xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สร้างอวตารดำเดี่ยว สร้างสถิติสำรวจจุดลึกสุดโลก "ชาเลนเจอร์ ดีป"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจมส์ คาเมรอน ผู้สร้างภาพยนตร์ระดับโลก กำลังอยู่ในเรือดำน้ำ “ดีปซี ชาเลนเจอร์” ที่พร้อมลุยเดี่ยวสำรวจจุดลึกที่สุดในโลก หลังการทดสอบเรือดำน้ำขั้นสุดท้ายสำเร็จ (National Geographic)
“คาเมรอน” ที่นอกจากจะฝากชื่อในฐานะผู้สร้างหนังอันโด่งดังระดับโลกแล้ว ตอนนี้เขาได้สร้างสถิติดำเดี่ยวลงสู่จุดที่ลึกสุดในโลก เก็บตัวอย่าง บันทึกภาพยนตร์ 3 มิติกลับคืนให้งานวิทยาศาสตร์

หลังเตรียมการมานานกว่า 7 ปี เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้สร้างภาพยนตร์ชื่อดัง ได้ฉายเดี่ยวดำดิ่งลงสำรวจจุดที่ลึกที่สุดของโลก และกลับสู่ผิวน้ำอย่างปลอดภัย เมื่อเวลา 7.00 น.ของวันที่ 26 มี.ค.55 ตามเวลาประเทศไทย

ทั้งนี้ คณะสำรวจของเนชันแนลจีโอกราฟิก และทีมงานของคาเมรอนได้ปล่อยอุปกรณ์ลงในเรือ 2 ลำเมื่อเช้าวันที่ 25 มี.ค.55 บริเวณพื้นทะเลเหนือมาเรียนา เทรนช์ (Mariana Trench) และเมื่อคลื่นลมทะเลสงบ ทีมงานก็ส่งคาเมรอนดำสู่ชาเลนเจอร์ ดีป (Challenger Deep) ลึกลงไปจากผิวน้ำ 10,898 เมตร จุดลึกสุดของโลกในทันที

ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา คาเมรอนกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ดำเดี่ยว ลงสู่หุบเหวในมหาสมุทรแปซิฟิก และใช้เวลาหลายชั่วโมงเก็บตัวอย่างต่างๆ ที่ก้นมหาสมุทรเพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว

ก่อนความสำเร็จจะเกิดขึ้น ทีมงานของเขาได้ทดสอบเรือดำน้ำอยู่หลายครั้ง จนล่าสุดไม่กี่วันก่อนการลงมือดำจริง เรือดำน้ำที่หน้าตาเหมือนตอร์ปิโดแนวตั้ง ไร้คนขับ ได้ทดลองดำน้ำดิ่งลึกลงไป 11 กิโลเมตร ถึงชาเลนเจอร์ ดีป และกลับมาได้โดยไม่เกิดความเสียหาย

“พวกเราทดสอบการปล่อยตัวเรือและกู้กลับ และยังทดสอบระบบการขับเคลื่อนแบบไร้มนุษย์ในเรือ” คำบอกเล่าของผู้สร้างภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง อวตาร,ไททานิก และ ดิ เอบิสส์

เมื่อสัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มทดสอบการดำน้ำครั้งนี้ ดอน วาลช์ ทหารเรือเกษียณชาวสหรัฐฯ ผู้เคยเดินทางถึงชาเลนเจอร์ ดีป ได้แจ้งผ่านอีเมลว่า ทีมและเรือแม่ต่างพร้อมเดินทางแล้ว รอเพียงแค่สภาพอากาศที่เอื้ออำนวย

ตั้งแต่ปึ 1960 วาลช์ และฌาร์ค ปิกการ์ด วิศวกรชาวสวิส เป็นมนุษย์เพียง 2 คนที่ได้สัมผัสจุดลึกที่สุดในโลก ด้วยเรือดำน้ำ “ตรีเอสเต” (Trieste) ที่ปิกการ์ดและบิดาประดิษฐ์ขึ้น และคาเมรอนหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นมนุษย์คนที่ 3 ที่จะได้ไปถึงบ้างในเร็วๆ นี้ และยังเป็นการ ”ฉายเดี่ยว” อีกด้วย

