“...หายใจเข้า หายใจออก เป็น Getting to zero หรือมุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ ... เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะมีอะไรที่ชัดเจน จะมีงบประมาณที่เพียงพอและต่อเนื่องให้คนทำงานได้ทำตามแผนที่วางไว้หรือไม่...”
สัปดาห์นี้ ขอพูดถึงประเด็นต่อเนื่องจากการที่รัฐบาลจะจัดให้มีมาตรฐานเดียวในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ทั้งสามระบบ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งเรื่องที่อยากจะพูดถึงในคราวนี้ คือ กรณีที่นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกประเด็นว่า จะตามรักษาอย่างเดียวไม่ได้แน่ จะทำอย่างไร ถึงจะมีระบบการส่งเสริมป้องกันไม่ให้ป่วย ไม่ให้ติดเชื้อ ผมในฐานะที่ตามเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ต้องขอชื่นชมในการมองปัญหานี้ แต่เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ต้องมีแนวปฏิบัติและแนวทางการสนับสนุนงานนี้ อย่างจริงจัง ผมจึงอยากชวนมอง ชวนคิดเรื่องนี้ต่อครับ
ที่อยากชวนมองและผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ สถานการณ์ที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ทุกวัน วันละกว่า 30 ราย หลักๆ ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่ทุกวัน เนื่องมาจากคนส่วนใหญ่ไม่ทันคิด คิดไม่ถึงว่าตนเองจะมีเชื้ออยู่ในตัวแล้วจากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่คนใดคนหนึ่ง โดยไม่รู้ตัว ที่พูดเช่นนี้ เพราะว่าในวิถีชีวิตของคนทั่วไปมีโอกาสพบปะเจอะเจอ และคบหากับคนใกล้ตัว คนในที่ทำงาน คนในสถานศึกษาเดียวกัน คบกันเป็นแฟน มีอะไรกัน บางรายอยู่ด้วยกันได้ ก็อยู่ตบแต่ง กันไปเป็นเรื่องเป็นราว แต่ส่วนหนึ่งก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ ก็ต้องเลิกรา ต่างคน ต่างไป มีคนใหม่ ... วิถีแบบนี้ พวกเราก็เห็นกันอยู่ รู้กันอยู่ ทำกันอยู่เป็นปกติ แต่สิ่งหนึ่ง ที่ผู้คนไม่รู้ ไม่ทันคิด ก็คือ ตัวเองหรือคู่ของเราอาจจะมีเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว และสามารถส่งต่อเชื้อให้กันและกันได้ โดยการมีเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ได้ป้องกัน ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย
สิ่งนี้แหละครับที่ท่านนายกฯ ต้องเห็นภาพเหล่านี้ด้วยกันก่อน เพราะการเห็นภาพร่วมกันจะนำไปสู่การทำงานป้องกันที่ตรงเป้าหมาย และรัฐบาลจะต้องออกแรงทำเรื่องนี้ให้มากกว่านี้ครับ เช่น ทำแผนปฏิบัติการเรื่องการรณรงค์ สร้างความเข้าใจ ช่วยให้ประชาชน สามารถประเมินความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อให้ได้ ที่ว่าเป็นแผนปฏิบัติการหมายถึง สร้างเป้าหมายของทุกหน่วยงานเรื่องนี้ ให้เป็นเป้าเดียวกัน ซึ่งในช่วงเวลานี้ น่าจะง่ายขึ้นกว่าสมัยแต่ก่อนตรงที่ทุกหน่วยงานตอนนี้ หายใจเข้า หายใจออก เป็น Getting to zero หรือมุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ ได้แก่ ลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เป็นศูนย์ ลดอัตราการตายให้เป็นศูนย์ และลดการรังเกียจผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์
เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะมีอะไรที่ชัดเจน จะมีงบประมาณที่เพียงพอและต่อเนื่องให้คนทำงานได้ทำตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ผู้นำรัฐบาล ผู้นำในกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเข้าใจประเด็นอย่างดีพอ ผมเลยอยากจะชวนท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ และชวนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อเป็นการส่งสัญญาณกับประชาชนทั่วไปว่า ถ้าทุกคนที่ประเมินว่าตัวเองมีความเสี่ยง เช่น เคยมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย และคู่ของเราอาจจะไม่ได้มีเราคนเดียว หรือตัวเราไม่ได้มีคู่เพียงคนเดียว เราน่าจะคิดถึงการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อที่จะวางแผนบริหารจัดการชีวิตต่อไป ถ้าตรวจพบว่าติดเชื้อจะได้เข้าสู่การดูแลรักษาแต่เร็ว ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษา ลดความเสี่ยงที่จะป่วยมาก ถึงเสียชีวิตได้อย่างมาก และถ้ารู้ว่าไม่ติดเชื้อจะได้วางแผนทำให้ตัวเองปลอดภัยตลอดไป ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้หลายหน่วยงาน ร่วมมือกัน จัดรณรงค์ช่วยย้ำเตือนให้แต่ละคนให้คิดทบทวนตัวเอง
ที่สำคัญ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าตรวจครับ! เพราะการตรวจหาเอชไอวีเป็นสิทธิประโยชน์ที่รัฐจัดให้กับประชาชนทุกคนได้ตรวจฟรี ปีละสองครั้ง แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนรู้ ไม่ค่อยมีคนไปตรวจ และถ้าเราไม่ทำอะไร รัฐก็ไม่ออกมากระตุ้นเตือนกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เราก็จะไม่สามารถหยุดหรือลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ได้ ผมก็ได้แต่หวังว่าจะมีคนให้ข้อมูลเรื่องนี้กับท่านนายกฯ เพื่อจะชวนท่านมาเป็นแบบรณรงค์ชักชวนให้ประชาชน คิดถึงความเสี่ยง คิดถึงช่องทางการได้รับเชื้อ และเดินออกไปรับบริการปรึกษาเพื่อการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี จากหน่วยบริการของรัฐภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพครับ