ปฏิบัติการยานแฝด “เกรล” ของนาซ่าส่งประเดิมส่งคลิปแรก “ด้านมืดของดวงจันทร์” เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของกล้องบนยาน ซึ่งเป็นกล้องที่นักเรียนมัธยมทั่วสหรัฐฯ จะใช้เพื่อบันทึกภาพดวงจันทร์ไปศึกษา
คลิปแรกจากปฏิบัติงานยานแฝดเกรล (GRAIL: Gravity Recovery And Interior Laboratory) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) นี้ บันทึกจากกล้อง “มูนแกม” (MoonKAM: Knowledge Acquired by Middle school students) ที่ติดตั้งอยู่บนหนึ่งในยานแฝด โดยเผยให้เห็นบรรยากาศอีกด้านของดวงจันทร์ที่ไม่ได้หันมายังโลก
ทั้งนี้ ปฏิบัติการยานแฝดเกรลมียานอวกาศ 2 ลำที่เพิ่งได้รับการตั้งชื่อว่า “เอบบ์” (Ebb) และ “โฟล์ว” (Flow) ซึ่งยานแต่ละลำติดตั้งกล้องมูนแกมกล้องที่นักเรียนมัธยมทั่วสหรัฐฯ จะใช้บันทึกภาพดวงจันทร์เพื่อนำไปศึกษา
นาซาระบุว่าภาพที่บันทึกในคลิปล่าสุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบกล้องมุนแกมที่ติดตั้งบนยานเอบบ์ โดยมีการบันทึกภาพตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.55 และปฏิบัติการเกรลนี้ก็มีแผนที่จะทดสอบกล้องมูนแกมบนยานโฟล์วต่อไปด้วย
จากวิดีโอนี้ เราจะเห็นขั้วเหนือของดวงจันทร์ที่ด้านบนสุดของฉาก ซึ่งเป็นภาพขณะที่ยานบินสู่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยดวงจันทร์ด้านนี้ค่อนข้างขรุขระซึ่งเป็นผลจากการพุ่งชนของอุกกาบาตเมื่อครั้งดวงจันทร์เพิ่งเริ่มก่อตัว
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นบนดวงจันทร์ที่เห็นได้จากคลิปนี้คือแอ่งทะเลตะวันออก (Mare Orientale) ซึ่งเป็นหลุมใหญ่กว้าง 900 กิโลเมตร ครอบคลุมดวงจันทร์ด้านสว่างที่เห็นจากบนโลกด้วย (ในคลิปคือหลุมขนาดใหญ่ทางด้านขวา) คลิปนี้สิ้นสุดที่พื้นผิวอันขรุขระของขั้วใต้ดวงจันทร์
“คุณภาพของวิดีโอนี้ยอดเยี่ยมมากและจะกระตุ้นนักเรียนในโครงการมูนแกมของเราให้พวกเขาได้เตรียมตัวเพื่อสำรวจดวงจันทร์” มาเรีย ซูเบอร์ (Maria Zuber) นักวิทยาศาสตร์สังเกตการณ์ในปฏิบัติการเกรล จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ในเคมบริดจ์ สหรัฐฯ กล่าว
ทั้งนี้ยานแฝดที่เดิมมีชื่อว่า เกรล-เอ (GRAIL-A) และ เกรล-บี (GRAIL-B) เข้าสุ่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อวันสิ้นปีและวันปีใหม่ที่ผ่านมา โดยยานอวกาศขนาดเท่าเครื่องซักผ้านี้ได้รับชื่อใหม่จากการประกวดตั้งชื่อสำหรับนักเรียนมัธยมสหรัฐฯ ที่ผ่านมา โดยผู้ตั้งชื่อให้แก่ยานทั้งสองเป็นนักเรียนชั้น ป.4 จากโรงเรียนประถมเอมิลีดิคกินสัน (Emily Dickinson Elementary School)
ทั้งนี้ นักเรียนของสหรัฐฯ หลายพันคนนระดับชั้นเทียบเท่า ป.4- ม.2 จะเล็งเป้าหมายบนดวงจันทร์ และส่งคำขอไปยังศูนย์ควบคุมการดำเนินงานกล้องมูนแกมของปฏิบัติการเกรล ซึ่งตั้งอยู่ที่ซานดิเอโก จากนั้นภาพของเป้าหมายที่ต้องการจะถูกส่งกลับไปยังดาวเทียมเพื่อให้เด็กๆ นำไปศึกษาต่อไป
ชมคลิปแรกจากปฏิบัติการเกรล เพื่อทดสอบการทำงานของกล้องมูนแกม