xs
xsm
sm
md
lg

50 ปี "ศูนย์อวกาศเคนเนดี” เตรียมผันจากส่วนตัวนาซา สู่ท่าอวกาศสาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพมุมสูงของศูนย์อวกาศเคนเนดีประตูสู่อวกาศของสหรัฐฯ จุดกลางภาพคืออาคารประกอบยานสีขาว มีถนนเชื่อมสู่ฐานปล่อยยานทั้ง 2 ที่ติดกับชายฝั่งมหาสมุทร บนแหลมคานาเวรัล มลรัฐฟลอริดา (NASA)
โบกมือลา “ยุคกระสวยอวกาศ” กันไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว (2011) ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี ที่ยังไม่ได้ปิดตัวตามไปด้วย ทว่าในวัย 50 ปีของศูนย์อวกาศแห่งนี้ “นาซา” เตรียมฉลองด้วยการปรับโฉมใหม่ให้เป็น “ท่าอวกาศยานสาธารณะ”

ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน ประวัติศาสตร์แห่งการคมนาคมทางอวกาศของชาติสหรัฐฯ ก่อกำเนิดขึ้นที่นี่ “ศูนย์อวกาศเคนเนดี” (KSC : The John F. Kennedy Space Center)

เปิดประตูสู่อวกาศอย่างมั่นใจ

เดือนกุมภาพันธ์ 1962 “จอห์น เกลนน์” (John Glenn) กลายเป็นอเมริกันชนคนแรกที่ได้โคจรรอบโลกเป็นผลสำเร็จ เกลนน์นำแคปซูลฟรีดอม 7 (Freedom 7) บินวนรอบโลก 3 รอบ และนำเครื่องลงจอดในมหาสมุทรแอตแลนติกได้อย่างสวยงามตามแผน

อีก 3 เดือนถัดมา จรวดมอร์คิวรี-แอตลาส (Mercury-Atlas) ลำที่เคยนำพาเกลนน์ออกนอกโลก ก็พาออโรรา 7 (Aurora 7) ที่มีสก็อตต์ คาร์เพนเทอร์ (Scott Carpenter) อยู่ในนั้น ปฏิบัติภารกิจและประสบความสำเร็จเหมือนเกล็นน์ได้ดีอย่างไม่ผิดเพี้ยน

การทำแบบเดิมซ้ำได้อย่างไม่ผิดพลาด เท่ากับตอกย้ำความสำเร็จของสหรัฐฯ ทำให้มั่นใจในความสามารถและความเป็นไปได้ต่ออนาคตการสำรวจอวกาศ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดกับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น

ความคิดในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบินอวกาศ ก็เกิดขึ้น และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามประธานาธิบดี “จอห์น เอฟ เคนเนดี” เพื่อเป็นเกียรติที่มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งหน้านำพาชาติแห่งพญาอินทรีสู่ดวงจันทร์ได้ล้ำหน้าใคร และมีชัยในศึกการสำรวจอวกาศ

จากนั้นศูนย์อวกาศเคนเนดีกลายเป็นประตูสู่อวกาศหลักของสหรัฐฯ ทั้งการขนส่ง ลูกเรือ อุปกรณ์สำรวจต่างๆ ตั้งแต่ยุคโปรเจเมอร์คิวรี (Project Mercury) ซึ่งเป็นการนำร่องส่งมนุษย์สู่อวกาศโครงการแรกของสหรัฐฯ, การติดตั้งสถานีอวกาศนานาชาติ, การนำส่งกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล, การส่งยานสำรวจดาวอังคาร จนกระทั่งโครงการกระสวยอวกาศกว่า 30 ปีที่เพิ่งปิดตัวลงไปเมื่อปีกลาย

ทว่า 50 ปีหลังจากนี้ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) มองแล้วว่า เคเอสซีจะต้องก้าวล้ำนำสมัยกว่าที่เคยเป็นอยู่ ด้วยปฏิบัติการปรับโฉม เพื่อรองรับยานอวกาศรุ่นใหม่ (ที่กลับไปใช้รูปแบบเดียวกับอะพอลโล) และยังจะต้องมีแนวคิดใหม่สำหรับท่าอวกาศยานในอนาคต

ท่าอวกาศยานทั้งรัฐบาลและเอกชน

แน่นอนว่า ศตวรรษที่ 21 เอกชนหลายแห่งก็พร้อมที่จะบินไปนอกโลก ดังนั้นหากเคเอสซีจะรองรับแค่การขนส่งยานของรัฐบาลก็คงจะแบกภาระด้านงบประมาณหนักเกินไป เมื่อหมดยุคกระสวยอวกาศ และในโอกาสครบวาระ 50 ปีของศูนย์อวกาศแห่งนี้ นาซาจึงมองโอกาสการปรับท่าอวกาศยานแห่งนี้ ให้รองรับการบินอวกาศในเชิงพาณิชย์ด้วย

“ในวันนั้นศูนย์อวกาศเคนเนดีจะเป็นเหมือนสนามบิน ที่มีทั้งยานอวกาศของนาซา และบริษัทเอกชนต่างๆ มาใช้บริการขึ้นลง” เจ เอเดลมันน์ (J. Edelmann) ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการท่าอวกาศยานเคเอสซี สรุปแนวคิดปรับปรุงศูนย์อวกาศแห่งนี้ในอนาคต

