กะโหลกมนุษย์โบราณที่จีนขุดพบตั้งแต่ 30 ปีก่อน มีลักษณะพิเศษมากพอจะทำให้เชื่อว่าเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ ที่วิวัฒนาการควบคู่กับมนุษย์ยุคปัจจุบัน หวังเพิ่มความรู้บรรพบุรุษเราหลังอพยพจากแอฟริกาสู่เอเชีย แต่ยังต้องรอสกัดดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ที่มาและสมมติฐานนี้
หลายปีมานี้ นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการได้คาดการณ์ว่า มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่จะค้นพบนั้น ส่วนใหญ่น่าจะมีร่องรอยและต้นกำเนิดจากแถบทวีปเอเชีย และผลการวิเคราะห์ล่าสุดจากฟอสซิลกระดูกที่ค้นพบทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทำให้ยืนยันถึงความเป็นไปได้ของคำทำนายดังกล่าว
นิตยสารนิวไซแอนทิสต์และไลฟ์ไซน์ได้รายงานบทความวิจัยจากวารสารพีเอลโอเอส วัน (PloS ONE : Public Library of Science) ที่ตีพิมพ์ภาพหัวกะโหลกที่ขุดค้นได้เมื่อปี 1979 ที่ถ้ำหลงหลิน ในเขตปกครองตนเองกว๋างสี (Longlin Cave, Guangxi) ว่าในที่สุดทีมวิจัยก็วิเคราะห์ข้อมูลเป็นผลสำเร็จ เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีลักษณะจำเพาะทางด้านกายวิภาคไม่เหมือนกับมนุษย์สายพันธุ์อื่นที่ค้นพบ
โครงสร้างกะโหลกไม่เหมือนใคร
ดาร์เรน เคอร์นู (Darren Curnoe) นักมานุษยบรรพกาลวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยนิว เซาธ์เวลส์ ในออสเตรเลีย (University of New South Wales in Sydney, Australia) ผู้ศึกษากะโหลกดังกล่าว สรุปเบื้องต้นว่า โครงกระดูกไม่เหมือนกับมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ ในผังวิวัฒนาการ กะโหลกที่พบไม่ได้พบเห็นทั่วไปในบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคปัจจุบันในหลายหมื่นปีก่อน
กะโหลกนั้น มีเนื้อกระดูกที่หนา มีคิ้วโปนเป็นขอบหนาชัดเจน โครงหน้าที่แบนสั้น และส่วนปากแบนไม่มีคางเหมือนมนุษย์ทั่วไป แต่ส่วนของสมอง อยู่ในส่วนหน้าคล้ายกับบรรพบุรุษมนุษย์ยุคปัจจุบัน
อีกทั้ง ยี่ ซือผิง (Ji Xueping) แห่งมหาวิทยาลัยยูนนาน (Yunnan University, China) ได้พบหลักฐานเพิ่มเติม เป็นฟอสซิลคล้ายมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่แหล่งขุดค้นแห่งที่ 2 ในเหมืองถ้ำหินปูน จังหวัดยูนนาน (in Yunnan Province) อีก 3 ตัวอย่างด้วยกัน ตั้งแต่ปี 1989 และ ทีมวิจัยของเคอร์นูเพิ่งจะได้เข้าไปศึกษาร่วมกันเมื่อปี 2008
เคอร์นูได้เรียกฟอสซิลในชุดเดียวกันที่ค้นว่า มนุษย์ถ้ำกวางแดง (Red Deer Cave) หรือ ถ้ำหม่าหลู (Malu cave) เพราะคาดว่ามนุษย์โบราณกลุ่มนี้น่าจะชอบเนื้อกวาง เนื้อจากหลักฐานการขุดค้นพบร่องรอยการนำกวางตัวใหญ่มาประกอบอาหารภายในถ้ำหม่าหลู
อีกทั้ง เมื่อคำณวนอายุด้วยไอโซโทปคาร์บอน (Carbon dating) กับถ่านหินที่ค้นพบในบริเวณใกล้เคียงก็พบว่ามีอายุไล่เลี่ยกับฟอสซิลที่ค้นพบ ทำให้เชื่อว่า มนุษย์กลุ่มนี้รู้จักการใช้ไฟ และยังพบว่า สามารถสร้างเครื่องมือเองได้ด้วย
