คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ - จุฬาฯ เสนอวิธีง่ายๆ ยืดอายุกล้วยหอม จุ่มน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสนาน 10 นาทีก่อนรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ช่วยเก็บไว้นานถึง 10 วัน เป็นผลดีต่อการส่งออก เกษตรกรทำเองได้ง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือแช่เย็น
ผศ.ดร.กนกวรรณ เสรีภาพ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า กล้วยหอม เป็นผลไม้ที่สุกเร็ว การชะลอกล้วยหอมให้คงสภาพ ไม่สุกเร็วจะเป็นประโยชน์ในการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยทั่วไปแล้ววิธีการที่ง่ายที่สุดในการชะลอความสุกของผลไม้คือการแช่เย็นในห้องเย็น เพื่อเก็บรักษาผลไม้ไว้ในที่อุณหภูมิต่ำ สำหรับกล้วยหอมนั้น วิธีการชะลอความสุกอาจใช้การใช้สารเคลือบผิวผลกล้วย หรือการใช้สารเคมีในการกำจัดหรือดูดซับเอทิลีน ซึ่งเป็นก๊าซที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในกล้วย
ผศ.ดร.กนกวรรณและคณะได้ศึกษาวิจัยวิธีการชะลอการสุกของกล้วยหอมทองด้วยน้ำร้อน ซึ่งมีผลการศึกษาจากการจุ่มน้ำร้อนต่อการทำงานของสารแอนติออกซิเดนต์และคุณภาพของผลกล้วยหอมทอง โดยได้นำผลกล้วยหอมทองจุ่มในน้ำอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 นาที ก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 10 วัน ผลการศึกษาพบว่า กล้วยหอมทองที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสมีการสุกในวันที่ 8-10 ของการเก็บรักษา โดยมีแนวโน้มของการชะลอการสุกในกล้วยหอม
รวมทั้งมีการชะลอการเพิ่มขึ้นของค่าความสว่างของสีเปลือก ผลการศึกษาสรุปได้ว่าเมื่อนำกล้วยหอมทองจุ่มน้ำณหภูมิดังกล่าวสามารถชักนำสารแอนติออกซิแดนต์ให้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการชะลอการสุกของกล้วยระหว่างการเก็บรักษา สามารถเก็บ กล้วยหอมทองไว้ได้นานขึ้น เนื่องจากความร้อนจะมีส่วนช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เมตาบอลิซึมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเอทิลีนและกระบวนการสุกของกล้วยหอมทอง
วิธีดังกล่าวสะดวก ไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารถทำเองได้โดยง่าย ที่สำคัญคือไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ในส่วนของรสชาติของกล้วยก็มีความอร่อยและหอมหวานเช่นเดียวกับ กล้วยทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการชะลอการสุกด้วยน้ำอุณหภูมิดังกล่าว ทั้งนี้วิธีการใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับผลไม้มีการทำมานานแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอความสุกของผลไม้แล้ว ยังมีส่วนช่วยในการ ฆ่าเชื้อโรคในผลไม้ต่างๆ ได้อีกด้วย
ผศ.ดร.กนกวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาวิจัยการชะลอการสุกของกล้วยหอมทองด้วยความร้อนนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ทำการศึกษาในเรื่องการใช้สารธรรมชาติชนิดอื่นๆ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับ เอทิลีนร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีการทดลองศึกษาวิจัยในผลไม้ชนิดอื่นนอกเหนือจากกล้วยหอมทอง ได้แก่ มะม่วง พันธุ์น้ำดอกไม้ และอกร่อง