Empedocles ปราชญ์กรีกเมื่อ 2,450 ปีก่อนได้เคยแถลงว่า สรรพสิ่งในโลกประกอบด้วยธาตุ 4 ชนิด คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ในอัตราส่วนต่างๆ กัน ความเชื่อนี้เป็นที่ยอมรับของผู้คนมานานนับพันปี จนกระทั่ง Robert Boyle ได้ให้คำจำกัดความของธาตุว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแบ่งแยกโดยกระบวนการทางเคมีให้เล็กลงไปได้อีก ดังนั้นตามคำจำกัดความใหม่นี้ความคิดของ Empedocles จึงผิด เพราะลมประกอบด้วยออกซิเจนกับไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ และน้ำประกอบด้วยออกซิเจนและไฮโดรเจน ดังนั้น ดิน น้ำ ลม ไฟ จึงไม่ใช่ธาตุ
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เรียกหน่วยที่เล็กที่สุดของธาตุว่า อะตอม และรู้ว่าอะตอมของแต่ละธาตุมีรูปทรงและสมบัติที่แตกต่างกัน โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ ที่แกนกลางมีนิวเคลียสซึ่งประกอบด้วยโปรตอนกับ นิวตรอน และมีอิเล็กตรอนที่โคจรรอบนิวเคลียสนั้น สำหรับธาตุที่เบาที่สุด คือไฮโดรเจน เพราะนิวเคลียสของไฮโดรเจนมีโปรตอน 1 ตัว และมีอิเล็กตรอน 1 ตัว ส่วนนิวเคลียสของยูเรเนียมมีโปรตอน 92 ตัว กับนิวตรอน 146 ตัว และมีอิเล็กตรอน 92 ตัวโคจรโดยรอบ และเพื่อบอกจำนวนโปรตอนในนิวเคลียส นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีเขียนชื่อธาตุโดยใช้สัญลักษณ์และมีเลขกำกับ เช่น ใช้สัญลักษณ์ 1H โดยที่ H แทนไฮโดรเจน และเลข 1 แสดงจำนวนโปรตอนในนิวเคลียส ดังนั้นสัญลักษณ์ของยูเรเนียมจึงเป็น 92U ซึ่งแสดงว่า นิวเคลียสของยูเรเนียมมีโปรตอน 92 ตัว
ในสถานการณ์ปกติ นักวิทยาศาสตร์พบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะพบธาตุในธรรมชาติที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียม เพราะเมื่อใดที่นิวเคลียสของธาตุมีโปรตอนมากกว่า 92 ตัว มันจะสลายตัวโดยการปล่อยอนุภาคอัลฟา และอนุภาคเบตาหรือรังสีแกมมาออกมา นั่นคือ นิวเคลียสจะไม่เสถียร แม้ธาตุที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียมจะมีอายุไม่ยืนนาน แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มีความมุ่งมั่นจะสร้างธาตุที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียมขึ้นมาเพื่อศึกษาธรรมชาติ รวมถึงหาวิธีประยุกต์ใช้ธาตุใหม่เหล่านี้ และตลอดเวลา 80 ปีที่ผ่านมานี้ เราจึงมีธาตุ neptunium 93 , plutonium 94, americium 95, curium 96, berkelium 97, californium 98, einsteinium 99, fermium 100, mendelevium 101, nobelium 102, lawrencium 103, rutherfordium 104, dubnium 105, seaborgium 106, bohrium 107, hassium 108, meitnerium 109 และ darmstadtium 110
โดยเฉพาะ darmstadtium ที่มีสัญลักษณ์ Ds นั้นเป็นธาตุที่ 110 เพราะนิวเคลียสของธาตุนี้มีโปรตอน 110 ตัวและได้รับการสังเคราะห์ในปี 2537 โดย Sigurd Hofmann แห่ง Laboratory for Heavy Ion Research ที่เมือง Darmstadt ในประเทศเยอรมนี ธาตุจึงได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของเมืองที่นักเคมีสังเคราะห์มันได้เป็นครั้งแรก
สำหรับบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสังเคราะห์ธาตุใหม่ๆ ที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียม คือ Glenn Theodore Seaborg
