หลังเหตุแผ่นดินที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ภูเก็ต หลายคนอาจเชื่อมโยง ว่า เป็นผลจากแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกาะสุมาตรา แต่นักธรณีมหิดลกล่าวว่า ยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้ชัดเจน พร้อมระบุ ประเทศไทยมี 15 แนวรอยเลื่อนมีพลังที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน แต่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเหตุการณ์เช่นนี้ให้ได้ และอย่าตื่นตระหนก
เมื่อวันที่ 16 เม.ย.55 ที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นับเป็นแผ่นดินไหวใหญ่ที่มีศูนย์กลางอยู่ในเมืองไทย ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยนั้นมีแนวรอยเลื่อนมีพลังถึง 15 รอยเลื่อน
รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ นักธรณีฟิสิกส์และหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลังถึง 15 รอยเลื่อน โดยส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ทางซีกตะวันตกของประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาคใต้ และรอยเลื่อนเหล่านี้ก็มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหว เช่น ที่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต แต่ยังไม่พบว่ามีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านตัวเมืองใหญ่ หากมีบริเวณพาดผ่านพื้นที่ชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่
นักธรณีฟิสิกส์จากมหิดล ระบุว่า รอยเลื่อนมีพลังในไทยส่วนใหญ่เป็นรอยเลื่อนแนวระนาบ หรือรอยเลื่อนผ่านกันในแนวระนาบ และมีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 11 เม.ย.55 และที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลที่มีการบันทึกกันนั้นประเทศไทยเคยมีแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดขนาด 5.9 ที่ จ.กาญจนบุรี และเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเมืองไทยเมื่อหลายพันปีก่อน แต่ไม่สามารถวัดได้ด้วยเครื่องมือ เนื่องจากมีเพียงร่องรอยทางธรณีวิทยา ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
สำหรับ จ.ภูเก็ต นั้น รศ.ดร.วีระชัย กล่าวว่า มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวตลอดเวลาอยู่แล้ว และมีโอกาสไหวอีก โดยครั้งนี้เกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งถือว่าใหญ่พอสมควร แต่จากนี้ก็จะเกิดแผ่นดินไหวตามมา หรืออาฟเตอร์ช็อกขนาดเล็กกว่า ส่วนโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่านั้น เป็นไปได้แต่มีโอกาสน้อย ซึ่งคนในพื้นที่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเหตุการณ์เช่นนี้ให้ได้
“ไม่อยากให้ตื่นตระหนก เพราะแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และไม่อยากให้ผูกโยง ว่า เพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ จึงเกิดแผ่นดินไหวนี้ขึ้น แต่เราตั้งสมมติฐานได้ว่าเป็นไปได้ที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะในทางวิทยาศาสตร์เราต้องศึกษาให้ชัดเจนก่อนจะสรุปเช่นนั้น” รศ.ดร.วีระชัย กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีระบุรอยเลื่อนมีพลัง 15 รอยเลื่อน ได้แก่
1.รอยเลื่อนแม่จัน
2.รอยเลื่อนแม่อิง
3.รอยเลื่อนปัว
4.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน
5.รอยเลื่อนแม่ทา
6.รอยเลื่อนพะเยา
7.รอยเลื่อนแม่ยม
8.รอยเลื่อนเถิน
9.รอยเลือนอุตรดิตถ์
10.รอยเลื่อนท่าแขก
11.รอยเลื่อนแม่เมย
12.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
13.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
14.รอยเลื่อนระนอง
15.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย