xs
xsm
sm
md
lg

ภาษา: ปริศนาและการอารักษ์

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

อักษร Hieratic ที่แกะสลักบนหินปูน
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงกำเนิดของเอกภพว่า หลังจากที่พระเจ้าทรงสร้างโลกแล้ว พระองค์ทรงสร้างสัตว์และพืช แล้วสร้างมนุษย์ ในเวลาต่อมาพระองค์ทรงไม่พอพระทัยในจิตใจ นิสัยและพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์จึงทรงลงทัณฑ์มนุษย์สามครั้ง ในครั้งแรกทรงขับไล่ Adam กับ Eve ออกจากสวนสวรรค์ Eden หลังจากที่คนทั้งสองได้แอบบริโภคผลไม้ต้องห้าม ครั้นเมื่อลูกหลานของ Adam กับ Eve ได้กระทำบาปกรรมมากมาย พระเจ้าจึงทรงตัดสินพระทัยทำลายล้างมนุษยชาติเป็นการลงโทษครั้งที่สอง โดยทรงบัญชาให้ Noah สร้างเรือบรรทุกครอบครัวและสัตว์ผู้-เมียทุกชนิด แล้วทรงบันดาลให้ฝนตกหนักจนน้ำท่วมโลก และเมื่อน้ำลดจนหมด พระเจ้าทรงประทานสัญญาแก่ Noah ว่าจะไม่ผลาญชีวิตมนุษย์อีก แต่พระองค์มิได้ทรงรักษาคำมั่นสัญญา เพราะเมื่อเก้าปีก่อนคริสตกาลซึ่งเป็นเวลาที่อาณาจักรสุเมเรียนกำลังเจริญรุ่งเรืองสุดขีด ชาวสุเมเรียนได้อพยพจากถิ่นอาศัยบริเวณแถบเทือกเขาสู่บริเวณที่ราบลุ่ม และเมื่อมวลชนประสงค์จะเข้าเฝ้าพระเจ้าที่ตนนับถือ จึงได้ตกลงใจสร้างหอคอยเทียมฟ้า ความทะเยอทะยานเช่นนี้ทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย จึงทรงบันดาลให้มนุษย์พูดคนละภาษากัน เมื่อไม่มีภาษาร่วมกัน โครงการสร้างหอคอยแห่งเมือง Babel จึงต้องล้มเลิก (Babel ในภาษาฮิบรูแปลว่า ทำให้สับสน) จากนั้นเมื่อมนุษย์หมดความสามารถในการสื่อสาร มนุษย์ก็ได้กระจัดกระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของโลกโดยต่างมีภาษาของตนเอง

นี่คือตำนานเรื่องการถือกำเนิดภาษา ตำนานนี้ได้ชักนำให้จิตรกรชาวเนเธอร์แลนด์ ชื่อ พีเทอร์ บรูเกล (Pieter Bruegel) วาดภาพ The Tower of Babel ในปี 1563 (รัชสมัยพระมหาจักรพรรดิ) ภาพวาดขนาด 1.14 x 1.55 เมตร ขณะนี้อยู่ที่ Kunsthislorisches Museum ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

ส่วนหอคอย Babel ที่กษัตริย์ Nimrod ทรงโปรดให้สร้างขึ้นนั้นยังมีซากหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้ขุดพบเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เองว่ามีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ยาวด้านละ 91 เมตร อาคารเป็นหอคอยเจ็ดชั้น และชั้นที่อยู่สูง มีขนาดเล็กกว่าชั้นที่อยู่ต่ำกว่า นักประวัติศาสตร์ชื่อ Herodotus เคยปรารภว่าได้เห็นหอคอยนี้ก่อน ค.ศ.458 ปี แต่เมื่อจักรพรรดิ Alexander เสด็จถึงกรุง Babylon (ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของ Babel) ในอีก 130 ปีต่อมา หอคอยได้พังทลายไปจนเกือบหมดแล้ว