Seaborg เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1912 ที่เมือง Ishpeming ในรัฐ Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของ Herman และ Selma Seaborg มีน้องสาวหนึ่งคน ในวัยเด็กSeaborg ชอบเล่นกีฬาและดูภาพยนตร์ มารดาจึงสนับสนุนให้อ่านหนังสือ และสร้างนิสัยให้รู้จักเก็บวารสารตั้งแต่มีอายุ 8 ขวบ เพื่อจะได้นำมาอ่านและเขียนข้อมูลให้อยู่ในความทรงจำตลอดไป Seaborg ได้เข้าเรียนชั้นมัธยมที่ Jordan High School ในเมือง Watts และสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนยอดเยี่ยม จากนั้นได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Ohio State และได้รับปริญญาตรีเมื่ออายุ 22 ขณะเรียนที่นั่น ศาสตราจารย์ที่สอนภาษาเยอรมันได้เชิญให้ Seaborg มาพบ Albert Einstein ประสบการณ์การพบครั้งนั้นประทับใจ Seaborg มากเมื่อได้เห็นความอ่อนน้อมถ่อมตน และการให้กำลังใจแก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของ Einstein และ Seaborg ก็ได้นำประสบการณ์นี้มาใช้ในการฝึกนิสิตที่ตนสอนในเวลาต่อมา ในช่วงเวลาที่เรียนมหาวิทยาลัย Seaborg ได้ทำงานหาเงินด้วย โดยการรับจ้างเก็บผลไม้ และเป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการเคมี
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี Seaborg ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley และสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตเมื่ออายุ 25 ปี ด้วยวิทยานิพนธ์ เรื่อง การกระเจิงของนิวตรอนแบบไม่ยืดหยุ่น โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ Gilbert Newton Lewis จากนั้นได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley นั่นเอง
ในปี 1941 Phil Abelson และ Edwin McMillian ได้พบธาตุ neptunium 93 ที่มีมวลมากกว่า uranium 92 เพราะธาตุใหม่นี้ปล่อยรังสีเบตาออกมา โดยมีครึ่งชีวิตที่สั้นมาก Seaborg จึงวิเคราะห์เหตุการณ์นี้แล้วเสนอความเห็นว่า ธรรมชาติจะต้องมีธาตุใหม่ที่มีมวลมากกว่า neptunium และมีครึ่งชีวิตที่นาน ซึ่งธาตุใหม่นี้อาจเกิดเมื่อนิวเคลียสของ uranium ถูกระดมยิงด้วยนิวตรอน และเมื่อนิวเคลียสของ uranium รับนิวตรอนเข้าไป 2 ตัว แล้วนิวตรอนทั้ง 2 ตัวนี้ สลายตัวให้โปรตอน 2 ตัว กับ อิเล็กตรอน 2 ตัว และแอนตินิวตริโน 2 ตัว นิวเคลียสของธาตุใหม่จึงมีโปรตอนเพิ่มขึ้น 2 ตัว นั่นคือ ยูเรเนียม 92 ก็จะเป็น plutonium 94
เพื่อทดสอบการวิเคราะห์นี้ Seaborg ได้ขอใช้แหล่งกำเนิดนิวตรอนจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ Hanford ในรัฐ Washington เพื่อระดมยิงยูเรเนียม ในที่สุดก็ได้พบธาตุใหม่คือ plutonium ซึ่งมีสมบัติเชิงเคมีแตกต่างจาก uranium มาก จนทำให้สามารถสกัดแยก Pu จาก 238U ได้ง่ายกว่าการแยก 235U จาก 238U
แต่ความประเสริฐของ plutonium ยิ่งกว่านั้นอยู่ตรงที่ว่า เมื่อนิวเคลียสของ plutonium ได้รับนิวตรอนจะเกิดปฏิกิริยา fission ในทำนองเดียวกับ 235U และปลดปล่อยพลังงานปรมาณู
Seaborg จึงต้องพยายามผลิตธาตุ plutonium ให้มากที่สุดเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการสร้างระเบิดปรมาณู ทั้งๆ ที่มันเป็นธาตุที่ไม่มีใครรู้จัก (ในขณะนั้น) และไม่มีใครรู้คุณสมบัติเคมีของมันเลย
