xs
xsm
sm
md
lg

ลาดกระบังพัฒนาเทคนิคใช้ “ไมโครเวฟ” รักษามะเร็งตับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย) มะเร็งที่เกิดขึ้นในตับโดยตรง (ขวา) มะเร็งที่เกิดขึ้นในตับโดยการลุกลามจากอวัยวะอื่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.- อาจารย์วิศวะ ลาดกระบังพัฒนาเทคนิครักษามะเร็งตับด้วยไมโครเวฟ ควบคู่การรักษาด้วยเคมีบำบัด ชี้โอกาสรอดชีวิตสูง ขนาดแผลหลังรักษาเล็กลง ใช้เวลารักษาสั้นลง เหมาะสำหรับบาดแผลขนาดเล็ก และเป็นครั้งแรกของไทยในการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์เช่นนี้

ดร.ภัทรพงษ์ ผาสุขกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวว่า ปัจจุบันมะเร็งตับเป็นโรคที่จะรักษาให้หายได้ยาก ส่วนมากผู้ป่วยจะเสียชีวิต ในเวลาอันรวดเร็ว อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในประเทศไทย และพบเป็นอันดับหนึ่งในเพศชาย อัตราเฉลี่ย 40.5 คนต่อประชากร 100,000 คน ในเพศหญิงเป็นอันดับ 3 หรือ 4 รองจากมะเร็งเต้านมและปากมดลูก อัตราเฉลี่ยน้อยกว่าเพศชายเกือบ3 เท่า จึงเป็นแรงบันดาลใจในการคิดค้นวิธีการที่จะช่วยรักษา โรคมะเร็งโรคที่มีสถิติผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ดร.ภัทรพงษ์ได้พัฒนาเทคนิครักษามะเร็งตับด้วยคลื่นไมโครเวฟ โดยอาศัยหลักการทางด้านเอ็มซีที (Microwave Coagulation Therapy: MCT) ควบคู่กับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งเดิมการรักษาโรคมะเร็งนั้นมีวิธีการรักษาหลายรูปแบบ แต่มีข้อเสียเรื่องผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย หากแต่การรักษาด้วยหลักการเอ็มซีทีนี้จะเหมาะสมกับแผลขนาดเล็ก ใช้เวลารักษาสั้นลงโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และขนาดแผลหลังการรักษาเล็กลง ซึ่งวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูง และนับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีงานวิจัยนวัตกรรมการแพทย์ในลักษณะเช่นนี้

ไมโครเวฟนั้นเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกับแสงสว่าง โดยอยู่ในช่วงของคลื่นวิทยุความถี่สูง (High frequency radio wave) เมื่อคลื่นมีความถี่สูงขึ้นความยาวคลื่นจะลดลง คลื่นที่มีความถี่สูงมากความยาวคลื่นจึงสั้นมาก ไมโครเวฟที่เคลื่อนที่ผ่านตัวกลาง อาจจะทะลุผ่านไป หรือเกิดการสะท้อนหรือถูกดูดกลืน วัตถุที่เป็นโลหะจะสะท้อนไมโครเวฟทั้งหมด ส่วนวัตถุที่ไม่ใช่โลหะ เช่นแก้ว หรือพลาสติก ไมโครเวฟจะเคลื่อนที่ผ่านไปได้บาง ส่วนวัตถุที่มีความชื้น เช่นร่างกายคนเราหรืออาหารจะดูดกลืนพลังงานของไมโครเวฟ ถ้าพลังงานที่ถูกดูดกลืนเอาไว้มากกว่าพลังงานที่คายออกมาอุณหภูมิก็จะสูงขึ้น

ดร.ภัทรพงษ์กล่าวถึงแนวทางในการรักษานี้ว่าจะเป็นการรักษาเฉพาะจุด โดยการใช้คลื่นไมโครเวฟส่งผ่านตัวนำแล้วเกิดความร้อนด้านปลายของตัวนำ หรือสายอากาศ ซึ่งที่อุณหภูมิที่เกินกว่า 50 องศาเซลเซียส โดยให้ความร้อนประมาณ10 นาที หรือมากกว่า เซลล์มะเร็งจะถูกทำลายโดยการนำเอาสายอากาศ “โคแอกเชียล” แบบบางที่มีขนาดเล็ก โดยมีโครงสร้างรูปแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นสายอากาศแบบสล๊อตโคแอกเชียล สร้างรูปแบบการจัดวางสายอากาศ 3 รูปแบบ โดยใช้สายอากาศ 3 ต้น เพื่อให้ขนาดการทำลายเซลล์มะเร็งมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และมีรูปร่างที่แตกต่างกัน 6 รูปแบบ คือ แบบอาร์เรย์แบบที่มีสายอากาศ 3 ต้นแบบเดียวกัน, แบบที่สายอากาศทั้ง 3 ต้นต่างกัน, แบบวางทำมุมสามเหลี่ยม ที่มีสายอากาศ 3 ต้นแบบเดียวกัน, แบบที่สายอากาศต่างกัน และสุดท้ายแบบวางสายอากาศ 3 ต้น รูป “T” โดยใช้สายอากาศทั้ง 3 ต้น เหมือนกัน และต่างกัน

เดิมการรักษาโรคมะเร็งมีหลายรูปแบบ เช่น การรักษาด้วยวิธีการฉายรังสี ซึ่งมีข้อเสียในเรื่องของการตกค้างของรังสีในการรักษา จะมีการสะสม ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเอง เนื่องจากการตกค้างของรังสีในการรักษา ตลอดจนการรักษาด้วยการให้เคมีบำบัด ซึ่งในการรักษาแบบการให้เคมี เราสามารถสังเกตจากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดว่า จะมีผลข้างเคียงสูง เช่นหลังได้รับเคมีบำบัดแล้ว ผมร่วง ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานไม่ปกติ อีกทั้งวิธีการผ่าตัด เป็นวิธีการที่มีข้อเสีย คือ ไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเสียเลือดได้ เช่นผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีปัญหาในการห้ามเลือด ดังนั้น จึงมีการรักษาโรคมะเร็งด้วยคลื่นไมโครเวฟที่เริ่มกันประมาณ 10 ปีแล้ว

ด้าน รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดี สจล. กล่าวว่านวัตกรรมการแพทย์กำลังเป็นที่นิยมสูงในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งทางสถาบันได้เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพการแพทย์และตลาดแรงงานโลก พร้อมกันนี้ ยังได้ออกแบบนวัตกรรมล้ำสมัยสะท้านวงการแพทย์ไทย นำโดยอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้วยการออกแบบคลื่นไมโครเวฟรักษาโรคมะเร็งตับ เพื่อลดผลข้างเคียงและเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงได้ หากประเทศไทยมีนวัตกรรมดีๆเช่นนี้ในรูปแบบต่างๆ ที่มุ่งเน้นการสรรสร้างนวัตกรรมเพื่อคนไทย คงจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นนำแห่งวงการการแพทย์อย่างแน่นอน
ลักษณะการทำลายเซลล์มะเร็งในตับด้วย คลื่นความถี่วิทยุและไมโครเวฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น