จะอย่างไรก็ตามจนกระทั่งวันนี้นักภาษาศาสตร์ก็ยังไม่รู้ชัดว่า มนุษย์เริ่มพูดและเขียนตั้งแต่เมื่อใด แต่ก็รู้ว่า ณ วันนี้ภาษาที่มนุษย์ใช้มีประมาณ 6,000 ภาษา และภาษาก็เช่นเดียวกับบรรดาสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลาย คือมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สูญพันธุ์หรือกลายพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บางครั้งเกิดขึ้นเร็วมาก โดยเฉพาะภาษาท้องถิ่นซึ่งกำลังสูญพันธุ์เร็ว สำหรับเหตุผลที่ทำให้เกิดการสูญเสียนี้ นักภาษาศาสตร์พบว่า เกิดจากการที่ผู้คนที่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นนั้นล้มตายเพราะความชรา หรือได้อพยพหลบภัยไปอาศัยในสถานที่อื่น จนทำให้ผู้คนที่เหลืออยู่ไม่สามารถธำรงรักษาภาษาท้องถิ่นของตนต่อไปได้ หรือผู้คนในชุมชนนั้น มีวัฒนธรรมที่อ่อนแอ จึงกันไปนิยมพูดภาษาต่างถิ่นแทน และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาตายคือ ชาติที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ได้บุกยึดครองชาติอื่นเข่นฆ่าคนพื้นเมือง และบังคับให้คนใต้ปกครองใช้ภาษาของตน เช่นอังกฤษและฝรั่งเศสที่ล่าอาณานิคมในเอเชีย แอฟริกา มักบังคับให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นใช้ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสในการสื่อสาร

แต่สำหรับประเทศโกตดิวัวร์ในแอฟริกา การสูญสลายทางภาษามีสาเหตุแตกต่างไป เพราะประเทศนี้มีชนหลายเผ่า ดังนั้นภาษาพูดจึงมีหลากหลาย และมีคนพูดภาษานั้นไม่เกิน 100 คน บางภาษามีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน ดังนั้นถ้าบรรดาลูกหลานเหลนของชนแต่ละเผ่าคิดว่าตนไม่สามารถใช้ภาษาท้องถิ่นของตนติดต่อกับโลกภายนอกได้ เขาก็จะไม่สนใจอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นของตนทันที หรือถ้าเขาดูถูกเหยียดหยามภาษาที่บิดามารดาตนพูดว่าเป็นภาษาเหน่อที่บอก “กำพืด” ว่าต่ำต้อย เขาจะไม่สอนลูกหลานให้พูดภาษานั้นอีกต่อไป เหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้ภาษาสูญพันธ์

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจถ้ารู้ว่าเมื่อ 1,000 ปีก่อนมนุษย์ใช้ภาษาประมาณ 15,000 ภาษา แต่บัดนี้มีภาษาพูดประมาณ 6,000 ภาษา โดย 1,000 ภาษาเป็นภาษาราชการ และอีก 5,000 ภาษาเป็นภาษาท้องถิ่นที่กำลังสูญพันธุ์ จนนักภาษาศาสตร์มีความกังวลว่า อีกไม่นานภาษาหลัก เช่นภาษาอังกฤษ จีน หรืออาหรับ จะค่อยๆ กลืนภาษาท้องถิ่นต่างๆ ไปจนหมด และนั่นก็หมายถึงการล่มสลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะภาษาของใครเป็นสิ่งที่คนเผ่านั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้บรรยายความรู้สึกและจินตนาการของเขา มันจึงเป็นผลผลิตทางความคิดและเป็นจิตสำนึกเฉพาะของคนในท้องถิ่นนั้นๆ การสูญเสียภาษาจึงเปรียบเสมือนการสูญพันธุ์รูปแบบหนึ่ง

J. Nichols แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ Berkeley เป็นนักภาษาศาสตร์ที่เชื่อว่าภาษาของชนชาติใดสามารถบอกประวัติความเป็นมาของชนชาตินั้นได้ โดยเขาได้วิเคราะห์เปรียบเทียบภาษาโบราณตระกูล Nakh กับตระกูล Daghestanian ซึ่งปัจจุบันปรากฏในภาษา Ingush, Batsbi และ Checken ที่ชาวรัสเซีย จอร์เจีย และอาเซอร์ไบจาน ยังใช้พูดกันอยู่ การศึกษาโครงสร้างไวยากรณ์ของภาษาปัจจุบันกับภาษาอดีต ทำให้ Nichols รู้ว่า ชนเผ่าที่พูดภาษา Ingush, Batsbi และ Checken ในปัจจุบัน ในอดีตเคยอาศัยอยู่ในเมโสโปเตเมีย และอีก 8,000 ปีต่อมา ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภูเขาคอเคซัส และยังอยู่ที่นั่นจนทุกวันนี้

งานวิจัยของ Nichols เมื่อสิบปีก่อนนี้ ได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่วงการวิชาการมาก เพราะเป็นงานวิจัยบุกเบิกที่สามารถบอกที่มาของภาษาได้ เพื่อหาคำตอบว่า เมื่อหนึ่งหมื่นปีก่อนนี้ ชนพื้นเมืองที่พูดภาษาทั้งสามมีวัฒนธรรมและอารยธรรมรูปแบบใด