โครงการ plutonium ได้รับอนุมัติจากประธานาธิบดีสหรัฐให้ดำเนินการจนสำเร็จ ทำให้กองทัพสหรัฐฯ มีระเบิดปรมาณู 2 ลูก คือ ที่ทำด้วย uranium และ plutonium เพื่อใช้ยุติสงครามโลกครั้งที่สอง และกองทัพได้นำออกใช้คราวละลูก เพื่อให้ญี่ปุ่นเข้าใจว่าสหรัฐฯ มีระเบิดปรมาณูหลายลูก โดยให้ระเบิดปรมาณูที่ทำด้วย uranium ทำลายเมือง Hiroshima และระเบิดปรมาณูที่ทำด้วย plutonium ทำลายเมือง Nagasaki
ดังนั้น Seaborg จึงเป็นบุคคลสำคัญที่ได้สร้างระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่สอง และห้ามมิให้ประเทศใดฮึกเหิมจะเริ่มทำสงครามโลกครั้งที่สาม
นอกจากผลงานชิ้นนี้แล้ว Seaborg ก็ยังได้สร้างธาตุใหม่ๆ อีกมากมาย เช่น ใช้อนุภาคนิวตรอนยิง plutonium ได้ธาตุ americium และใช้ไอออนฮีเลียมจากเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron ที่ Berkeley ยิง plutonium ได้ธาตุ curium ซึ่งธาตุเหล่านี้ล้วนเป็นธาตุที่มีมวลมากกว่า uranium ทั้งสิ้น เช่น plutonium 94, americium 95, curium 96, californium 98, einsteinium 99, fermium 100, mendelevium101, nobelium 102, seaborgium 106 และ darmstadium 110
Seaborg ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับ E.M. McMillian จากการสร้างธาตุที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียม (transuranic element)
ได้รับ National Medal of Science
ได้รับรางวัล Nichols, Gibbs และ Parsons ของ American Chemical Society
ได้เป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประธานาธิบดีสหรัฐ 3 ท่าน
เป็นผู้อำนวยการขององค์การ Atomic Energy Commission 10 ปี
เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย California
มีครอบครัวที่มีลูก 6 คน
มีผลงานวิชาการตีพิมพ์กว่า 500 เรื่อง
เรียบเรียงหนังสือ 16 เล่ม
ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 50 ปริญญา
ชื่อได้รับการใช้เป็นชื่อของธาตุที่ 106 ว่า seaborgium
Seaborg เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1999 ที่เมือง Lafayette ในรัฐ California สิริอายุ 86 ปี
หลังจากที่ Seaborg เสียชีวิตไปแล้ว การขยายตารางธาตุก็ยังดำเนินต่อไป เพราะเทคโนโลยีการสังเคราะห์ธาตุใหม่เป็นระดับซุปเปอร์ไฮ ดังนั้นโลกจึงมีห้องปฏิบัติการสำหรับเรื่องนี้เพียงไม่กี่แห่ง ได้แก่
1. Institute for Heavy Ion Research ที่ Darmstadt ในเยอรมนี หรือที่เรียกย่อๆ ว่า GSI
2. Joint Institute for Nuclear Research ที่ Dubna ในรัสเซีย
3. Lawrence Berkeley National Laboratory ที่มหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley ในสหรัฐอเมริกา
และ 4. RIKEN Accelerator Laboratory ใกล้กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โดยทั่วไป ในการสร้างธาตุที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียมนั้น นักวิทยาศาสตร์จะใช้วิธียิงกระสุนซึ่งเป็นนิวเคลียสของธาตุเบา ให้พุ่งชนนิวเคลียสของธาตุหนัก ด้วยความเร็วที่พอเหมาะ เพราะถ้ากระสุนมีความเร็วมากเกินไป นิวเคลียสที่เป็นเป้าจะถูกชนจนแตกกระจัดกระจาย แต่ถ้ากระสุนที่ใช้ยิงมีความเร็วน้อยเกินไป นิวเคลียสที่เป็นเป้าและที่เป็นกระสุนก็จะมีแรงไฟฟ้าผลักกัน ทำให้นิวเคลียสสองนิวเคลียสมิสามารถหลอมรวมเป็นนิวเคลียสหนักได้ ทั้งนี้เพราะนิวเคลียสทั้งสองต่างก็มีโปรตอนที่มีประจุบวกเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแรงผลักทางไฟฟ้ากันค่อนข้างมาก