อย่างไรก็ดี คาเมรอนได้ชิมลาง บันทึกสถิติบังคับเรือดำน้ำคนเดียวได้ลึกที่สุดไปแล้ว ระหว่างการทดสอบเครื่องเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังจะสู่จุดที่ลึกที่สุดจริงๆ

คาเมรอนต้องนำตัวลงไปอยู่ในห้องโดยสารแคบๆ เหมือนกับแคปซูลในยานอพอลโล และเมื่อถึงระดับน้ำลึก เขาได้เก็บข้อมูล, ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตและวัตถุต่างๆ จากนั้นก็พุ่งกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ทีมงานที่รออยู่ก็จะนำคาเมรอนกลับสู่เมอร์เมด (Mermaid) แซปไฟร์ (Sapphire) และบาราคูดา (Barakuda) เรือวิจัยหลัก

จากนั้น ทีมงานที่รออยู่ก็จะนำคาเมรอนกลับสู่เมอร์เมด (Mermaid) แซฟไฟร์ (Sapphire) และบาราคูดา (Barakuda) เรือวิจัยหลัก

เตรียมร่างกายมาหลายปี

แม้ว่า การดำดิ่งลงใต้ทะเลกับภาวะสุดขั้ว และการต้องลงไปสำรวจเพียงผู้เดียว ก็ไม่ได้สร้างความกังวลให้กับ โจ แมคอินนิส (Joe MacInnis) แพทย์คนสนิทของผู้กำกับหนังชื่อดัง เพราะคาเมรอนมีร่างกายที่แข็งแรง นพ.แมคอินนิส ถึงกับเทียบว่า คาเมรอนเหมือนกับนักบินอวกาศในโครงการเมอร์คิวรี (Mercury) ที่ต้องอยู่ในแคปซูลเพียงคนดียว และระยะเวลาที่ใช้ก็ถือว่าไม่มากเกินไป

เพื่อจะดำดิ่งสู่ชาเลนเจอร์ ดีป คาเมรอนได้เตรียมร่างกายด้วยการวิ่งวันละหลายกิโลเมตร ฝึกโยคะเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกาย และกระตุ้นร่างกายในสภาพน้ำทะเลลึก ซึ่งแพทย์ประจำตัวของเขาบอกว่า คาเมรอนเตรียมการมานานแล้วหลายปี

แอนดี โบเวน (Andy Bowen) ผู้จัดการโครงการ และผู้พัฒนาเนเรอัส (Nereus) ยานพาหนะควบคุมทางไกลเพื่อสำรวจชาเลนเจอร์ ดีป ในปี 2009 บอกว่า การเตรียมตัวนื้นคุ้มค่า เพราะการดำสำรวจมาเรียนา เทรนช์นั้น นับเป็นก้าวที่สำคัญของมนุษย์ที่จะทำความรู้จักกับมหาสมุทร

ลงสู่จุดนัดพบ ชาเลนเจอร์ ดีป

ก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมงในการเข้าถึงชาเลนเจอร์ ดีปนั้น ทีมงานจะส่งอุปกรณ์เหมือนตู้โทรศัพท์ลงไป เพื่อระบุตำแหน่งในเทรนช์ก่อน จากนั้นคาเมรอนจะนำเรือดำน้ำลงไปที่ตำแหน่งดังกล่าว ด้วยการค้นหาผ่านโซนาร์ ระหว่างนั้นเขาจะได้สำรวจสิ่งมีชีวิตต่างๆ

การสำรวจครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การสอดส่องพื้นทะเล แต่เขายังจะต้องไปตามเส้นทางที่ออกแบบไว้ เพื่อจะได้เห็นสภาพสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ข้อมูลกลับมาถึงมือนักธรณีวิทยา

