xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “สงครามลิเบีย” ใกล้อวสาน สิ้นผู้นำเผด็จการ-ไม่สิ้นความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV สุดสัปาดห์ - สงครามขับไล่ผู้นำเผด็จการ มูอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบียที่ยืดเยื้อมาร่วม 6 เดือนเต็มส่อแววสิ้นสุดลงในอีกไม่ช้า เมื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกและ นาโด สามารถบุกยึดกรุงตริโปลีได้ในที่สุด ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในขุมน้ำมันแห่งนี้จะยังไม่จบลงง่ายๆ แม้กัดดาฟีจะถูกโค่นลงก็ตาม

สืบเนื่องจากกระแสปฏิวัติในโลกอาหรับที่ลุกลามเข้าไปยังลิเบียเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติที่ 1973 ประกาศใช้เขตห้ามบินเมื่อวันที่ 17 มีนาคม จากนั้นพันธมิตรตะวันตกซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ จึงอาสารับหน้าที่ถล่มกองทัพลิเบียเพื่อปกป้องพลเรือน ก่อนจะส่งมอบปฏิบัติการร่วมปกป้อง (Operation Unified Protector) ดังกล่าวให้กับ นาโต

การต่อสู้ที่ยืดเยื้อและผลัดกันแพ้ชนะระหว่างกบฎและทหารกัดดาฟีเดินมาถึงจุดชี้เป็นชี้ตายเมื่อวันเสาร์ที่ 20 ส.ค.หลังจากฝ่ายกบฏยาตราทัพเข้าประชิดกรุงตริโปลี จนเกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงบริเวณใจกลางเมือง ขณะที่กัดดาฟีก็ออกแถลงการณ์เสียงเรียกร้องให้พลเมืองลุกขึ้นปกป้องเมืองหลวง และยึดคืนเมืองต่างๆจากฝ่ายกบฏให้จงได้

อาเหม็ด จิบริล โฆษกของฝ่ายกบฏ ประกาศ “ยุทธการเมอร์เมด” (Operation Mermaid) ซึ่งเป็นการผนึกกำลังระหว่างสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ(เอ็นทีซี), กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทั้งภายในและรอบๆตริโปลี และกองกำลังนาโต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อโดดเดี่ยวกัดดาฟี และบังคับให้สละอำนาจปกครอง

วันอาทิตย์ที่ 21 ส.ค. กองกำลังกบฎเข้ายึดครองจัตุรัสกรีนใจกลางกรุงตริโปลี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระบอบกัดดาฟี พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น มาร์เทอร์ สแควร์ (Martyr Square) ซึ่งหมายถึงจัตุรัสของผู้ยอมเสียสละทนทุกข์ จากนั้นไม่นานก็ประกาศอีกครั้งว่าสามารถจับกุมบุตรชาย 2 คนของกัดดาฟี คือ ซาอิฟ อัล-อิสลาม ซึ่งถูกศาลอาญาระหว่างประเทศ(ไอซีซี)ออกหมายจับ และ โมฮัมหมัด อัล-กัดดาฟี บุตรชายคนโตของผู้นำลิเบียได้แล้ว

ประธานาธิบดี บารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่า ระบอบการปกครองของกัดดาฟีดำเนินมาถึงจุดพลิกผัน พร้อมขอร้องให้ผู้นำลิเบียยอมสละอำนาจเพื่อไม่ให้มีการเสียเลือดเนื้อมากไปกว่านี้ และให้ฝ่ายกบฎเคารพสิทธิมนุษยชน, แสดงภาวะผู้นำ และรักษาสถาบันอันสำคัญของลิเบียให้คงอยู่เพื่อเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย

วันจันทร์ที่ 22 ส.ค. ฝ่ายกบฏยังเผชิญการต้านทานอย่างหนักหน่วงจากทหารกัดดาฟีที่พยายามปกป้อง บับ อัล-อาซีซียา ฐานที่มั่นใจกลางเมืองหลวงของผู้นำลิเบีย ขณะที่ มุสซา อิบรอฮีม โฆษกรัฐบาล ก็อ้างกับสื่อมวลชนว่า มีประชาชนเสียชีวิตถึง 1,300 รายระหว่างที่กบฎบุกยึดกรุงตริโปลี ซึ่งนับเป็น “โศกนาฎกรรมขนานแท้” ขณะที่ไม่มีหน่วยงานอิสระใดๆออกมายืนยันตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และไม่มีรายงานว่าชาวเมืองออกมาต่อต้านฝ่ายกบฏมากน้อยเพียงใด

สถานีโทรทัศน์ อัลจาซีรา เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ โมฮัมหมัด อัล-กัดดาฟี บุตรชายคนโตของผู้นำลิเบียซึ่งถูกกักตัวอยู่ภายในบ้านพัก โดยเขาบอกว่าไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงหรือการปกครอง จึงไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เชื่อว่าความไร้เหตุผลและขาดวิสัยทัศน์ของรัฐบาลทำให้ลิเบียกลายเป็นดินแดนมิคสัญญี