การหาพลังงานที่เหมาะสมของกระสุนเพื่อให้หลอมรวมกับนิวเคลียสเป้าเป็นนิวเคลียสใหม่ เป็นเรื่องยุ่งยากเรื่องหนึ่งในการสร้างธาตุใหม่ เพราะยังมีความยุ่งยากอีกหลายประเด็น เช่น นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าจากจำนวนนิวเคลียสกระสุนที่ใช้ยิงจำนวนนับล้านล้านล้านตัวนั้น จะมีนิวเคลียสกระสุนเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่หลอมรวมกับนิวเคลียสเป้าได้สำเร็จ นอกจากนี้นิวเคลียสของธาตุใหม่ที่เกิดขึ้นก็ยังสลายตัวเร็วมากด้วย ดังนั้นเทคโนโลยีการตรวจจับผลิตผลที่ได้ จึงต้องว่องไว ละเอียดและรอบคอบอย่างสุดๆ
ดังการสังเคราะห์ธาตุ rutherfordium 112 ซึ่งในปี 1991 สถาบัน GSI ได้ใช้นิวเคลียสของสังกะสี Zn ธาตุที่ 30 เป็นกระสุนจำนวน 5 ล้านล้านล้านตัว ยิงนิวเคลียสตะกั่ว Pb ธาตุที่ 82 กระสุนสังกะสีที่มีความเร็ว 112 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้พุ่งชนนิวเคลียสตะกั่วที่เป็นเป้า ทำให้เกิดนิวเคลียสของธาตุที่ 112 จำนวน 2 ตัว ซึ่งมีชีวิตอยู่ได้นานเพียง 0.0028 วินาทีเท่านั้นเอง
การทดลองสร้างธาตุใหม่ในอดีตที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า เมื่อนิวเคลียสของธาตุมีจำนวนโปรตอนเพิ่มขึ้น (นักวิทยาศาสตร์เรียกจำนวนโปรตอนในนิวเคลียสว่า เลขเชิงอะตอม ดังนั้นในกรณี Ds ซึ่งมีโปรตอน 110 ตัวในนิวเคลียส เลขเชิงอะตอมของ Ds จึงเท่ากับ 110) ธาตุที่มีมวลมากขึ้นๆ จะมีชีวิตสั้นลงๆ ยกตัวอย่างเช่น ธาตุ Hs hassium 108 มีชีวิต 1 วินาที และธาตุ Rg rontgenium 111 ซึ่งมีมวลมากกว่า Hs จะมีชีวิตยืนนานเพียง 0.0015 วินาที เท่านั้นเอง
ถึงกระนั้นทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ก็ได้ทำนายว่า ธรรมชาติจะมีธาตุ X ที่นิวเคลียสของมันมีโปรตอน 114 ตัว และนิวตรอน 184 ตัวซึ่งจะเป็นธาตุที่เสถียรมาก คือ มีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 ล้านปี ซึ่งจะนานพอสำหรับการนำไปทำระเบิดชนิดใหม่ หรือประดิษฐ์วัสดุชนิดใหม่หรือเป็นแหล่งพลังงานใหม่ และถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้น นักเคมีในอนาคตจะต้องพยายามสร้างธาตุที่ 126 ขึ้นมา ซึ่งนักทฤษฎีนิวเคลียร์ได้ทำนายไว้แล้วว่าจะเสถียรกว่าธาตุที่ 114 เสียอีก
ในวารสาร Physical Review C ฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2004 Y. Oganessian แห่ง Joint Institute for Nuclear Research ที่เมือง Dubna ในรัสเซีย กับคณะนักวิทยาศาสตร์แห่ง Lawrence Berkeley National Laboratory ได้รายงานความสำเร็จในการสังเคราะห์ธาตุใหม่ 2 ธาตุ คือ ธาตุที่ 113 กับ 115 โดยได้ใช้นิวเคลียสของแคลเซียม (Ca) ซึ่งมีโปรตอน 20 ตัว และนิวตรอน 28 ตัว เป็นกระสุน ที่มีพลังงาน 248 Mev (Mev มาจากคำว่า million electron volt) ยิงนิวเคลียสของธาตุ americium (Am) ซึ่งมีโปรตอน 95 ตัว และนิวตรอน 148 ตัว ทำให้ได้นิวเคลียสของธาตุที่ 115 (115=20+95) 4 นิวเคลียส แต่นิวเคลียสนี้ได้สลายตัวให้ธาตุที่ 113 ภายในเวลา 0.083 วินาที โดยการปล่อยอนุภาคอัลฟาออกมา สำหรับเหตุการณ์นี้ ถ้า International Union of Pure and Applied Chemistry หรือ IUPAC เห็นพ้อง Yuri Oganessian ก็มีสิทธิ์ตั้งชื่อธาตุใหม่ที่เขากับคณะพบโดยอาจใช้ชื่อของนักเคมี นักฟิสิกส์หรือห้องปฏิบัติการที่มีชื่อเสียงก็ได้