ด้วยพลังงานอันจำกัดและระยะทางที่ไกลกันมาก ทำให้เขาถูกจำกัดการติดต่อสื่อสารกับทีมงาน ได้เพียงส่งข้อความหรือพูดถึงกันนานๆ ครั้ง ซึ่งคาเมรอนก็มั่นใจว่าจะสามารถอธิบายอย่างสั้นๆ ถึงสิ่งที่เขาเห็นได้อย่างไม่ยาก

7 ปีกับเรือดำน้ำ 7 เมตร

เพื่อให้ถึงจุดนัดพบ คาเมรอนและทีมงานใช้เวลากว่า 7 ปีเพื่อจำลองว่าเรือดำน้ำที่ออกมาควรจะเป็นอย่างไร และในที่สุดก็ได้ “ดีปซี ชาเลนเจอร์” (DEEPSEA CHALLENGER) ความสูง 7 เมตรออกมา

วิศวกรจะต้องจมเรือดำน้ำนี้ในแนวตั้ง และหมุนเหมือนยิงกระสุนลงสู่ทะเล เพื่อให้พุ่งตรงไปที่มาเรียนา เทรนช์ ดีปซี ชาเลนเจอร์ลำนี้เดินทางดำดิ่งได้ 150 เมตรต่อนาที นับว่าเร็วมาก ตามความห็นของโรเบิร์ต สเติร์น (Robert Stern) นักธรณีวิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยเทกซัส ในดัลลัส (University of Texas at Dallas)

เมื่อประมาณการเดินทางคาดว่าจะใช้เวลา 90 นาทีถึงชาเลนเจอร์ ดีป ซึ่งดีปซี ชาเลนเจอร์ก็ได้รับการขนานนามว่า เป็นยานพาหนะที่ท้าทายในการขจัดปัญหาการนำมนุษย์ลงไปในพื้นที่สุดลึกได้

อีกทั้งยังได้รับการออกแบบทางวิศวกรรมให้มีประสิทธิภาพในการดำจากผิวน้ำสู่พื้นทะเล ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เท่าที่ทำได้ ซึ่งทีมของดีปซี ชาเลนเจอร์ได้ระบุว่า ยิ่งคาเมรอนดำถึงจุดนัดพบเร็วเท่าไหร่ ก็จะมีเวลาสำหรับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น

ถ่าย 3 มิติ เพื่องานวิทยาศาสตร์

เรือดำน้ำได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงต้านความดันอากาศและปกป้องคนขับได้ เพราะที่ก้นมหาสมุทรในรอยแยก จะมีไอน้ำพ่นออกมาด้วยแรงดันกว่า 8 ตัน ต่อ 1 ตารางนิ้ว (หรือ 1,125 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเซนติเมตร)

อีกทั้งยังมีช่องสำหรับเก็บตัวอย่างจากพื้นทะเล มีแขนกลดูดสิ่งมีชีวิตเล็กกลับขึ้นมาศึกษา ซึ่งคาเมรอนต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเก็บตัวอย่างด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายภาพยนตร์ 3 มิติให้แก่ฮอลลีวูดก็ได้ติดตั้งกล้องบันทึกภาพแบบ 3มิติไว้ที่เรือดำน้ำด้วย แต่ไม่ได้เพื่อใช้สำหรับสารคดี แต่เพื่อใช้งานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคาเมรอนเห็นว่า การใช้ภาพ 3 มิติ จะช่วยให้เห็นขนาดและระยะทางของวัตถุที่บันทึกได้ชัดเจนมากกว่าแบบ 2 มิติ

ค้นหาสิ่งมีชีวิต

สิ่งที่คาเมรอนจะได้เห็นที่ใต้ทะเลลึกนั้น นับว่าเป็นเรื่องน่าค้นหา เพราะทั้งการเก็บตัวอย่าง และบันทึกภาพในส่วนที่ลึกที่สุดในโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลอยู่น้อยนิด

