ผ่านมา 1 ปีเต็ม กับเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ จนเป็นเหตุให้สารรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะรั่วไหล ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพทิ้งถิ่นที่อยู่ แม้ว่าปริมาณรังสีในชั้นบรรยากาศและน้ำทะเลยังคงอยู่ แต่ยังไม่ส่งผลระยะใกล้ เท่ากับ “ความเครียด” ที่ต้องเผชิญ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงถึง 8.9 ริกเตอร์ และสึนามิสูงกว่า 10 เมตร เข้าทำลายบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และที่ชายฝั่งของเมืองฟูกูชิมะ มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง ที่ตั้งอยู่ห่างกัน 11 กม. คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukushima Daiichi) และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดนิ (Fukushima Daini) ได้รับความเสียหาย
แม้โรงไฟฟ้าทั้ง 2 จะปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ระบบอัตโนมัติได้หยุดการทำงานของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทันที แต่สึนามิที่ตามมา กลับได้สร้างความเสียหายแก่ระบบหล่อเย็น รวมถึงระบบปั่นไฟสำรอง ซึ่งจะปั๊มน้ำเข้าหล่อแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ร้อนจัด จนทำให้เกิดไอน้ำสะสม และกลายเป็นแรงดันระเบิดอาคารคลุมเตาปฏิกรณ์ ส่งผลให้อนุภาคสารรังสีพวยพุ่งออกมา
อีกทั้ง บริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ (Tokyo Electric Power Company : Tepco) ได้ใช้น้ำทะเลเพื่อหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ ทำให้มีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ถูกปล่อยลงทะเล ซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนของสารรังสีในเนื้อ ข้าว และปลา รวมถึงดินในบางพื้นที่ด้วย
บริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้า 20 กม. กลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม ประชาชนกว่า 80,000 คน ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย และถึงตอนนี้บางพื้นที่ยังมีระดับรังสีสูงเกินที่จะอนุญาตให้ประชาชนกลับบ้านได้ อีกทั้งคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้เวลามากถึง 40 ปี เพื่อรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เสียหายนี้
1 ปีให้หลัง ผู้ที่อาศัยใกล้ๆ กับบริเวณ “ห้ามเข้า” ต่างเริ่มกลับมาที่บ้านและฟาร์มของตัวเอง ขณะที่รัศมี 20 กม.รอบโรงไฟฟ้า ยังคงเป็นพื้นที่ต้องห้าม ซึ่งนับเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดฟูกูชิมะ
รังสีฟูกูชิมะ ยังไม่เห็นอันตราย
ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ ระบุว่า ปริมาณรังสีที่โรงงานฟูกูชิมะปล่อยสู่อากาศนั้น มีแค่เพียง 10% ของปริมาณที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เมื่อปี 1986
แต่พวกเขาก็ยังเตือนถึงผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ที่ยังไม่สามารถประเมินได้อีกมาก ทั้งแก่คนงานและผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
ทั้งนี้ บริเวณจังหวัดฟูกูชิมะและพื้นที่ใกล้เคียง (นอกเขตอพยพ) ตรวจพบปริมาณรังสีเฉลี่ยต่อปี 20 มิลลิซีเวิร์ต (mSv : millisieverts) และในบางจุดสูงถึง 50 ตามข้อมูลจากสำนักข่าวเอพี ซึ่ง 50mSv เท่ากับปริมาณรังสีสูงสุดที่อนุญาตให้รับได้ สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับรังสี
อีกทั้งตั้งแต่เกิดเหตุจนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่า จำนวนคนงานเสียชีวิตจากการรับรังสี ในขณะที่พยายามจะปกป้องแกนปฏิกรณ์ไม่ให้เกิดการหลอมละลาย หลังระบบไฟฟ้าของโรงงานหยุดชะงักไป
ต่ำกว่าที่น่าเป็นห่วง แต่ใช่ว่าไม่เสี่ยง