ส่วนการตรวจสอบที่ว่า คณะนักวิจัยสามารถสังเคราะห์ธาตุที่ 115 และ 113 ได้หรือไม่นั้น IUPAC ต้องให้ห้องปฏิบัติการอื่นอีกหนึ่งหรือสองแห่งทำการทดลองเดียวกันนี้ใหม่เพื่อยืนยันว่าธาตุที่ 115 และ 113 มีสมบัติต่างๆ เหมือนดังที่คณะวิจัยภายใต้การนำของ Oganessian วัดได้จริง เช่น มีมวลหรือมีชีวิตอยู่ได้นานเท่ากัน แต่ถ้าผลการทดลองทั้งหลายแตกต่างกัน IUPAC ก็จะต้องให้คณะนักวิทยาศาสตร์อีกฝ่ายที่ 3 เป็นคนประเมินว่า ผลการทดลองของฝ่ายใดถูกต้อง และถ้าพบว่าคณะวิจัยใดโกงข้อมูลหรือสร้างหลักฐานปลอมเพื่อจะได้อ้างว่าพบธาตุใหม่ คณะนักวิจัยนั้นก็อาจถูกอัปเปหิออกจากวงการ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อนที่ Victor Ninov อ้างว่าคณะวิจัยของเขาสามารถสังเคราะห์ธาตุที่ 118 ได้ แต่การตรวจสอบในเวลาต่อมาทำให้โลกรู้ว่า Ninov ให้ข้อมูลเท็จ เขาจึงถูกไล่ออกจากสถาบันวิจัยทันที
ในขณะที่นักทดลองกำลังมุ่งมั่นจะสร้างธาตุใหม่ นักฟิสิกส์ทฤษฎีก็กำลังใช้ทฤษฎีควอนตัมคำนวณว่าธาตุใหม่ๆ จะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง เช่น ในกรณีการสร้างนิวเคลียสของธาตุที่มีโปรตอนและนิวตรอนรวมกันมากกว่า 220 อนุภาค นักวิทยาศาสตร์สมควรใช้นิวเคลียสของธาตุใดเป็นเป้าและเป็นกระสุน เพราะปฏิกิริยานิวเคลียร์ดังต่อไปนี้ต่างก็ให้ธาตุที่มีจำนวนโปรตอนและนิวตรอนรวมกันเป็น Th เช่น O + Pb หรือ Ar + Hf หรือ Ca + Yb หรือ Se + Ba
ในปี 2002 D.J. Hinde กับคณะได้รายงานในวารสาร Physical Review Letters ฉบับที่ 89 ว่า ถ้านักทดลองใช้นิวเคลียสเป้ากับนิวเคลียสกระสุนที่มีขนาดแตกต่างกันมาก เช่น 16O กับ 204Pb การหลอมรวมเป็นธาตุใหม่จะเกิดขึ้นง่ายกว่าการใช้ 82Se กับ 138Ba เพราะถ้ากระสุนและเป้ามีขนาดแตกต่างกันมาก เป้าใหญ่จะสามารถกลืนกระสุนเล็กได้ดี แต่ถ้านิวเคลียสคู่กรณีมีขนาดไล่เลี่ยกัน การรวมนิวเคลียสจะเกิดขึ้นยาก
ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังประสบความสำเร็จในการสร้างธาตุใหม่อยู่เรื่อยๆ ทำให้ตารางธาตุ (periodic table) ที่ D. Mendeleev สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1869 เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่โครงสร้างหลักๆ ของตารางก็ยังไม่เปลี่ยน และยังเป็นเสาหลักให้นักเคมียึดใช้ต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน ความสำเร็จในการสร้างธาตุของนักวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีอีกมาก เช่น เราไม่รู้ว่ามนุษย์จะธาตุใหม่ได้อีกกี่ธาตุ ตารางธาตุมีขนาดจำกัดหรือไม่ และสมบัติของธาตุใหม่ ในอนาคตจะทำให้ทฤษฎีควอนตัมที่เป็นสรณะของนักฟิสิกส์ทุกวันนี้ผิดพลาดเมื่อใด
เหล่านี้คือปริศนาที่ต้องการเวลาและความมุ่งมั่นในการพิสูจน์แนวคิดของ Seaborg ครับ
*********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
*********
สำหรับผู้สนใจต่อยอดความรู้ หนังสือ "สุดยอดนักผจญภัย" โดย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน มีวางจำหน่ายแล้วในราคาเล่มละ 250 บาท