ตามปกติเวลานักประวัติศาสตร์ต้องการรู้ประวัติความเป็นมาของชาติใด เขาจะต้องการหลักฐาน เช่น ศิลาจารึก โครงกระดูก วัตถุโบราณ หรือแม้กระทั่ง DNA ฉันใดก็ฉันนั้น เวลานักภาษาศาสตร์ต้องการจะรู้ที่มาของภาษา เขาก็ต้องศึกษาภาษาโบราณโดยการวิเคราะห์ การเปลี่ยนแปลงของภาษาพูด ภาษาเขียน และไวยากรณ์ที่ใช้ ดังนั้นการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นที่ใช้พูด และการรู้ภาษาที่ใช้ในอดีต จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่สามารถทำให้รู้ความเป็นมาของชาติได้ ในส่วนของภาษาไทยเพื่อรู้ว่าภาษาไทยถือกำเนิดเมื่อใด และเหตุใดบรรพบุรุษเราจึงคิดสร้างภาษาไทย และใช้เหตุผลอะไรในการออกเสียงกำกับกลุ่มตัวอักษร ฯลฯ เหล่านี้คือคำถามที่นักภาษาศาสตร์กำลังสนใจใคร่รู้คำตอบ เพราะถ้ามีคำตอบ เราก็จะเข้าใจและมีความรู้สึกเป็นไทยดีขึ้น

นักภาษาศาสตร์ปัจจุบันบางคนสนใจประเด็นที่ว่า ภาษาเขียนถือกำเนิดเมื่อใด และเหตุใด มนุษย์จึงสร้างภาษาเขียน

นักประวัติศาสตร์ด้านภาษาเคยเชื่อว่า เมื่อ 5,000 ปีก่อน นักบวชชาวสุเมเรียนแห่งเมือง Uruk ในอาณาจักรเมโสโปเตเมีย (ปัจจุบันคือ อิรัก ซีเรีย และอิหร่าน) ใช้ลำต้นอ้อแกะสลักอักษรลงบนดินเหนียว แล้วตากแผ่นดินเหนียวจนแห้ง ภาพแกะสลักที่เกิดขึ้นคือภาษาเขียนภาษาแรกของมนุษย์ และอักษรบนแผ่นดินเหนียวนั้นคือ อักษรลิ่ม (cuneiform) ที่ Pietro della Valle นักท่องเที่ยวชาวอิตาลีได้ขุดพบในวิหารแห่งหนึ่งที่อยู่ทางใต้ของเมือง Uruk และห่างออกไปประมาณ 200 กิโลเมตร เมื่อปี 1615

แต่การค้นคว้าทางโบราณคดีในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าชาวอียิปต์และชาวปากีสถานโบราณก็มีภาษาเขียนใช้มานานพอๆ กับชาวสุเมเรียน

นักภาษาศาสตร์รู้ดีว่า ความยากลำบากในการสืบค้นประวัติความเป็นมาของภาษาเขียนเกิดจากความขาดแคลนหลักฐานและความไม่แน่นอนของเทคนิคการวัดอายุ นอกจากอุปสรรคด้านกายภาพแล้ว อุปสรรคด้านจิตใจก็มีส่วนในการพยายามรู้อดีตของเรื่องด้วย เช่นผู้มีวัตถุวัฒนธรรมมักไม่ยินยอมหรือยินดีให้นักวิทยาศาสตร์นำวัตถุปริศนาไปวัดอายุ เพราะเกรงว่าวัตถุที่มีค่าควรเมืองเหล่านี้จะถูกทำลาย และนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ D.S. Schmidt-Bessert แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัสในสหรัฐอเมริกาได้พบวัตถุทรงกลมลูกหนึ่งที่ทำด้วยดินเหนียวซึ่งผิวมีลวดลายเรขาคณิตปรากฏการเห็นสัญลักษณ์และรูปต่างๆ ทำให้ Schmidt-Bessert คิดว่าชาวสุเมเรียนคงเขียนตัวอักษรลงบนทรงกลมที่ทำด้วยดินเหนียวก่อน แล้วจึงแกะสลักลวดลายเป็นอักษรลิ่มในภายหลัง การวัดอายุของก้อนดินเหนียวทรงกลมพบว่ามีอายุตั้งแต่ 4,000-9,000 ปี แต่ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ในอิรักไม่ยินยอมให้ Schmidt-Bessert นำลูกกลมไปวัดอายุและเจาะภายในเพื่อค้นหาอักษร (หากมี) ดังนั้น เขาจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าภาษาของชาวเมโสโปเตเมียกำเนิดเมื่อใด