คนทำหนังผู้รักการผจญภัยคนนี้ อาจจะได้พบกับร่องรอยเล็กๆ ของสิ่งมีชีวิต เช่น รู โพรง แนว มูล ต่างๆ ซึ่งจะมีนักสมุทรศาสตร์ชีววิทยาประจำทีม ตรวจสอบภาพจากผิวน้ำ

ถ้าน้ำใส คาเมรอนจะได้เห็นแมงกะพรุน หรือ อะมีบา, สัตว์เซลล์เดียวขนาดใหญ่ และสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีภาพบันทึกมาจากส่วนอื่นๆ ของมาเรียนาเทรนช์แล้ว

“ถ้าพวกเราโชคดี เราจะพบช่องน้ำร้อน และอาจจะได้เห็นพวกหนอนหลอด” คาเมรอนเล่า เพราะเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเขาได้ทดสอบเรือดำน้ำใกล้กับปาปัว นิวกินี ลึกลงไป 8 กิโลเมตร และกลับมาพร้อมกับภาพการค้นพบสิ่งมีชีวิตคล้ายกุ้ง

ด้วยความยาว 17 เซ็นติเมตร จึงทำให้กลายเป็นสัตว์ตระกูลแอมฟิพอดส์ (amphipod) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทีมนักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าตัวที่มองเห็นในภาพอาจมีขนาดใหญ่กว่าที่วัดได้ถึง 2 เท่า

อีกทั้ง ที่ชาเลนเจอร์ดีป ด้วยความลึกขนาด 10 กว่ากิโลเมตรนั้น แคลเซียมจะสลายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้น่าจะไม่มีสัตว์ประเภทเปลือกแข็ง ที่ต้องการแคลเซียมในการสร้างเปลือก แต่ถ้าการสำรวจครั้งนี้พบสัตว์ประเภทหอย หรือก้อนหินที่มีเปลือกหอยฝังอยู่ ก็นับว่าเหนือความคาดหมายสำหรับนักวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ดี แม้ว่าคาเมรอนจะมั่นใจในยานพาหนะดำมหาสมุทรของเขา แต่เขาก็ยังมีแผนจะพัฒนาดีปซี ชาเลนเจอร์ภาค 2 ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์ที่ทำให้สามารถถ่ายทอดภาพจากพื้นทะเลไปสู่ผู้สังเกตการณ์บนผิวน้ำให้ดูได้พร้อมๆ กันในแบบเรียลไทม์ได้ด้วย

ทั้งนี้ นักธรณีวิทยาทางทะเลหลายคน หวังว่า ดีปซี ชาเลนเจอร์ ที่เข้าไปสำรวจมาเรียนา เทรนช์ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เราหันมาสนใจ และรู้จักวิธีการเข้าไปศึกษาพื้นที่ในมหาสมุทรกันเพิ่มมากขึ้น
ดีปซี ชาเลนเจอร์ในการทดสอบครั้งสุดท้ายก่อนเดินทางจริง
ภาพจำลองสภาพใต้ท้องทะเลลึก 10 กว่ากิโลเมตร
แขนกลที่จะคอยช่วยเก็บตัวอย่างกลับขึ้นฝั่ง
ห้องควบคุมจำลองที่คาเมรอนต้องเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางจริง
ภายในแบบจำลองที่คาเมรอนต้องลงไปเตรียมตัว เหมือนห้องโดยสารจริงในเรือดำน้ำ ที่ออกแบบให้รับแรงดันจากภายนอกได้
ขณะที่กำลังใช้ความร้อนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างห้องโดยสารของเรือดำน้ำ มีช่องหน้าต่างวงกลมเล็กๆ ที่สามารถเปิดได้
ดีปซี ชาเลนเจอร์ (ขวา) เทียบกับ ตรีเอสเต เทคโนโลยีเมื่อ 50 ปีก่อน ที่พาคน 2 คนลงถึงส่วนลึกที่สุดในโลกได้ และไม่มีใครทำได้อีกเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น