แผนการปรับปรุงศูนย์อวกาศเคนเนดีในตอนนี้คือการเปลี่ยนให้เป็น “ศูนย์การบินอวกาศแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century launch complex) เพื่อดึงดูดการบินเชิงพาณิชย์ หลังจากถูกรัฐบาลจับจองด้วยโครงการเดียวมากว่า 30 ปี

แผนแม่บทในการนำเคเอสซีไปสู่ท่าอวกาศยานนั้นจะสำเร็จในปี 2013 และจะมองยาวไปถึงปี 2030 ที่ตัวศูนย์อวกาศเองจะต้องปรับตัวให้ทันความต้องการของตลาด ที่ในช่วงนั้นการบินอวกาศเชิงพาณิชย์จะเฟื่องฟู ทว่าก็ยังคงกันพื้นที่ไว้ให้กับภารกิจการสำรวจอวกาศของนาซาอยู่

“เราแค่ต้องการสร้างความมั่นใจว่า พวกเราได้เตรียมพร้อมที่จะก้าวทันความเปลี่ยนแปลงต่อตลาดและความต้องการในช่วงนั้น” ผู้จัดการฝ่ายวางแผนเคเอสซีกล่าว

ด้วยพื้นที่ของศูนย์อวกาศ ที่มีความโดดเด่นในเชิงภูมิศาสตร์ และโครงสร้างอาคารที่พร้อมดำเนินการบินอยู่แล้ว ทำให้มีองค์กรเอกชนให้ความสนใจหลายแห่ง

อย่างโบอิง (Boeing Co.) ก็ได้จับมือกับสเปซฟลอริดา (Space Florida) องค์กรการบินอวกาศของมลรัฐฟลอริดา เพื่อที่จะลงทุนใช้พื้นที่ของศูนย์อวกาศเคนเนดี พัฒนาหน่วยทดลองที่ทันสมัย พร้อมเทคโนโลยี นำส่งยานอวกาศขนส่งลูกเรือ สนับสนุนให้นาซาขนส่งอวกาศในเชิงพาณิชย์

ปรับของเก่าให้ล้ำสมัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ถ้าจะต้องปรับเป็นท่าอวกาศยาน ที่ดึงดูดเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน นาซาก็ต้องปรับโครงสร้างเก่าๆ ให้ทันสมัย โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ที่เตรียมงบลงทุนไว้ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐออกแบบใหม่ภายในส่วนโรงงาน (KSC Industrial Area) ให้เป็นกลุ่มอาคารขนาดยักษ์ที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

ขณะที่อาคารสำนักงานใหญ่อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของศูนย์อวกาศแห่งนี้ ซึ่งมีสำนักงานฝ่ายอำนวยการต่างๆ และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ก็จะถูกปรับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมกันใหม่ ที่ทันสมัยและใส่ใจต่อสภาพแวดล้อม

“คุณกำลังพูดถึงสิ่งปลูกสร้างเมื่อ 50 ปีก่อน และมันกำลังเก่าแก่ลงเรื่อยๆ แต่เรากำลังมองไปที่ 50 ปีข้างหน้า” อัลลาร์ด บูเทล (Allard Beutel) โฆษกเคเอสซีนำเสนอแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงเพื่อการทำงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในอาคารที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยของเหล่าวิศวกรและบุคลากรที่ทำงานในศูนย์อวกาศ

นอกจากนี้นาซายังวางแผนลดพื้นที่ใช้สอยจากปัจจุบัน 900,000 ตารางฟุตเหลือเพียครึ่งเดียวคือ 450,000 ตารางฟุต และจะสร้างพื้นที่สีเขียว 35% นับได้ว่าเป็นแนวคิดด้านการอนุรักษ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าใดนัก

หลังจากปรับปรุงโครงสร้างของศูนย์อวกาศอายุ 50 ปีแห่งนี้แล้ว นาซายุคหลังกระสวยอวกาศนี้ ได้เตรียมเชิญชวนเอกชนที่มีศัdยภาพทางอวกาศร่วมลงทุนสร้างยานอวกาศเชิงพาณิชย์ เพื่อขนส่งประชาชนไป-กลับสถานีอวกาศนานาชาติ หรือวงโคจรต่ำ และพร้อมใช้สถานที่แห่งนี้ให้รองรับยานอวกาศได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น.
ประธานาธิบดีเคนเนดีกำลังส่องดูด้านในแคปซูลพร้อมกับจอห์น เกลนน์ที่จะเดินทางไปกับยานลำนี้ เมื่อเดือน ก.พ. 1962 (NASA)
อพอลโล 11 นำพาก้าวแรกของมวลมนุษยชาติสู่ดวงจันทร์ ทะยานจาก KSC เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 1969 (NASA)
ผู้จัดการฐานปล่อยยานกำลังอธิบายการปรับฐานหลังหมดยุคกระสวยอวกาศ ที่บริเวณฐานปล่อยยาน 39B (NASA/Jim Grossmann)
ภาพจำลองลักษณะฐานปล่อยยานในยุคนำจรวดแคปซูลกลับมาใช้ และจะนำไปสู่ท่าอวกาศยานแห่งศตวรรษที่ 21 (NASA)
กำลังโหลดความคิดเห็น