ส่วนอาณาจักรอียิปต์โบราณ ถึงจะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอาณาจักรเมโสโปเตเมีย และอยู่ห่างประมาณ 1,000 กิโลเมตร แต่ก็เป็นไปได้ที่ชาวสุเมเรียนและชาวอียิปต์จะติดต่อค้าขายกัน ถึงกระนั้นนักประวัติศาสตร์ก็คิดว่าชาวอียิปต์คงรู้จักใช้อักษรภาพหลังชาวสุเมเรียนประมาณ 100 ปี แต่เมื่อ Gunther Dreyer แห่ง German Archaeological Institute ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เปิดหลุมฝังศพของฟาโรห์องค์หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่เมือง Abydos ในปี 1989 เขาได้เห็นงาช้าง กระดูกสัตว์ และภาชนะเครื่องปั้นดินเผา และเห็นผิวของวัสดุเหล่านี้มีอักษรภาพ ซึ่งทำให้เขารู้ว่ามันคือภาษาภาพที่ใช้รูปต้นอ้อแทนเสียง i รูปปากคนแทนเสียง r และรูปเรือแทนเสียง p และเมื่อนำภาพทั้งสามมาเรียงกันเป็นอักษร i r p ก็ได้คำที่มีความหมายว่า เหล้าองุ่น เป็นต้น

การวัดอายุของวัตถุโบราณทำให้ Dreyer รู้ว่า อักษรภาพที่พบมีอายุประมาณ 5,200 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับอายุของอักษรลิ่ม และเมื่อคณะนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Heidelberg ของเยอรมนี วัดอายุของวัตถุโบราณที่พบในเมือง Abydos โดยใช้เทคนิคคาร์บอน-14 ก็พบว่า อักษรภาพมีอายุประมาณ 5,320 ปี ในขณะที่อักษรลิ่มมีอายุประมาณ 5,450 ปี

เพราะเทคโนโลยีการวัดอายุทุกรูปแบบไม่แม่นยำ คือมีความคลาดเคลื่อน ดังนั้นความแตกต่างเพียง 130 ปี จากเวลาทั้งหมด 5,000 ปี จึงทำให้นักประวัติศาสตร์และนักภาษาศาสตร์ไม่สามารถฟันธงได้ว่า ชาวสุเมเรียนหรือชาวอียิปต์รู้จักประดิษฐ์อักษรเป็นภาษาเขียนขึ้นใช้เป็นชนชาติแรกของโลก

ส่วนในเอเชียก็มิได้น้อยหน้าในการคิดสร้างอักษร เพราะมีการขุดพบโบราณวัตถุในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus) ในปากีสถาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดินแดนแถบนี้เคยมีอารยธรรมสินธุ (Indus Civilization) ที่เคยรุ่งเรืองเมื่อ 5,000 ปีก่อน การวัดอายุของหลักฐานที่พบในเมือง Harappa แห่งแคว้นปัญจาบและ Mohenjo-daro ในแคว้น Sind โดย Daya Ram Sahni เมื่อ 90 ปีก่อน ทำให้โลกรู้ว่าอารยธรรม Harappan มีภาษาเขียนอายุ 5,400 ปี

ดังนั้นการขุดพบอักษรภาพทั้งในอียิปต์และปากีสถาน จึงทำให้เรารู้ว่า ความรู้เดิมที่ว่าชาวสุเมเรียนเป็นชนเผ่าแรกที่รู้จักใช้ภาษาเขียนนั้น อาจไม่ถูกต้องเพราะชาวอียิปต์และชาว Harappan ต่างก็รู้จักประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้ในเวลาไล่เลี่ยกัน

คำถามที่นักภาษาศาสตร์กำลังมุ่งหาคำตอบต่อไปคือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้มนุษย์รู้จักสร้างภาษาเขียน ความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือความศรัทธาทางศาสนาที่ผลักดันให้มนุษย์สร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ ทั้งนี้เพราะได้พบว่าเนื้อหาที่ภาษาโบราณเหล่านี้สื่อ มีทั้งคำสวดมนต์และข้อมูลการค้าขาย โดยอักษรภาพของอียิปต์มักบรรยายเรื่องพิธีกรรมทางศาสนา แต่อักษรลิ่มของชาวสุเมเรียนมักกล่าวถึงการค้าขายและบัญชีทรัพย์สิน

