xs
xsm
sm
md
lg

ดักฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตนวัตกรรมลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต
“คุณคิดว่าหมอกควันที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่อันตรายกว่ากัน?” คำถามชวนคิดจากทีมวิจัยและพัมนาระบบกำจัดฝุ่นควันจากเตาขยะ ซึ่งอย่างที่เราทราบเป็นประจำว่าในช่วงหน้าแล้งทางภาคเหนือมักจะมีปัญหาเรื่องหมอก โดยปัญหาหลักๆ เกิดการเผาพื้นที่และจากประเทศเพื่อนบ้าน

"คุณอาจคิดว่าหมอกควันที่กรุงเทพฯ อันตรายกว่า แต่จริงๆ หมอกควันที่เชียงใหม่น่ากลัวกว่า เพราะสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบ ทำให้หมอกควันไม่ได้ไหน แต่กรุงเทพฯ อยู่ใกล้ทะเล มีลมที่ช่วยหอบพัดหมอกควันออกไปได้” อาทิตย์ ยาวุฑฒิ สมาชิกทีมวิจัยและพัฒนาระบบกำจัดฝุ่นควันจากเตาขยะชุมชน และอาจารย์จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ กล่าวกับข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทั้งนี้ อาทิตย์ และ ดร.พานิช อินต๊ะ จากวิทยาลัยเดียวกัน พร้อมคณะได้ร่วมกันพัฒนาระบบจำกัดฝุ่นควันจากเตาเผาขยะชุมชนขนาดไม่เกิน 1 ตันต่อวัน ซึ่งการกำจัดฝุ่นของระบบดังกล่าวอาศัยเทคนิคทางไฟฟ้าสถิต โดยติดตั้งระบบที่ปล่องเตาเผาขยะ ซึ่งระบบที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรีนี้จะสร้างสนามไฟฟ้า เพื่อให้อนุภาคฝุ่นที่เกิดจากการเผาและถูกอัดประจุไฟฟ้านั้นตกตะกอนบนแผ่นตกตะกอน

ด้วยความร่วมมือในการกำจัดขยะระหว่างสำนักงานพํฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภาคเหนือ หรือ สวทช.ภาคเหนือ และองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้มีการทดลองติดตั้งระบบดังกล่าวที่เตาเผาขยะชุมชนและพบว่าสามารถกำจัดฝุ่นได้ 80% ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพในทางทฤษฎีที่ระบุว่าเทคนิคนี้สามารถกำจัดฝุ่นได้ 99%

นอกจากทำระบบจำกัดฝุ่นแล้วทาง ดร.พานิชยังได้พัฒนาเครื่องวิเคราะห์และเก็บตัวอย่างฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน หรือเรียกว่า พีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) โดยมองเห็นปัญหาว่าฝุ่นขนาดอนุภาคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพและทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากโรคทางการหายใจ จึงได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีพัฒนาเครื่องวิเคราะห์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งอุปกร์ณที่ใช้เป็นวัสดุที่มีอยู่ในประเทศ

เครื่องที่พัฒนาขึ้นมานี้จะคัดกรองให้อนุภาคที่มีไม่เกิน 2.5 ไมครอนเข้าระบบ จากนั้นอนุภาคหรือฝุ่นละอองจะเข้าสู่ชุดให้ประจุไฟฟ้า เพื่อใส่ประจุไฟฟ้าแก่ฝุ่นละออง จากนั้นส่งเข้าสู่ชุดดักจับไออนอิสระ จากนั้นส่งเข้าถ้วยฟาราเดย์ละวงจรอิเล็กโทรมิเตอร์เพื่อวัดกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของฝุ่นละอองที่มีประจุ สัญญาณกระแสไฟฟ้าจะถูกบันทึกและประมวลผลเพื่อแสดงค่าความเข้มข้นของฝุ่น

แม้ระบบกำจัดฝุ่นและเครื่องวิเคราะห์ฝุ่นอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยการมีส่วนร่วมในการช่วยลดและแก้ปัญหาก็ช่วยบรรเทาวิกฤตให้ลดน้อยลงได้ และเป็นอีกความพยายามในการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน
อาทิตย์ (ซ้าย) และ ดร.พานิช สมาชิกทีมพัฒนาเครื่องดักจับฝุ่นจากเตาเผาขยะชุมชน
ดร.พานิช อธิบายการทำงานของเครื่องวิเคระห์และเก็บตัอย่างอนุภาคฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน แก่ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น