นักวิทยาศาสตร์ส่องกล้องโทรทรรศน์จากทะเลทรายในชิลีพบกลุ่มกาแลกซีขนาดใหญ่ที่สุดในจักรวาล มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 2 พันล้านล้านเท่า ในที่ไกลออกไป 7 พันล้านปีแสง ตั้งชื่อ “เอล กอร์โด” หรือ “เจ้าอ้วน” ในภาษาสเปน
ทั้งนี้ กลุ่มกาแลกซีคือโครงสร้างเสถียรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอกภพ ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่าทีมนักดาราศาสตร์ได้รายงานการค้นพบกลุ่มกาแลกซีที่มีขนาดใหญ่สุดในเอกภพภายในการประชุมของสมาคมดาราสาสตร์อเมริกัน ครั้งที่ 219 โดยกลุ่มกาแลกซีที่ถูกตั้งชื่อว่า “เอล กอร์โด” หรือ “เจ้าอ้วน” ในภาษาสเปนนั้นอยู่ไกลออกไป 7 พันล้านปีแสง และมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 2 พันล้านล้านเท่า (ดวงอาทิตย์มีมวลมากกว่าโลก 330,000 เท่า)
นักดาราศาสตร์กล่าวว่า เอล กอร์โดเป็นการรวมตัว (merger) ที่กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ โดยพวกเขาหวังที่จะเข้าใจได้ดีขึ้นว่า กลุ่มกาแลกซีต่างๆ นั้นก่อตัวขึ้นอย่างไร โตขึ้นได้อย่างไร และชนเข้ากับกลุ่มกาแลกซีอื่นได้อย่างไร โดยกลุ่มกาแลกซีให้ความเป็นที่สุดระดับจักรวาลจำนวนมาก โดยการรวมตัวคือหนึ่งในความเป็นที่สุดดังกล่าว และการรวมตัวของกลุ่มกาแลกซี เอล กอร์โด คือเหตุการณ์ที่ทรงพลังที่สุดในจักรวาล จากการที่สสารปริมาณมหาศาลและสสารมืดอันลึกลับเข้าปะทะกันด้วยความเร็วอันยิ่งยวด
การเติบโตของกลุ่มกาแลกซีและการรวมตัวนั้นได้รับแรงขับจากแรงโน้มถ่วง ซึ่งสสารทั่วไปที่เรารู้จักนั้นมีบทบาทในการดึงสิ่งต่างๆ ไว้ด้วยกัน ขณะที่สสารมืดอันลึกลับที่เป็นแรงขับให้เอกภพขยายตัวกลับมีบทบาทในการดึงให้สิ่งต่างๆ แยกออกจากกัน และการทำแผนที่กระบวนการเติบโตของกลุ่มกาแลกซี เป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจถึงผลที่แรงมืด (dark force) กระทำต่อกัน
กลุ่มกาแลกซีอ้วนใหญ่นี้ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์อาทาคามาคอสโมโลจี (Atacama Cosmology Telescope) บนภูเขาสูงในชิลี ทั้งนี้ กลุ่มกาแลกซีทั้งหลายคล้ายๆ กับเอลกอร์โดนี้จะปลดปล่อยอนุภาคที่มีพลังงานมหาศาลออกมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อรังสีพื้นหลังซีเอ็มบี (cosmic microwave background: CMB) ซึ่งเป็นรังสีจางๆ ฟุ้งทั่วเอกภพที่หลงเหลือหลังระเบิดบิกแบง (Big Bang)
ทางด้าน ศ.แจ็ค ฮิวจ์ส (Jack Hughes) จากมหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส (Rutgers University) ในนิวเจอร์ซี สหรัฐฯ กล่าวว่า เรามองเห็นกลุ่มกาแล็กซีเอล กอร์โดอยู่ในตำแหน่งไกลออกไปประมาณ 7 พันล้านปีแสง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่บ่งถึงช่วงเวลาที่เอกภพมีอายุน้อยกว่าปัจจุบันประมาณครึ่งหนึ่ง และเป็นช่วงเวลาที่โครงสร้างของกลุ่มกาแลกซีกำลังก่อตัวในอัตราที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เมื่อเราเข้าใจคุณสมบัติของเอลกอร์โด เราก็สามารถทำความเข้าใจวิวิวัฒนาการในช่วงเวลาของการ ก่อโครงสร้างของเอกภพได้
เมื่อเทียบกับกลุ่มกาแลกซีที่อยู่ในระยะทางพอๆ กัน เอลกอร์โดมีขนาดใหญ่กว่า 2 เท่า และภาพที่เราเห็นคือภาพขณะที่กลุ่มกาแลกซีขนาดใหญ่นี้มีอายุครึ่งชีวิตแล้ว โดยใช้กลุ่มกาแลกซีที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อช่วยหาอายุของกลุ่มกาแลกซียักษ์นี้
“เอลกอร์โดกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถหาว่ามวลของมันจะเป็นเท่าไร แต่โชคไม่ดีที่แบบจำลองยังคลุมเครือ แต่มันก็เป็นกลุ่มกาแลกซีที่มีมวลมากที่สุดที่เรารู้จัก” ศ.ฮิวจ์สกล่าว