไวรัสตัวนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะมุ่งโจมตีระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นกลไกที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค

ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 34 ล้านคนทั่วโลก เฉพาะในปี 2010 ก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 2.7 ล้านคน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้ตอนนี้โรคเอดส์ไม่ใช่คำพิพากษาให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องตายสถานเดียวอีกต่อไป เนื่องด้วยยาต้านไวรัสหลายขนานที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา และนับแต่การระบาดสูงสุดในปี 1997 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ลดลงถึง 21% รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างจริงจัง แต่วัคซีนก็ยังเป็นความหวังสูงสุดที่จะช่วยกำจัดโรคนี้ให้หมดสิ้น

ทีมนักวิจัยพยายามกันอย่างเต็มที่มาเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ เพื่อหาหนทางพิชิตโรคเอดส์แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3 (RV144) ที่เริ่มขึ้นในปี 2009 โดยเป็นการทดสอบระดับคลินิกในอาสาสมัครชาวไทย ทั้งชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี จำนวน 16,000 คน ทำให้นักวิจัยได้เห็นเค้าลางความสำเร็จ

พันเอก เนลสัน ไมเคิล (Colonel Nelson Michael) ผู้อำนวยการโครงการวิจัยเอชไอวีแห่งกองทัพสหรัฐฯ (U.S. Military HIV Research Program) และหัวหน้าโครงการ RV144 กล่าวว่า การทดลองดังกล่าวส่งผลกระทบไปทั่ววงการ ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ใช้วัควีน 2 ชนิดร่วมกันในการทดสอบกับอาสาสมัคร ประกอบไปด้วยวัคซีน ALVAC และวัคซีน AIDSVAX

วัคซีน ALVACเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคฝีอย่างอ่อนๆ ที่มียีนของเชื้อเอชไอวีแฝงอยู่ด้วยจำนวน 3 ยีน พัฒนาขึ้นโดยบริษัทซาโนฟี (Sanofi) ส่วนวัคซีน AIDSVAX ซึ่งเป็นวัคซีนดั้งเดิมที่สร้างจากโปรตีนพื้นผิวของเชื้อเอชไอวี พัฒนาขึ้นโดยบริษัทจีเนนเทค (Genentech) ในกลุ่มบริษัทโรช

วัคซีนทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวให้ผลที่ล้มเหลวเมื่อทดลองใช้แยกกัน ซึ่งยืนยันได้จากรายงานผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทยก่อนหน้านั้นของนักวิทยาศาสตร์จำนวน 22 คน ที่เผยแพร่ในวารสารไซน์ (Science) แต่การทดสอบในโครงการ RV144 กลับให้ผลที่น่าตกตะลึง เมื่อใช้วัคซีน 2 ชนิดร่วมกัน สามารถตัดตอนการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึง 31.2% และแม้ผลการทดลองนี้ไม่ได้เพียงพอที่จะบอกว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพ แต่มันก็มีผลอย่างใหญ่หลวงต่อนักวิจัย

การวิเคราะห์ผลการวิจัยในการทดลองในประเทศไทยตามโครงการดังกล่าวนั้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน (New England Journal of Medicine) ซึ่งพบว่าอาสาสมัครทั้งชายและหญิงที่ได้รับวัคซีนนั้น มีการสร้างแอนติบอดีต่อบริเวณที่จำเพาะของเปลือกหุ้มเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเปลือกหุ้มไวรัสดังกล่าวเป็นเป้าหมายที่สำคัญของวัคซีน

หลังจากนี้จะมีการเตรียมติดตามผลการทดลองระดับคลินิกของวัคซีนในรูปแบบที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นในกลุ่มคนรักต่างเพศในแอฟริกาใต้ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีคนละชนิดกับที่พบในประเทศไทย รวมถึงศึกษาทดลองในกลุ่มชายรักร่วมเพศในประเทศไทยต่อไปด้วย โดยวัคซีนที่จะใช้ในการศึกษาขั้นต่อไปนั้น จะเปลี่ยนจาก AIDSVAX ของบริษัทซาโนฟี เป็นวัคซีนอีกตัวหนึ่งที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทโนวาร์ติส (Novartis)

"เราจะทำงานให้เร็วที่สุดเท่าที่พวกเราสามารถทำได้" พันเอกไมเคิลกล่าว ซึ่งเขาคาดว่าการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในระดับที่ใหญ่มากขึ้นจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2016 โดยมีความหวังว่าวัคซีนจะมีประสิทธิผลอย่างน้อยที่สุด 50% ซึ่งเป็นระดับที่ผู้จัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ระบุว่าจะมีผลต่อการระบาดของโรค และอาจจะเป็นเส้นทางนำไปสู่วัคซีนป้องกันโรคเอดส์ตัวแรกของโลก ซึ่งคาดว่าน่าจะสำเร็จในปี 2019
กำลังโหลดความคิดเห็น