เริ่มเกิดความสับสนด้านการข่าวขึ้นอีกครั้งในวันที่ 23 ส.ค. เมื่อ ซาอิฟ อัล-อิสลาม บุตรชายของ กัดดาฟี ปรากฏตัวต่อสาธารณชนที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงตริโปลี เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้ถูกฝ่ายกบฏจับกุมตามที่เป็นข่าว พร้อมยืนยันว่ากรุงตริโปลียังอยู่ในอำนาจของรัฐบาล ขณะที่มีข่าวรั่วไหลออกมาว่า โมฮัมหมัด อัล-กัดดาฟี ที่ถูกจับก่อนหน้านี้ ก็หนีรอดเงื้อมมือกบฎไปได้แล้วเช่นกัน

วันพุธที่ 24 ส.ค. ฝ่ายกบฏสามารถยึด บับ-อัลอาซีซียา ได้สำเร็จ และพบอาวุธหนักหลายชนิด เช่น กระสุน ปืนพก และปืนยาว ซุกซ่อนอยู่ในคลังแสง ทว่าไม่พบแม้แต่เงาของกัดดาฟีหรือบุตรชายทั้ง 2 คน ขณะที่สมาชิกสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติรายหนึ่งระบุว่า กัดดาฟีน่าจะหลบหนีออกไปจากเมืองหลวงแล้ว แม้ว่าผู้นำลิเบียยังคงออกเสียงตามสายยืนยันว่าตนยังปักหลักอยู่ในกรุงตริโปลีก็ตาม

สภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติเสนอรางวัลนำจับ 2 ล้านดินาร์ หรือราว 50 ล้านบาท ให้แก่ผู้ที่สามารถจับกุมกัดดาฟีได้ไม่ว่าเป็นหรือตาย หร้อมเสนอนิรโทษกรรมแก่บุคคลใกล้ชิดที่นำตัวเขามาให้ฝ่ายกบฎ

นักวิเคราะห์ชี้ “ความขัดแย้ง” ในลิเบียยังไม่สิ้นสุด

ขณะการปกครองอันยาวนานกว่า 4 ทศวรรษของกัดดาฟีส่อเค้าจะล่มสลายลงในไม่ช้า นักวิเคราะห์ก็ต่างทำนายความยุ่งยากจะติดตามมา เช่นการที่กบฎกลุ่มต่างๆอาจหันมาต่อสู้กันเองเพื่อชิงอำนาจเหนือกรุงตริโปลี ทั้งยังเกิดคำถามสำคัญว่า ใครที่จะมีคุณสมบัติและบารมีมากพอที่จะรวบรวมกลุ่มก๊กต่างๆในลิเบียให้เป็นหนึ่งเดียวได้

คัมรอน บุคอรี ผอ.ศูนย์ข่าวกรอง STRAFOR ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางชี้ว่า ยังไม่มีผู้นำกบฏคนใดที่เป็นที่ยอมรับสำหรับทุกฝ่าย แม้แต่ มุสตาฟา อับเดล ญาลีล ประธานสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการผู้มีใจยุติธรรม ก็ยังไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากกบฎบางพวก เนื่องจากเคยเป็นรมว.ยุติธรรมในรัฐบาลกัดดาฟีมาก่อน ซึ่งนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลลิเบียในอังกฤษรายหนึ่งให้ความเห็นว่า การคิดเล็กคิดน้อยเช่นนี้จะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายกบฏเอง

ภายในกลุ่มกบฎยังแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า เช่น ชาวอาหรับกับชนเผ่าเบอร์เบอร์ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กันอยู่แล้ว แม้ในยามต่อสู้กับทหารกัดดาฟี นักรบแต่ละกลุ่มก็ประกาศอย่างชัดเจนว่ามาทำหน้าที่ในนามของเผ่า และไม่ถือว่าตนเป็นกองกำลังของชาติลิเบีย

นอกจากนี้ กบฎแต่ละกลุ่มยังมีความคาดหวังและมุมมองต่อชาติตะวันตกที่แตกต่างกัน นักรบจากเทือกเขาภาคตะวันตกซึ่งเป็นมุสลิมสายเคร่งครัดมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโลกตะวันตก ขณะที่กลุ่มอื่นๆต้องการเปิดประเทศเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน

อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งคือการปกครองของลิเบียที่ไร้รูปแบบชัดเจน เนื่องจากกัดดาฟีปกครองประเทศในลักษณะคล้ายชนเผ่า โดยไม่มีสถาบันการเมืองใดๆที่จะเอื้ออำนวยให้ฝ่ายกบฏสามารถจัดการปกครองใหม่ได้อย่างสะดวก

ในด้านเศรษฐกิจนักวิเคราะห์ประเมินว่า อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะฟื้นกำลังการผลิตน้ำมันของลิเบียให้เทียบเท่าเมื่อครั้งบ้านเมืองยังสงบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพความเสียหายของโรงกลั่นน้ำมัน, การสร้างความเชื่อมั่นแก่บริษัทพลังงานต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ตลอดจนระยะเวลาในการประสานรอยร้าวภายในกลุ่มกบฏ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีเอกภาพและเสถียรภาพอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น