ในวารสาร History Today ฉบับเดือนสิงหาคม 2002 Andrew Robinson ได้กล่าวถึงความยากลำบากในการอ่านและเข้าใจความหมายของภาษาโบราณที่สาบสูญไปจากโลกเป็นเวลานาน เพราะนักภาษาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีมักสนใจใคร่รู้ว่า มนุษย์ที่ใช้ภาษาเขียนเหล่านั้นคือใคร และข้อมูลที่ถูกบันทึกมีความหมายอย่างไร ปริศนาภาษาจึงเป็นเรื่องที่ยากจะหาคำตอบ เพราะคนที่เขียนและพูดภาษานั้นๆ ได้ตายไปหมดแล้ว

แต่ในกรณีอักษรภาพบางครั้งก็สามารถอ่านได้ เช่นนักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Jean-François Champollion ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่อ่านภาษาโบราณได้ในปี 1827 โดยอาศัยศิลา Rosetta Stone ซึ่งมีแสดงการแปลอักษรภาพเป็นภาษากรีก และภาษาอียิปต์ (demotic) บนศิลาแผ่นเดียวกัน และ Champollion ได้พบว่าภาษาทั้งสามมีความหมายเดียวกัน เพราะภาษากรีกเป็นภาษาที่สามารถเข้าใจได้ดีที่สุดการรู้เช่นนี้ทำให้ Champollion สามารถอ่านอักษรภาพออกได้หมด
การอ่านภาษาของอารยธรรมที่สาบสูญออกจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและยากลำบากมากที่สุดแบบหนึ่ง เพราะความรู้ที่ได้จากการอ่านภาษาของชาวสุเมเรียน จะทำให้นักประวัติศาสตร์รู้ว่า กษัตริย์ Hammurabi แห่งอาณาจักรบาบิโลนเมื่อ 3,800 ปีก่อนทรงออกกฎหมายฉบับแรกของโลกบังคับให้ประชาชนของพระองค์ปฏิบัติตาม โดยอ้างว่าถ้าทุกคนปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายที่จารึกไว้บนแผ่นหิน basalt แล้วอาณาจักรจะเจริญรุ่งเรือง และประชาชนทุกคนจะมีความสุข

การถอดความหมายของอักษรภาพทำให้โลกรู้ว่า ชาวอียิปต์โบราณมีต้องการความเป็นอมตะ ดังนั้นจึงได้จารึกอักษรตามบริเวณหลุมฝังศพ และตามตัวมัมมี่ เป็นคำพูดของผู้ที่เสียชีวิต เสมือนจะให้ทุกคนยึดมั่นในคำสั่งสองของคนคนนั้นทั้งๆ ที่เขาได้ตายไปแล้ว

ความต้องการจะล่วงรู้อนาคตก็เป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งในการใช้ภาษาเขียนของชาวมายาการอ่านภาษาในจารึกทำให้รู้ว่า มีข้อความมากมายในภาษานี้ ที่ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะมีลักษณะเป็นข่าวทั่วไปที่พบในหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน

Rongo-rongo เป็นภาษาโบราณของผู้คนบนเกาะ Easter ที่ยังไม่มีใครอ่านออก คำ Rongo-rongo แปลว่า ท่องจำ เป็นคำที่ชาวเกาะ Easter เคยใช้ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน และไม่มีใครในโลกปัจจุบันอ่านภาษานี้ออก เพราะชาวเกาะ Easter ผู้รู้ความหมายของภาษาได้ตายจากและอพยพไปจากเกาะจนหมดสิ้นแล้ว

สำหรับภาษา Harappan นั้นก็ไม่มีใครรู้ความหมายเช่นกัน เพราะภาพที่ใช้ในภาษานี้เป็นภาพของแรด ช้าง เสือ และควาย แต่ไม่ปรากฏภาพของลิง นกยูง หรืองูเห่า ที่พบในอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือเลย ครั้นเมื่อนักภาษาศาสตร์พยายามอ่านและแปล รูปเหล่านี้ข้อความที่ได้ยังขัดแย้งกันมาก

เราต้องอนุรักษ์ภาษาของเราให้คงอยู่ตลอดไป เพื่อไม่ให้อนุชนรุ่นหลังอีก 3,000 ปีถามว่า อักษรไทยที่เราเขียนใช้กัน ณ วันนี้มีความหมายอย่างไร แต่ปริศนาภาษาไทยก็ยังคงมีอยู่ว่า รูปแบบของอักษรไทยก่อนศิลาจารึกมีลักษณะเช่นไร มีใครจะสืบค้นคำตอบนี้บ้าง
ภาษา cuneiform ของชาว sumerian อายุ 5,000 ปี
อักษรของภาษาฟินิเธียน (บน) ภาษากรีกยุคต้น (กลาง) ภาษากรีก (ล่าง)
หอคอย Babel
กำลังโหลดความคิดเห็น