เลวิส เปปเปอร์ แพทย์ทางด้านสุขภาพจากการทำงาน ควีนคอลเลจ นิวยอร์ก (Queens College of New York) สหรัฐฯ ย้ำว่า ถ้าได้รับปริมาณรังสีในระดับที่ต่ำกว่า 100mSv ก็ยังถือว่าน้อยมาก แต่กระนั้นผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถระบุได้ว่า ถ้าได้รับเกินเท่าใดกันแน่ ที่จะเป็นอันตราย ทั้งความเชื่อมโยงกับมะเร็ง ก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ความเสี่ยงของคนงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ย่อมมีมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่รอบๆ แน่นอน
“ยังไม่มีระดับความปลอดภัยจริงๆ” เปปเปอร์เผย โดยเขาใช้เวลากว่า 25 ปีศึกษาคนงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สหรัฐฯ ซึ่งโมเดลที่ระบุถึงความเสี่ยงจากรังสีและการเกิดมะเร็งนั้น ยังไม่มีการระบุว่า ต้องได้รับไม่เกินที่ระดับใดกันแน่ จึงจะเรียกได้เต็มปากว่าไม่เสี่ยง
จากเหตุการณ์ในญี่ปุ่น รังสีไอโอดีน-131 ที่ถูกปลดปล่อยจากโรงงานนั้น แม้ว่าครึ่งชีวิตคือเพียงแค่ 8 วันก็ตาม แต่การพุ่งออกมาอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมากจึงอาจจะเกิดอันตรายได้ ขณะที่ซีเซียม-137 อันเป็นผลจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ที่ถูกปล่อยออกมาก็มีครึ่งชีวิต 30 ปี และยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน
“สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่รอบๆ นับว่ายังคงมีความเสี่ยงสูงจากอาหารที่เปรอะเปื้อนรังสี ทั้งพืชผักหรือสัตว์ดูดซับรังสีเข้าไป และมนุษยก็บริโภคพืชและสัตว์เหล่านั้นเข้าไปอีกต่อ” เปปเปอร์กล่าว โดยซีเซียมเข้าไปสะสมในกระดูก และนำไปสู่การก่อตัวของโรคลูคีเมีย หรือมะเร็งกระดูกตามมาได้
ผู้สูงอายุล้มตาย เพราะความเครียด
แม้โรคมะเร็งอันเป็นผลโดยตรงจากรังสี จะยังไม่ปรากฏตามมาเร็วๆ นี้ แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือความเครียดที่เกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ แม้ว่าจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แต่ถ้ายังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ย่อมเกิดความวิตกกังวลตามมา
“พวกเขากังวลว่า ได้รับสารพิษ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองต่อไป” เปปเปอร์กล่าว
ทางด้าน โวล์ฟกัง ไวซ์ (Wolfgang Weiss) ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ ด้านผลกระทบของรังสีปรมาณู แห่งสหประชาชาติ (U.N. Scientific Committee on the Effects of Atomic Radiation) ซึ่งกำลังศึกษากรณีฟูกูชิมะ ก็เผยถึงความกังวลของผู้ประสบเหตุเช่นกัน
“ผู้คนต่างกลัวว่าจะตาย ประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น ต่างกำลังเป็นกังวล และขอให้พวกเราบอกว่า สถานการณ์ดีแล้ว หรือยังคงเลวร้าย ซึ่งทางคณะก็ไม่สามารถระบุได้” ไวซ์กล่าวผ่านเอพี พร้อมชี้ว่า ชีวิตคือความเสี่ยงภัย
ทั้งนี้ สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นได้ระบุข้อมูลจากทางการสาธารณสุขของประเทศว่า ถึงเมื่อต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนราว 1,331 คน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ) ได้เสียชีวิตจากภาวะที่เกี่ยวเนื่องจากความเครียด เช่น โรคหัวใจ หรือ ปอดอักเสบ หลังต้องอาศัยอยู่ในที่พักลี้ภัยแคบๆ รวมกัน
ไซอิจิ ยาซูมูระ (Seiji Yasumura) แพทย์ด้านผู้สูงอายุ คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแพทย์ฟูกูชิมะ (Fukushima Medical University's Department of Public Health) ตั้งข้อสังเกตว่า ความเครียดเกิดจากการเปลี่ยนที่พัก และความวิตกต่อสารพิษที่ร่างกายได้รับ มีผลโดยตรงต่อโรคภัยต่างๆ
“แม้ว่าปริมาณรังสีอยู่ในระดับต่ำ แต่ผู้คนก็ยังกังวล และนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทั้งการเลือกรับประทานอาหาร ขาดการออกกำลังกาย และนอนไม่หลับ” ยาซูมูระอธิบาย อีกทั้งผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่สูญเสียคู่ชีวิต หรือหมดทั้งครอบครัว
ถึงรัฐบาลจะสร้างบ้านพักให้แก่ผู้สูงอายุที่ไร้ครอบครัว แต่ก็ไม่สามารถซื้อครอบครัวกลับมาให้พวกเขาได้ ซึ่งต้องเยียวยาและดูแลสภาพจิตใจ แก่ผู้ที่สูญเสียมากเป็นพิเศษกว่าสภาพร่างกาย.