อายุไล่เลี่ยกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี หากจะนำมนุษย์ถ้ำกวางแดงเข้าร่วมพงศาวลีบรรพบุรุษมนุษย์เราก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งเคอร์นูเผยว่า มนุษย์กลุ่มนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับมนุษย์เรา (Homo sapiens) ในช่วงแรกที่มีวิวัฒนาการในแอฟริกาเมื่อราว 200,000 ปีก่อน และจากนั้นก็อพยพกระจายตัวข้ามทวีปเอเชียมาที่จีน ซึ่งเคอร์นูเชื่อในแนวคิดนี้ เพราะมนุษย์ที่ค้นพบมีสายวิวัฒนาการใหม่ ซึ่งเกิดในเอเชียตะวันออก ขนานไปกับสายพันธุ์ของมนุษย์เรา เช่นเดียวกับนีอันเดอร์ทัล (Neanderthal)
ที่เชื่อเช่นนั้น เพราะในเบื้องต้นมนุษย์ถ้ำกวางแดงนี้มีลักษณะที่ต่างจากมนุษย์ยุคแรกในแอฟริกา ซึ่งเป็นต้นตระกูลของมนุษย์ยุคปัจจุบัน
ทางด้านคริส สตริงเกอร์ (Chris Stringer) แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในลอนดอน (Natural History Museum in London) ชี้ว่า มนุษย์ที่ทีมของเคอร์นูค้นพบนี้ อาจเกี่ยวข้องกับมนุษย์ถ้ำเดนิโซวาน (Denisovan people) ที่ถ้ำในไซบีเรีย ซึ่งขุดพบกระดูกนิ้วและฟัน อายุประมาณ 30,000 - 50,000 ปี โดยหลักฐานที่มั่นใจว่ามนุษย์เดนิโซวานอยู่ในเอเชียตะวันออกนั้น ก็เพราะการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ พบว่ามีการผสมพันธุ์กันกับบรรพบุรุษของมนุษย์ ซึ่งสตริงเกอร์ก็เชื่อว่า มนุษย์ถ้ำกวางแดงน่าจะเป็นผลิตผลของการผสมระหว่างเผ่าพันธุ์
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยยังสรุปชัดไม่ได้ว่า มนุษย์ถ้ำกวางแดงมีต้นถิ่นฐานมาจากทางใด แต่ก็มีหลักฐานมากพอจะชี้ว่ามนุษย์กลุ่มนี้ยังอยู่บนโลกเมื่อไม่นานมานี้ ผ่านซากฟอสซิลอายุ 11,500 ปี ซึ่งอาจจะถือได้วาเป็นมนุษย์โบราณที่มีชีวิตรอดมาพอๆ กับมนุษย์ยุคปัจจุบัน
หวังเปิดข้อมูลบรรพบุรุษอพยพสู่เอเชีย
ทว่า ไมเคิล เพทราเกลีย (Michael Petraglia) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) อธิบายเพิ่มเติมว่า ยังมีโครงกระดูกมนุษย์อายุน้อยกว่านั้น คือประมาณ 8,000 ปี ที่เอเชียใต้และอินเดีย ซ้ำยังมีลักษณะผิดแปลกไปจากมนุษย์ยุคโบราณ
แม้ว่า ในปัจจุบันประชากรครึ่งหนึ่งของโลกได้อยู่ในทวีปเอเชีย แต่นักวิจัยก็มีความรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับมนุษย์ในแถบนี้ หลังจากบรรพบุรุษของเราอพยพมาตั้งรกรากที่ยูเรเซีย (แผ่นดินทวีปยุโรปและเอเชีย) เมื่อ 70,000 ปีก่อน ซึ่งเคอร์นูเปิดเผยว่า ยังม่พบฟอสซิลมนุษย์อายุน้อยกว่า 100,000 ปีในแถบนี้ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน
การค้นพบมนุษย์ถ้ำกวางแดงนี้ อาจจะช่วยเชื่อมโยงถึงหลักฐานที่ขาดหายไปในวิวัฒนาการของเพื่อนร่วมโลกกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน ซึ่งเคอร์นูเชื่อว่า จะเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์การค้นคว้ามนุษย์ยุคใหม่ในแถบเอเชีย
สำหรับขั้นต่อไปของทีมวิจัยคือ วิเคราะห์ดีเอ็นเอที่สกัดมาจากกระดูกของมนุษย์ถ้ำกวางแดง ซึ่งเคอร์นูคาดว่าน่าจะบอกเล่าประวัติที่มาของพวกเขาได้มากขึ้น ทั้งเส้นทางวิวัฒนาการ หรือมนุษย์เหล่านี้เป็นผลของการผสมข้ามพันธุ์อย่างที่สงสัย และแน่นอนว่า เคอร์นูก็หวังจะให้มนุษย์ถ้ำกวางแดงกลายเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการค้น ตามสมมติฐานของเขา
ทั้งนี้ ที่ขั้นตอนการวิจัยล่าช้าขนาดนี้ก็เพราะ ทีมงานได้พยายามสกัดดีเอ็นเอที่ไม่ปนเปื้อนจากฟอสซิลที่ค้นพบ แต่ก็ล้มเหลว ซึ่งตอนนี้พวกเขาได้พยายามเดินหน้าสกัดดีเอ็นเอ และหวังว่าจะทำสำเร็จได้ในไม่ช้า