เทคนิคใหม่จากการบันทึกแสงอินฟราเรดอ่อนๆ ที่สะท้อนจากภาพวาดในยุคเรเนสซองส์ของอิตาลีได้เผยรายละเอียดใหม่ในศิลปะ
เทคนิคดังกล่าวเรียกว่าเทคนิคเทอร์มัลควอซี-รีเฟลกโตกราฟี (Thermal Quasi-Reflectography) หรือทีคิวอาร์ (TQR) ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุไว้ว่าเป็นการบันทึกการสะท้อนจางๆ ของแสงอินฟราเรดพลังงานต่ำ อันเป็นแสงในย่านที่ตามองไม่เห็นแต่สัมพันธ์กับความร้อน
การสร้างภาพใหม่นี้ไม่ได้บันทึกแสงอินฟราเรดจากตัวภาพแต่เป็นการให้ความร้อนน้อยๆ แก่ผลงานศิลปะอันล้ำค่า โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะภาพศิลปะได้ใช้เทคนิคทางแสงหลายเทคนิคเพื่อวิเคราะห์และดูแลงานศิลป์
สำหรับรังสีเอกซ์ซึ่งเป็นสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานสูงนั้นไม่ใช่แค่นำไปใช้เพื่อมองผ่านชั้นเม็ดสีของภาพวาด แต่ยังช่วยจำแนกอะตอมในเม็ดสี ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการประเมินอายุของงานศิลปะหรือการตรวจสอบว่าศิลปะชิ้นนั้นเป็นของจริงหรือไม่ แต่สำหรับเทคนิคทีคิวอาร์นั้นจะเผยรายละเอียดที่เทคนิคอื่นๆ ให้ไม่ได้
เทคนิคทีคิวอาร์ถูกใช้วิเคราะห์ภาพ “พระเยซูคืนชีพ” (The Resurrection) ภาพวาดผนังปูนในยุคศตวรรษที่ 15 ของ เปียโร เดลลา ฟรานเชสกา (Piero della Francesca) เผยภาพการเติมแต่งที่เป็นจุดสว่างใต้อักษร A , ความไม่สม่ำเสมอในการระบายสีโล่ที่บริเวณจุด B และการเปลี่ยนแปลงเทคนิคระบายสีที่จุด C ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เห็นได้ด้วยแสงอินฟราเรดใกล้ดังแสดงในภาพซ้าย
คลาเดีย ดาฟฟารา (Claudia Daffara) จากมหาวิทยาลัยเวโรนา (University of Verona) อิตาลี หัวหน้าทีมในการศึกษาภาพวาดโบราณด้วยเทคนิคแสงอินฟราเรดนี้กล่าวว่า เทคนิคใหม่นี้ช่วยให้จำแนกการบูรณะเก่าๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะการตกแต่งด้วยทองที่หลุดร่อนไปก็จะถูกวาดใหม่ได้ง่าย และยังเป็นเทคนิคที่ช่วยให้เห็นสิ่งที่ปกคลุมอยู่ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะวัตถุบนภาพวาดผนังปูน
ทีมศึกษาครั้งนี้ยังประกอบด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอล อักควิลา (University of L'Aquila) และสถาบันทัศนศาสตร์ฝรั่งเศส (National Institute of Optics) ในฟลอเรนซ์ ซึ่งพวกเขาได้วิเคราะห์สำเนายุค 1930 ของภาพวาดผนังปูนที่วาดโดย เกอร์ลันเดา (Ghirlandaio) และพบว่าภาพทีคิวอาร์ในช่องขวาสุดนั้นพบการใช้สีแดงชาดที่ไม่ปรากฏในแสงย่านที่ตามองเห็นดังภาพในช่องซ้าย และอีก 2 ช่องตรงกลางที่บันทึกด้วยแสงย่านอินฟราเรดใกล้
อย่างไรก็ดี ดาริโอ แอมบรอสินี (Dario Ambrosini) จากมหาวิทยาลัยแอลอักควิลา กล่าวว่าการศึกษามากกว่านี้จำเป็นต้องแปลงเทคนิคทีคิวอาร์ให้สามารถจำแนกเม็ดสี มากกว่าแค่แสดงถึงความแตกต่างสีหรือเทคนิคที่ใช้ โดยเขาบอกว่าการจำแนกอองค์ประกอบทางเคมีของเม็ดสีนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดเพื่อปกป้องและฟื้นฟูภาพศิลปะ